มองจากมุมสังคมไทยที่เราคุ้นเคย คงพูดได้ไม่เต็มปากว่าสังคมยอมรับความหลากหลายและรูปแบบความรักที่เปิดกว้างมากกว่าคู่ตรงข้ามชาย-หญิง ภาพผู้ชายสองคนแสดงความรักต่อกันทั้งใน-นอกจอซีรีส์ คงถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อยอมรับ หรือบ้างก็แสดงการต่อต้าน

นับตั้งแต่ปี 2014 ที่ซีรีส์ Y อย่าง ‘Love Sick: The Series’ ออกอากาศ จนถึงช่วงหลายปีมานี้ ไม่เพียงแค่ตัวซีรีส์เท่านั้นที่ได้รับเสียงตอบรับเพิ่มจำนวนการผลิตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังส่งผลถึงความนิยมของนักแสดงซีรีส์ที่ออกมาในรูปแบบงานโฆษณา ทัวร์มีตติ้งในและต่างแดน หรือยอดผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียส่วนตัวเองก็ดี

แน่นอนว่านอกจากมุมมองทางเศรษฐกิจ ตัวเลขมูลค่าของอุตสาหกรรม Y ที่หมุนเวียนทั้งในไทยและต่างประเทศแล้ว มองจากมุมสังคมและวัฒนธรรม กระแสซีรีส์ Y นี้สะท้อนกลับสู่สังคมอย่างไร รวมทั้งความท้าทายที่สื่อวัฒนธรรมนี้ ท้าทายภูมิทัศน์สังคมที่สื่อละคร ชาย-หญิง สร้างภาพจำของสังคมไทยมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแบบไหน

FEED สรุปความบรรยายพิเศษหัวข้อ ‘Boys Love Media in Thailand (สื่อชายรักชายในประเทศไทย)’ และบทสนทนาเพิ่มเติมของเรากับ โธมัส บอดิเนตต์ (Thomas Baudinette) นักมานุษยวิทยาสายวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยแมคควอรี (Macquarie University) ประเทศออสเตรเลีย ผู้เป็นทั้งแฟนคลับและนักวิจัยซีรีส์ Y นานเกือบทศวรรษ

โธมัส บอดิเนตต์ (Thomas Baudinette)
กิจกรรมบรรยาย Boys Love Media in Thailand

จุดเริ่มต้นศึกษาซีรีส์ Y ไทย ถึงข้อเสนอต่อสังคม

หากลองค้นหาเกี่ยวกับงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับซีรีส์ Y ไทยในเว็บไซต์ academia.edu ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งเผยแพร่งานวิชาการสู่สาธารณะแล้ว เราจะเห็นชื่อ ‘โธมัส บอดิเนตต์’ ว่าเป็นหนึ่งในคนที่ลงแรงวิจัยและผลิตงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง

โธมัสเริ่มต้นเกริ่นความสนใจศึกษาซีรีส์ Y หรือ Boys Love (BL) ของไทยว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน คือราวปี 2014 ที่ตัวเองพยายามหาช่องทางผ่อนคลายตัวเองและคลายเครียดจากการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก จนทำให้เขาเจอกับซีรีส์ Love Sick ของประเทศไทยจากการท่องโลกโซเชียลมีเดีย

แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแรกเสียทีเดียว เพราะเขาเล่าว่าได้เคยอ่านเจอหนังสือการ์ตูนชายรักชายแบบฉบับของประเทศญี่ปุ่นมาแล้วสมัยตนเองอายุ 14 ปี ในห้องสมุดท้องถิ่นของประเทศออสเตรเลีย

ความสนใจส่วนตัวนี่เอง แสดงถึงงานในช่วงต้นของเขาที่ศึกษากระแสวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ และสื่อสารมวลชนทั้งในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จนมาถึงการศึกษาวัฒนธรรมซีรีส์ Y ไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และจะออกเป็นหนังสือชื่อเดียวกับการบรรยาย ว่า ‘Boys Love Media in Thailand: Celebrity, Fans, and Transnational Asian Queer Popular Culture’ ซึ่งจะออกมาให้ผู้สนใจได้อ่านกันเร็วๆ นี้

โธมัส บอดิเนตต์ (Thomas Baudinette)
โธมัส บอดิเนตต์ (Thomas Baudinette)

แม้จะมีข้อถกเถียงจากวงวิชาการสื่อสารมวลชนวิเคราะห์ว่าซีรีส์ Y คือสื่อที่ผลิตขึ้นโดยผู้หญิง สำหรับผู้หญิง ในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ทางสังคม (patriarchal society) แต่จากการรวบรวมข้อมูลวิจัย เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับซีรีส์และนักแสดง รวมทั้งสัมภาษณ์แฟนคลับ-นักเขียนนิยายวาย โธมัสพยายามเสนอว่านอกจากกลุ่มผู้หญิงที่เป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักแล้ว ยังมีกลุ่มเพศสภาพชาย ที่อาจจะมีรสนิยมทางเพศแบบชายรักชาย หรืออื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ความหลากหลายของกลุ่มคนที่นิยมชมชอบซีรีส์ Y นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่โธมัสชวนเรามองว่า ซีรีส์ Y คือสื่อประเภท LGBTQ ที่มีพลังและศักยภาพในการเปิดประตูสังคม ให้เรียนรู้และทำความเข้าใจความหลากหลายเท่าเทียมทางเพศ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นต่อไป

อ่านบทวิเคราะห์ซีรีส์วาย จากมุมมองนักวิชาการสื่อสารมวลชน – ชเนตตี ทินนาม

วัฒนธรรม ‘คู่จิ้น’ และการเมืองของ ‘การมองเห็น’

คำถามที่อาจจะตามมาคือ ทำไมโธมัสถึงเสนอว่าซีรีส์ Y คือสื่อ LGBTQ ที่ไม่ใช่จำกัดเฉพาะอยู่ในกลุ่มผู้หญิงที่มีรสนิยมทางแบบแบบเพศตรงข้าม (heterosexual) แต่รวมไปถึงเพศวิถีอื่นด้วย

คำตอบของโธมัสอยู่ในทั้งข้อมูลเชิงสถิติ การเก็บรวบรวมข้อมูลในงานวิจัย และ แนวคิด ทฤษฎีเชิงสังคม

หากเราดูผลการศึกษาซีรีส์ Y ซึ่งจัดทำโดย นีลเส็น (Nielsen Media Research) สำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 300 คน ของผู้ชมซีรีส์ Y ผ่านช่องทาง LINE TV ในกรุงเทพและเมืองใหญ่ของไทยในเดือนกันยายน 2020 ชี้ว่า ตัวเลขของผู้หญิงที่ติดตามซีรีส์ Y มีสัดส่วนถึง 78% และเป็นจำนวนสัดส่วนของผู้ชาย 21%

กลุ่มผู้ชมซีรีส์ Yจำแนกตามเพศสภาพจากผลสำรวจของเนลเซน มีเดีย (ที่มา: รายงาน Y-Economy จัดทำโดย LINE TV)

หากใครเคยได้ไปงานแฟนมีตนักแสดง หรืองานที่เกี่ยวข้องกับซีรีส์ Y ในไทยแล้ว หากมองอย่างผิวเผิน เราอาจจะเห็นกลุ่มผู้เข้าร่วมงานเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ แต่จากผลการสำรวจที่กล่าวถึงข้างบนแล้วพบว่ากลุ่มเพศสภาพชายก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนร่วมในกระแสวัฒนธรรมนี้อย่างสำคัญ

และเมื่อมองจากมุมเชิงแนวคิด-ทฤษฎีทางสังคมแล้ว โธมัสเสนอว่าวัฒนธรรมสาย Y ของ ‘การจิ้น’ คู่นักแสดง หรือ ‘คู่จิ้น’ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ซีรีส์ Y เป็นสื่อประเภท LGBTQ ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่วงผู้หญิงเท่านั้น

‘การจิ้น’ หรือ ภาษาอังกฤษคือการชิป (shipping) เป็นวัฒนธรรมสำคัญที่ผู้ชมซีรีส์ แฟนคลับ หรือแม้แต่ตัวบริษัทผู้ผลิตซีรีส์เองก็ตามพยายามจับคู่ตัวละครหรือนักแสดงให้สมหวังทางความรัก-ความสัมพันธ์ และนำไปสู่การสร้าง ‘คู่จิ้น’ ของตัวละครหรือนักแสดงนั้นๆ ทั้งในเนื้อหาซีรีส์ หรือ บนเวทีแฟนมีตติงและรายการโชว์

การแสดงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของ ‘คู่จิ้น’ (หรือที่โธมัสใช้คำว่า ‘การกระตุ้นเร้าอารมณ์ของคนเพศเดียวกัน (homoeroticism)) นั้นจะทำให้เกิดสภาวะการณ์ของความรู้สึกที่เรียกว่า ‘ฟิน’ ในกลุ่มผู้ชม

ในจุดนี้เองที่โธมัสนำทฤษฎีทางสังคมที่เกี่ยวกับ ทฤษฎีเควียร์ (Queer theory) หรือทฤษฎีที่ว่าด้วยการศึกษาเพศวิถีที่แตกต่างไปจากแบบคู่ตรงข้ามชาย-หญิง เพื่อ มา ‘มอง’ หรือ ‘อ่าน’ ปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมดังกล่าว เขากล่าวว่า

“ผมให้คำนิยามคำว่า ความเป็นเควียร์ (queerness) ไม่ใช่เป็นหนึ่งในการนิยามทางเพศ แต่เป็นวิถีการกระทำ (act) ซึ่งท้าทายบรรทัดฐานของสังคมชายเป็นใหญ่ที่กดขี่และไม่เปิดพื้นที่ให้ความหลากหลายทางเพศ”

หมายความว่ามองจากมุมทฤษฎีเควียร์แล้ว วัฒนธรรมการจิ้นคู่นักแสดงชาย หรือ ความรู้สึก ‘ฟิน’ เมื่อคู่จิ้นที่เราชื่นชอบมีปฏิสัมพันธ์ทางเรือนร่างที่ใกล้ชิดกันแล้ว ทำให้เกิดสภาวะทางอารมณ์ของคนดู (และสังคม) ที่ท้าทายบรรทัดฐานของสังคมชายเป็นใหญ่ที่ตีกรอบความรักให้จำกัดอยู่เพียงแค่เพศตรงข้าม สองขั้วชาย-หญิง

แฟนมีตติงในงาน FEED’s Y Capital

และการที่ซีรีส์ Y ได้รับความนิยมจนฉายบนช่องทีวีดิจิทัล หรือ ฉายในช่วงเวลาไพร์มไทม์ หรือแม้แต่นักแสดงซีรีส์ได้รับความนิยมจนเราเห็นเขาได้ในโฆษณาโปรโมทสินค้าตามสื่อสังคมออนไลน์ หรือป้ายบิลบอร์ดเองก็ตาม นั่นทำให้วัฒนธรรม Y หรือ การปฏิสัมพันธ์ทางเพศแบบชาย-ชาย มีพื้นที่ ‘การมองเห็น’ ขึ้นมาในพื้นที่สังคมที่ยึดถือคุณค่าแบบชายเป็นใหญ่ และ ความรักแบบเพศขั้วตรงข้าม

และนี่คือการเมืองเรื่อง ‘การมองเห็น’ ที่ท้าทายบรรทัดฐานและโครงสร้างทางสังคมผ่านมิติทางวัฒนธรรม และโธมัสอธิบายเพิ่มเติมว่า

“มองจากมุมทฤษฎีสตรีนิยม ปรากฎการณ์ซีรีส์ Y เป็นการสอดแทรกมุมมอง (gaze) และความปรารถนาของผู้หญิงกลับเข้าสู่วัฒนธรรมสื่อ และ แม้จริงๆแล้ว การแสดงการกระตุ้นเร้าอารมณ์ของเพศเดียวกันของนักแสดง Y จะเป็นไปในเชิงการแสดง (performative) และนักแสดงบางส่วนก็ไม่ได้ระบุตัวตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนส่วนน้อยทางเพศ แต่นี่เป็นการมีตัวตนหรือการมองเห็นวิถีเพศสภาพที่ไม่ใช่ขั้วชายหญิง ซึ่งบริบทประเทศไทยขาดหายนานหลายปี”

ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แบบไหนที่อยากเห็น?

