FEED สื่อไลฟ์สไตล์ภายใต้เครือมติชน จัดงานใหญ่แห่งปี FEED Y CAPITAL 2nd เมืองหลวงซีรีส์วาย ครั้งที่ 2 เพื่อตอกย้ำความสำเร็จของอุตสาหกรรมซีรีส์วายไทยที่เป็นตัวแม่ ตัวมารดา ไม่แพ้ชาติใดในโลก พร้อมขนทัพนักแสดงซีรีส์วาย รวมถึงศิลปิน T-POP มาเสิร์ฟความสุขให้กับแฟนๆ ในวันที่ 23 กันยายน 2566 ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์

และในโอกาสนี้ทีมงาน FEED ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรมซีรีส์วาย เพียงไม่กี่คนในประเทศไทยที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อสะท้อนมุมมองและทิศทางการเติบโตของซีรีส์วายไทยในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นที่เริ่มให้ความสนใจการ์ตูนวาย

รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม
รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม

รศ.ดร.นัทธนัย : ผมสนใจเรื่องวายหรือว่า BL เป็น 2-3 ระยะ ระยะแรกในฐานะนักอ่านก่อน ผมเริ่มได้อ่านการ์ตูนวายหรือว่าการ์ตูน BL ที่เป็นฉบับแปลจากภาษาญี่ปุ่นในช่วงประมาณ พ.ศ. 2545 ซึ่งตอนนั้นเริ่มมีขายอยู่ในประเทศไทย ย้อนกลับไปช่วงปี 2545 คนที่แนะนำเข้าสู่วงการการ์ตูนวายก็คือเพื่อนที่เรียนระดับปริญญาตรีด้วยกัน ตอนแรกก็รับรู้สิ่งนี้ในฐานะที่เป็นการ์ตูนผู้หญิง แต่ว่ามีฉากรักอันร้อนแรง อันนั้นก็คือการรับรู้ในช่วงแรกในฐานะผู้อ่าน

ส่วนระยะที่ 2 คือหลังจากที่เรียนจบปริญญาโทแล้ว ก็เริ่มเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วงเวลานั้นก็จะมีลูกศิษย์ที่สนใจเรื่องวาย และเป็นแฟนของศิลปินเกาหลี-ญี่ปุ่น ลูกศิษย์กลุ่มนี้ก็แนะนำให้รู้จักงานประเภทแฟนฟิค แล้วก็มีทั้งแบบที่พิมพ์ในโลกออนไลน์ แล้วก็ตีพิมพ์รวมเล่ม และผมก็มีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมที่คล้ายๆ แฟนมีตด้วยที่เป็นการรวมกลุ่มกันของคนที่สนใจงานแฟนฟิคพวกนี้ มีการขายสินค้า มีการขายนิยายในพื้นที่นั้น

Love Sick The Series
Love Sick The Series
เดือนเกี้ยวเดือน
เดือนเกี้ยวเดือน
SOTUS The Series
SOTUS The Series

และมาถึงระยะที่ 3 ก็คือหลังจากที่เกิดวายบูมในประเทศไทย ก็คือหลัง พ.ศ. 2557 ที่เรามี Love Sick The Series ช่วงเวลานั้นผมเรียนปริญญาเอกอยู่ที่สกอตแลนด์ ระหว่างที่รู้สึกคิดถึงบ้านมาก ก็อาศัยซีรีส์วายเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจ ก็ดูต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2557 เป็นต้นมา ก็ตามดูทั้ง Love Sick The Series รักวุ่น วัยรุ่นแสบ ดู เดือนเกี้ยวเดือน 2Moons The Series ดู SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ในช่วงเวลานั้น

หลังจากระยะที่ 3 เป็นต้นมา หลังจากที่เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเสร็จเรียบร้อย ก็ได้เริ่มหันมาศึกษาเรื่องวายจริงจังอีกครั้งหนึ่ง จริงๆ มันสืบเนื่องจากระยะที่ 2 ในช่วงที่ต้นทศวรรษ 2550 ผมได้เขียนบทความแล้วก็ได้มีการนำเสนอบทความในเวทีวิชาการ 2 ชิ้น แต่ว่าตอนนั้นสนใจแฟนฟิคเป็นหลัก แล้วอุตสาหกรรมวายของไทยยังถือว่ายังไม่เกิดอย่างเต็มรูปแบบ

ในช่วงต้น 2550 สิ่งที่เราจะเห็นประปรายก็คือพวกคู่จิ้นที่อยู่ตามรายการประกวดนักร้องที่เป็น reality show จนกระทั่งต้นรูปแบบจริงๆ ที่มีซีรีส์เป็นของตัวเองคือหลังปี 2557 อันนั้นก็เลยกลายเป็นพื้นที่ที่ผมสนใจศึกษาจนถึงปัจจุบัน

ทั่วโลกให้การยอมรับซีรีส์วายไทยอย่างหลากหลาย และตอบสนองทุกรสนิยม

รศ.ดร.นัทธนัย : ปัจจุบันซีรีส์วายขายได้ในทุกภูมิภาคแล้ว มีซีรีส์วายในยุโรป มีแฟนชาวฝรั่งเศสเยอะมาก ขายในเอเชียอันนี้เรารู้อยู่แล้ว เราสังเกตได้จากแฟนมีตที่เกิดขึ้น เกิดในโลกที่พูดภาษาจีน เกิดในเกาหลีใต้ ในญี่ปุ่นเองที่เป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมวาย ก็ซื้อวายเยอะมาก หรือแม้แต่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ แล้วก็ลาตินอเมริกา ยิ่งลาตินอเมริกาในโลกที่พูดภาษาโปรตุกีสกับภาษาสเปน ก็เสพซีรีส์วาย

เพราะเราคู่กัน 2gether
เพราะเราคู่กัน 2gether
KinnPorsche The Series
KinnPorsche The Series
แปลรักฉันด้วยใจเธอ
แปลรักฉันด้วยใจเธอ

สิ่งที่มันน่าสนใจก็คือรสนิยมของผู้ชมแต่ละภูมิภาคอาจจะต่างกัน ไม่ใช่ว่าซีรีส์ทุกเรื่อง ไม่ใช่ว่าซีรีส์เรื่องหนึ่งจะขายได้ทุกภูมิภาค หมายถึงขายได้ดี อย่างเช่นญี่ปุ่นเองจะชอบเรื่อง เพราะเราคู่กัน หรือ 2gether มาก ในขณะที่เรื่องอื่นอาจจะไม่สนใจเท่าไหร่ ในขณะที่ในลาตินอเมริกาก็จะชอบเรื่อง KinnPorsche The Series มาก แล้วก็มีความสนใจเรื่องอื่นรองลงมา หรืออย่างในโลกที่พูดภาษาจีนก็อาจจะชอบ แปลรักฉันด้วยใจเธอ มาก เพราะมีประเด็นเรื่องจีนมาก ก็อาจจะเกี่ยวกับรสนิยมของแต่ละชาติด้วย

แต่ความน่าสนใจของวายไทยก็คือว่าคุณชอบแบบไหนก็ได้ เพราะเรามีทุกแบบเลย อันนี้คือจุดที่ สำหรับผมคือโดดเด่น คือถ้าคุณชอบมัธยมใสๆ เราก็มี คุณชอบมหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมชมรม เราก็มี แบบนักกีฬา เราก็มี แบบสัตวแพทย์ เราก็มี แบบคนทำงานเบื้องหลังกองถ่าย เราก็มี แบบนักเรียนภาพยนตร์ เราก็มี

สาเหตุที่เราขายได้มาก เพราะว่า 1.เรามีจำนวนมาก 2.คือเรามีความหลากหลาย เราจึงสามารถตอบสนองรสนิยมของคนที่ชอบไม่เหมือนกันได้มาก อีกอย่างหนึ่งก็คือในมุมวิชาการ นักวิชาการก็เสนอเหมือนกันว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ซีรีส์วายของไทยขายได้

ก็เพราะว่าในหลายพื้นที่ การเป็นคนรักเพศเดียวกัน ยังเป็นสิ่งต้องห้าม ทั้งในทางกฎหมาย และในทางสังคมวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นการได้เสพซีรีส์วาย จึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความหวังให้กับผู้ชม ที่อาจจะผ่านประสบการณ์บาดแผลของการเป็นคนรักเพศเดียวกันมา

สำหรับประเทศไทยถ้าวัดในแง่จำนวน คือจริงๆ ยังไม่มีตัวเลข ณ ปัจจุบัน แต่ว่าถ้าดูถึงความถี่ที่ปรากฏในโลกอินเตอร์เน็ต ผมค่อนข้างเชื่อว่าประเทศไทย ผลิตจำนวนมากที่สุด อันนี้เราพูดถึงในแง่จำนวนอย่างเดียวนะ ผมค่อนข้างเชื่อว่ามากที่สุด

รศ.ดร.นัทธนัย กล่าว

ทิศทางการพัฒนาของซีรีส์วายไทย เติบโตขึ้นมากแค่ไหน

รศ.ดร.นัทธนัย : คำตอบก็คือพัฒนามากขึ้น เพราะว่าประเด็นที่ 1 ก็คือว่าคนที่เข้ามาร่วมวงกำกับซีรีส์วายในปัจจุบันเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่โดดเด่นมากๆ ยกตัวอย่างเช่น มะเดี่ยว ชูเกียรติ หรือ นุชชี่ อนุชา คนกำกับหนังใหญ่ก็มากำกับซีรีส์วายด้วย เพราะฉะนั้นเราก็จะมีความหลากหลายของผู้กำกับ Cinemagraphy ที่ใช้โปรดักชันที่ได้เงินมากขึ้น เพราะว่าจากจุดเริ่มต้นบางสตูดิโออาจจะได้รับเงินสนับสนุนจากโฆษณาสินค้าเข้าน้อย

ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล
ภาพจาก : IG mdsponx
อนุชา บุญยวรรธนะ
อนุชา บุญยวรรธนะ
ภาพจาก : IG anuchyfilm

แต่พอเริ่มติดก็จะมีคนที่ลงเงินให้เรามากขึ้น ถ้าเรามีเงินมากขึ้น เราก็สามารถผลิตด้วยสเกลที่ใหญ่มากขึ้น ลงทุนมากขึ้นได้ และเราสามารถใช้คนจำนวนมากขึ้นได้ สามารถ recruit คนที่มีฝีมือ ค่าตัวสูงมาได้ รวมทั้งเราสามารถคัดเอาดาราที่มีชื่อเสียงมาได้ คือเวลาที่เราพูดถึงคุณภาพซีรีส์วาย จริงๆ แล้วต้องพูดอย่างนี้ว่ามันไม่ใช่คุณภาพของการถ่ายทำอย่างเดียว แต่มันเป็นคุณภาพของทุกอย่างใช่ไหมครับ

คุณภาพของบท คุณภาพของนักแสดง ความสามารถในการแสดง ซึ่งในปัจจุบันมันก็มีการเลือกเอานักแสดงที่มีความสามารถมาเล่นมากขึ้น คือซีรีส์วายแต่เดิมจะถูกรับรู้ว่าเป็นช่องทางในการเปิดตัวนักแสดงหน้าใหม่ แต่ปัจจุบันเราก็เห็นว่าคนที่แสดงจนเป็นอาชีพแล้ว มาเล่นซีรีส์วายก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็จะมีความหลากหลายด้านคุณภาพมากขึ้น

ซีรีส์วายมันไม่ใช่สำหรับเฉพาะกลุ่มอีกต่อไปแล้ว ต้นกำเนิดของมัน มันอาจจะมีแฟนกลุ่มเฉพาะใช่ไหมครับ ตัววงของ audience ค่อนข้างจำกัด แต่ว่าปัจจุบันทุกคนดูซีรีส์วาย ซีรีส์วายไปแทรกอยู่ตามโปรแกรมที่ออกตามช่องหลักแล้ว เพราะฉะนั้นซีรีส์วายก็คือซีรีส์ถูกไหมครับ เพราะฉะนั้นไอ้ตราบาปของการที่ซีรีส์วายเป็นงานอีกเกรดหนึ่งมันก็ค่อยๆ ถูกลบไป

คือทุกอย่างมันไปด้วยกัน ในความหมายที่ว่าในเมื่อโปรดักชั่นคุณใหญ่ขึ้น คุณมีเงินสนับสนุนมากขึ้น คุณทำงานได้มีคุณภาพมากขึ้น มันก็ดึงดูดทั้งคนดู และคนที่จะอยู่ในอุตสาหกรรม ให้รู้สึกว่าเออเราสามารถผลักดันให้มันทำได้ดีขึ้นอย่างไร

รศ.ดร.นัทธนัย กล่าว

ซีรีส์วายไทยในอนาคตจะโอบรับความเป็นโกลบอลมากขึ้น

รศ.ดร.นัทธนัย : สาเหตุหนึ่งที่ทำให้วายไทยประสบความสำเร็จ ย้ำอีกครั้งก็คือเรามีโมเดลอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกันจากหลายฝั่ง คือเรามีทั้งฝั่งวรรณกรรม แล้วก็วัฒนธรรมสกรีน วัตถุดิบใหม่ๆ ที่มันเกิดขึ้นในซีรีส์วาย มันเกิดจากฝั่งวรรณกรรม อันนี้เราจะลืมไม่ได้ เพราะฉะนั้นอีกประเด็นหนึ่งสำหรับการพัฒนา Soft Power คือเราจะพัฒนาแต่ซีรีส์ไม่ได้ เราต้องพัฒนาบทด้วย เราต้องพัฒนาบทที่จะกลายเป็นซีรีส์

เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องเทรน หรือว่าให้เงินสนับสนุนในฝั่งอุตสาหกรรมวรรณกรรม เพื่อให้เรามีบทดีๆ เพื่อให้เรามี Material ดีๆ ที่จะพัฒนาเป็นซีรีส์ได้ ผมคิดว่าวายไทยในอนาคตข้างหน้าก็คืออาจจะโอบรับความเป็นโกลบอลมากขึ้น อย่างปัจจุบันเราจะเห็นการร่วมทุนสร้าง อย่างกรณีไทย-จีน ที่มีการร่วมทุนสร้าง

เราอาจจะเห็นโมเดลการร่วมทุนใหม่ๆ หรือความร่วมมือ ปัจจุบันก็มีแล้วอย่างเช่น การทำสัญญาระหว่างบริษัทในไทยกับญี่ปุ่น หรือไทยกับเกาหลี เราเห็นแล้วใช่ไหมครับ แต่ว่าไอ้ตัวผลผลิตเราอาจจะยังไม่เห็นชัดมาก

แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตเราจะมีการร่วมทุนสร้าง เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้วายไทยในฐานะสินค้าวัฒนธรรม หรือ Soft Power ไปต่อได้ ก็คือเราต้องปลดแอกตัวเองออกจากจากกรอบของชาติ คือเราเป็นวายไทยก็จริง แต่ในขณะเดียวกันเราก็เป็นโกลบอลวายด้วย คือเราก็สามารถไปเชื่อมต่อกับประสบการณ์ของผู้ชมในหลายๆ ภูมิภาคได้

แต่ในขณะเดียวกันเราก็อาจจะเป็นไทยที่มันมีหลากหลายเวอร์ชั่นมากขึ้น ไม่ได้เป็นไทยเดียวแบบเดี่ยวๆ คือจินตนาการเกี่ยวกับความเป็นไทยมันอาจจะต้องมีหลากหลายมากขึ้น แล้วมันจะแสดงให้เห็นว่ามันโอบรับคนอื่นที่อยู่ในโลกยังไง

รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม กล่าวทิ้งท้าย
รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม
รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม

เด็กฝั่งธนฯ ที่บ้านเลี้ยงแมว 2 ตัว เชียร์ทีมชาติไทย ชอบสะสมหุ่นจำลอง แต่ยังไม่ได้แกะออกมาจากกล่องสักที!

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก