ข่าวดีช่วงปลายปีสำหรับนักอ่านทุกคนกับงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27” ภายใต้คอนเซปต์ “BOOKTOPIA : มหานครนักอ่าน เพราะการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง” ซึ่งปีนี้มีความพิเศษตรงที่กลับมาจัด ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อีกครั้งหนึ่งหลังปิดปรับปรุงตั้งแต่เมษายน 2562 ที่ผ่านมา บรรยากาศภายในงานอบอวลไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่เหล่านักอ่าน นักเขียน และสำนักพิมพ์ได้กลับมาเจอกันหน้ากันอีกครั้งเหมือนกับได้กลับบ้านที่แสนอบอุ่นก็ว่าได้
ภายในงานมีสำนักพิมพ์มากมายรวมไปถึงจากนักเขียนอิสระที่มาออกบูธจำหน่ายสินค้าพร้อมกับแจกลายเซ็นให้กับแฟนๆ ที่มาเลือกซื้อหนังสือและสินค้า หนึ่งในบูธที่ขายดีมากๆ จนต้องใช้คำว่า “บูธแตก” คือบูธจำหน่ายหนังสือนิยาย Y ซึ่งมีสำนักพิมพ์มาร่วมออกบูธกันอย่างคึกคักมีสินค้านิยาย Y เล่มใหม่มาเปิดตัวภายในงานเป็นที่แรก และกิจกรรมให้แฟนๆ ได้ร่วมสนุกร่วมลุ้นของรางวัลพิเศษจากนักเขียนชื่อดัง
“บูธเราค่อนข้างจะยุ่งตั้งแต่ช่วงเปิดงานและอาจจะด้วยวันแรกก็ได้เพราะว่าเราเปิดปกใหม่ สิ่งที่ทุกคนรอมาหลายเดือนที่เราไปขอ license เขาก็อยากจะอ่านแล้ว อยากจะได้แล้ว วันแรกก็จะปังหน่อย ด้วยคอมมูนิตี้ Y ตอนนี้มันเวิลด์ไวด์ งานดีๆ ที่ติด best seller ของคอมมูนิตี้ Y ถูกซื้อลิขสิทธิ์มาในไทยเยอะ” พี่เล็ก จากสำนักพิมพ์ Hermit Books เล่าถึงบรรยากาศการเปิดบูธวันแรกที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ
“งานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา หนังสือ Y จะติดหนังสือขายดี best seller ถูกจีบไปทำซีรีส์ ถูกเอามาพูดถึงในกลุ่ม LGBTQ เราไม่ได้รู้สึกว่าไร้ตัวตนและเราก็ไม่ได้แปลก อาจจะยังมีคนมองแปลกไม่เข้าใจอยู่ มันก็ยังมีความสุขจากเรื่องพวกนี้ถ้าเราเข้าใจ คนข้างๆ เราก็เข้าใจเรื่องชายรักชาย มันก็เป็นโมเมนต์หนึ่งเหมือนกับอ่านหนังสือชายรักหญิง เพียงแต่ว่าเรา เชื่อมกับเรื่องพวกนี้ เราก็จะเจอคนที่ชอบเหมือนกัน แบ่งปันกัน เล่าเรื่องพวกนี้มันก็เลยเกิดความสุขกับเรื่องพวกนี้”
นิยาย Y แต่เดิมเป็นหนังสือเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ผู้อ่านส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนหรือวัยรุ่นเพศหญิงเป็นหลักจึงเป็นที่มาของคำว่า “สาววาย” แต่ปัจจุบันสังคมเริ่มเปิดรับความหลากหลายและมีความเข้าใจเกี่ยวกับนิยาย Y มากขึ้น ซึ่งพี่เล็กบอกว่าผู้ที่มาเลือกซื้อหนังสือนิยาย Y นั้นนอกจากกลุ่มสาววายแล้วยังมีลูกค้าที่เป็นผู้ชาย กลุ่ม LGBTQ เด็กมัธยมไปจนถึงรุ่นอาม่าเรียกได้ว่าทุกเพศทุกวัย ถึงแม้จะเปิดกว้างแต่ทางสำนักพิมพ์ยังมีขั้นตอนการตรวจสอบอายุของผู้ซื้อเนื่องจากนิยายบางเล่มนั้นมีเนื้อหาหรือภาพประกอบที่ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านนั่นเอง
“เมื่อก่อนเราก็อยู่ใต้ดินกว่าเราจะขึ้นมาตรงนี้ได้มันก็ต้องใช้เวลา กว่าจะมีตัวตน กลุ่มที่เราเจอกันมันใหญ่ขึ้นมันก็ดีนะ มันทำให้รู้สึกว่าเราไม่ต้องหลบซ่อน ปกไม่ต้องปิด หรือเราสามารถเล่ากับคนอื่นแล้วเราแชร์อย่างมีความสุข กลุ่มก้อนมันใหญ่ขึ้นมันไปไกลมากกว่านั้นแล้วมันไปทั่วโลก นิยายไทยถูกจีบไปแปลเป็นภาษาต่างๆ ซึ่งโอกาสมันน้อยมาก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี หรือจีน ตลาดเขาใหญ่มากโอกาสที่งานไทยจะไปแทรกมันน้อย แต่ตอนนี้นักเขียนไทยไปถึงขนาดนั้นแล้ว บางเล่มก็มีอินเตอร์แฟนเหมือนกันที่บินมาจีบแปลไปหลายๆ ภาษา มันเป็นเรื่องทั้งภูมิใจและน่ารัก ใจมันฟู” พี่เล็ก เล่าความสุขในมุมของผู้จำหน่ายนิยาย Y ด้วยรอยยิ้ม
นิยาย Y ขัดหลักศีลธรรมอันดี
เมื่อปี 2551 นิยาย Y เคยถูกห้ามขายภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นหนังสือที่นำเสนอเนื้อหาในลักษณะที่ “ขัดต่อศีลธรรมอันดี มีฉากที่แสดงถึงความใกล้ชิดมากเป็นพิเศษระหว่างตัวละครชายหรือที่บางคนเรียกว่าฉากเลิฟซีน”
นอกจากนี้ในปี 2555 ยังถูกห้ามจำหน่ายในเครือข่ายร้านหนังสือชื่อดังอย่าง “ซีเอ็ด” หลังจากบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ออกมาตรการ 6 ข้อ ที่จะไม่วางขายหนังสือที่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
- วรรณกรรมที่มีลักษณะของชายรักชาย หญิงรักหญิง เป็นลักษณะของการรักร่วมเพศ
- สื่อไปในทางขายบริการทางเพศ เช่น นักเรียน, นักศึกษา, Sideline
- ภาษาและเนื้อหาที่ใช้ หยาบโลนไม่สุภาพ ลามก, สัปดน, ป่าเถื่อน, วิปริต, ซาดิสต์, หยาบคาย ฯลฯ
- เนื้อหามีการบรรยายถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง และในที่สาธารณะ วิปริต ผิดธรรมชาติที่มนุษย์พึงเป็น เช่น ลิฟต์, น้ำตก, ลานจอดรถ ฯลฯ
- เนื้อหาที่มีการทารุณกรรมทางเพศ ทั้งที่เป็นภรรยาและมิใช่ภรรยา หรือ ทารุณต่อเด็ก, เยาวชน, สตรี และเครือญาติ อันบ่งบอกถึงการขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดี
- เนื้อหาที่บรรยายขั้นตอนการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นภาพ และบรรยายให้เห็นภาพทางกายภาพของอวัยวะเพศอย่างชัดเจน จนทำให้สามารถเป็นเครื่องมือยั่วยุทางเพศ ทำให้เกิดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ถูกคน ไม่ถูกที่ และไม่ถูกเวลา
“หากมีการละเมิดข้อกำหนดข้างต้นไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใด ทางบริษัทซีเอ็ดฯ จะไม่ดำเนินการกระจายหนังสือ กรณีกระจายไปยังร้านหนังสือแล้ว จะขอยกเลิกการจัดจำหน่าย และเรียกเก็บส่งคืนไปยังผู้ฝากจัดจำหน่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายทางบริษัทซีเอ็ดฯ จะขอเรียกเก็บกับผู้ฝากจัดจำหน่ายต่อไป”
ภายหลังที่มีการประกาศออกมาก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้เป็นจำนวนมาก กระทั่งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รณรงค์คัดค้านมาตรการดังกล่าว และนำไปสู่การเปิดเพจ “ร่วมลงชื่อคัดค้านข้อกำหนดไม่จัดจำหน่ายหนังสือ ชายรักชาย/หญิงรักหญิง และวรรณกรรมโรแมนติก อิโรติก ในร้านซีเอ็ด” สุดท้ายบริษัทจึงต้องออกแถลงการณ์ขอโทษและชี้แจงข้อเท็จจริงในเวลาต่อมา