ปรากฎการณ์ความนิยมของซีรีส์  Y นั้นคงไม่ปฏิเสธว่าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่แม้แต่เฉพาะในประเทศ แต่รวมไปถึงหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หากเราจะมองว่าประเทศไทยเป็นแหล่งสร้างอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมทำเงินก็คงได้เช่นกัน แต่โธมัสอยากชวนให้เรามองไปถึงศักยภาพสำคัญด้านวัฒนธรรมที่ท้าทายบรรทัดฐานเดิมของสังคมด้วย

จากการลงพื้นที่วิจัยภาคสนามด้วยการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในแฟนมีตติ้งและอีเวนต์วัฒนธรรมวายในประเทศฟิลิปปินส์ เขาชี้ให้เห็นการทำงานเชิงอารมณ์ของวัฒนธรรมซีรีส์ Y ที่เกิดขึ้นในต่างแดน

“ผมเข้าร่วมแฟนมีตติ้งของซีรีส์ Y ไทย ที่ประเทศฟิลิปปินส์ในเดือนมกกราคม 2020 สิ่งที่ทำให้ตกใจมากคือแฟนคลับที่นั่นเต็มไปด้วยความคึกคักและสีสัน ไม่ใช่แค่ต่อศิลปินหรือโชว์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่เขาแสดงความต้องการให้ความรักระหว่างผู้ชายสองคนเกิดขึ้นในชีวิตจริงของพวกเขาเช่นกัน”

Series Y

โธมัสเล่าว่าแฟนมีตติงที่เขาเข้าร่วมในฟิลิปปินส์เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัยนั้น มีสัดส่วนของเพศสภาพชาย-หญิงที่ไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งแตกต่างจากในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่เป็นเพศสภาพหญิง

และในช่วงหนึ่งของงานแสดงโชว์ แฟนคลับซีรีส์ Y ไทยในฟิลิปปินส์ส่งเสียงประสานกันว่า “ฉันอยากได้สิ่งนี้ในชีวิตจริง!” เขาได้สัมภาษณ์แฟนคลับกลุ่มนี้และค้นพบว่าจริงๆแล้ว พวกเขาไม่ได้หมายความว่าอยากจะเป็นคู่รักกับนักแสดงซีรีส์ แต่เขาอยากได้ความรักที่เปิดเผยและมีภาพที่สดใสอย่างในซีรีส์ในชีวิตจริงด้วยเช่นกัน

ประเด็นนี้ทำให้โธมัสเห็นว่ามุมมองที่มีต่อซีรีส์ Y ของไทยนั้นคือภาพบวกของความรักที่เป็นไปในเชิงบวกของความรักแบบชาย-ชาย ซึ่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นเหมือนภาพในซีรีส์ และจุดนี้ที่โธมัสเสนอว่าเป็นเหมือนการเปิดประตูบานแรกสู่การสร้างความรับรู้ต่อความรักที่ไม่จำกัดเพียงเพศสภาพชาย-หญิง คู่ตรงข้ามเท่านั้น และเบิกทางต่อวิธีการสร้างสังคมที่เปิดกว้างและเท่าเทียมทางเพศ

นี่คือ พลังทางวัฒนธรรม ที่โธมัสชี้ให้เราเห็นจากซีรีส์ Y ไทย แต่อีกมุมหนึ่งคือข้อกังวลว่าภาครัฐไทยไม่ได้ให้ความสนใจกับศักยภาพทางวัฒนธรรมด้านนี้ และเน้นน้ำหนักไปที่มิติทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่

Series Y

ดังนั้น คำถามสำคัญของการผลักดันและส่งเสริมซีรีส์ Y ไทย นอกจากมิติทางเศรษฐกิจ การสนับสนุนคนทำงานในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมแล้ว มิติทางสังคมของการสร้างความเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้

“กลยุทธ์ทางซอฟพาวเวอร์ใดก็ตามที่ไม่ได้ตระหนักถึงมิติทางสังคมที่ซีรีส์ Y กำลังเสนอ จะไปต่อไม่ได้เลย จะไม่มีแฟนคลับต่างชาติคนไหนเดินทางมาประเทศไทยถ้าไม่มีการยอมรับความเปิดกว้างทางเพศและภาพการเมืองเชิงบวกของซีรีส์ นี่เป็นจุดที่ผมคิดว่ากำลังท้าทายอนาคตของอุตสาหกรรม Y ของไทย”

โธมัส บอดิเนตต์
โธมัส บอดิเนตต์ (Thomas Baudinette)

หมายเหตุ: สรุปความส่วนหนึ่งจากการบรรยาย ‘Boys Love in Thailand’ จัดโดย สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก