“สูงศักดิ์ สุพรมพันธ์” เจ้าของนามปากกา “โต้ด โกสุมพิสัย”
หากย้อนกลับไปสมัยปี พ.ศ. 2520 – 2540 ในยุคที่สมาร์ทโฟนยังไม่แพร่หลายเท่ากับปัจจุบัน ความบันเทิงหลักของคนในยุคนั้นคือการดูละครโทรทัศน์ ฟังเพลง และการอ่านหนังสือ ณ ช่วงเวลานั้นคือยุคทองของ “การ์ตูนเล่มละบาท” ที่ครองพื้นที่บนแผงหนังสือทั่วไทยด้วยราคาถูก หาซื้อสะดวก และเนื้อหากระชับอ่านจบได้ในเวลาไม่นาน ทำให้การ์ตูนเล่มละบาทได้รับความนิยมอย่างมากในตอนนั้น
“โต้ด โกสุมพิสัย” นามปากกาของ “สูงศักดิ์ สุพรหมพันธ์” หนึ่งในนักวาดการ์ตูนเล่มละบาทที่แม้ในปัจจุบันจะสูญหายไปจากแผงหนังสือแล้ว เล่าความหลังถึงยุคทองของการ์ตูนเล่มละบาทที่มีอิทธิพลกับคนในสังคมไทยด้วยการสอดแทรกคำสอนเกี่ยวกับการทำความดี ละเว้นความชั่ว บุญบาป โลกหลังความตาย ผ่านลายเส้นและเรื่องราวชวนขนหัวลุกกับสิ่งที่เรียกว่า “การ์ตูนผีเล่มละบาท”
“ผมไม่ได้เรียนต่อเพราะว่าฐานะทางบ้านไม่ดี ตอนอยู่บ้านเขียนป้ายโรงหนัง เล่นดนตรี ตีกลอง หมอลำ แต่ใจมุ่งหมายจริงๆ อยากเขียนการ์ตูน โรงพิมพ์ต่างจังหวัดไม่มี มันมีแต่ในกรุงเทพต้องดิ้นรนเองบินเดี่ยวมา จู่ๆ ก็มีคนบอก “พี่ปรีชา” เขาไม่สบาย เขาอยากหาคนเขียนหนังสือตัวเล็กในหนังสือพิมพ์ผมก็เลยไป พอมาอยู่โรงพิมพ์กระดาษเยอะแยะผมก็เลยเริ่มฟื้นฝีมือขึ้นมาใหม่ แรกๆ ก็เขียนภาพประกอบด้วยในหนังสือพิมพ์และตัวหนังสือเล็กใต้ภาพข่าว”
“อยู่ได้สัก 1-2 ปี หนังสือเล่มละบาทมาพอดี เด็กในเมืองหน่อยก็อ่านโดราเอมอน ส่วนคนทั่วไปแม่ค้า คนรอรถเมล์ คนฆ่าเวลา ร้านตัดผม ร้านอะไรสารพัด (การ์ตูน)เล่มละบาทแทรกไปหมดบูมกันใหญ่ โรงพิมพ์เล็กๆ น้อยๆ พิมพ์การ์ตูนเล่มละบาทสมัยนั้นไม่ต่ำกว่า 50 โรงได้ สมัยนั้นเรื่องละ 1,000 บาท ถือว่าเยอะ แต่ผมโชคดีได้เขียนปกด้วยมันก็ได้ 1,200 บาท ถือว่ามากนะสมัยเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว”
จากเศษกระดาษในโรงพิมพ์สู่การ์ตูนเล่มละบาท
“อรรถกฤตย์ จีนมหันต์” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ป๋าเอ็กซ์” นักสะสมของเล่นญี่ปุ่นและการ์ตูนไทยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการ์ตูนเล่มละบาทว่า “ช่วงที่ยุคการ์ตูนไทยดังๆ ตอนแรกมันเป็นปกใหญ่ๆ จักรๆ วงศ์ๆ แนวอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แล้วมันก็หายไปพักนึงการ์ตูนปกใหญ่ แต่ว่ามาฮิตอีกทีก็คือเป็นช่วงที่เขาอยากจะได้หนังสือที่ราคาถูกราคาประหยัดคนสามารถจับต้องได้ เขาก็เลยคิดขึ้นมาทำเป็นปกเล่มเล็กๆ ราคาประหยัดก็คือ 1 บาทที่เราเรียกว่า “การ์ตูนเล่มละบาท” ที่มาที่ผมถามหลายท่านเขาบอกว่ามันมีเศษของหนังสือเหลืออยู่ เวลาเขาตัดหนังสือเป็นเล่มจะมีกระดาษที่เหลือขนาดไซส์นี้ ถ้างั้นไหนๆ ก็ลองวาดการ์ตูนสั้นๆ แล้วเอากระดาษเหลือใช้พวกนี้มาทำเป็นรูปเล่มการ์ตูน ประมาณปี 2520 – 2523 การ์ตูนเล่มละบาทมันแพร่กระจายไปทั่วเลย เวลาเราไปตามตลาดเราก็จะเห็นหนังสือการ์ตูนเป็นแผง เขาจะหนีบไว้ให้คนซื้อ การ์ตูนเล่มละบาทสมัยก่อนเหมือนกับเป็นการอ่านฆ่าเวลา เนื่องจากราคามันถูกและมีเนื้อหาสั้นๆ”
การ์ตูนเล่มละบาทไม่ได้มีแค่การ์ตูนผี
“การ์ตูนเล่มละบาทมันมีทั้งจักรๆ วงศ์ๆ ตำนานพื้นบ้าน เรื่องเล่าขานในแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย ตำนานแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ส่วนที่คนส่วนใหญ่นึกถึงการ์ตูนผีเพราะมันอ่านง่าย มันเข้าถึงคนง่าย ผีเผอมีสารพัดเขียนได้เป็นร้อยเป็นพันจนป่านนี้ผมยังเขียนไม่หมดเลยเรื่องผียังมีในสมองอยู่ จนโรงพิมพ์ไม่มีแล้ว พวกผีอ่านแล้วมันตื่นเต้น พวกชีวิตพวกนี้ขายไม่ค่อยออก นอกนั้นก็เป็นเรื่องล้างโลกไปเลย นิทานนิยายล้างโลก ล้ำยุคล้ำอะไรไปแบบนั้น แต่หลักๆ นี่ผีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ได้”
“ผีกระสือ” ตำนานผีไทยที่ไม่มีวันตาย
“คำว่าผีความเชื่อของคนแต่ละที่มันไม่เหมือนกัน บางคนก็บอกมันไม่มี แต่ที่จริงมันมีในโลกเราเนี่ยมันปนกันไป ผีกระสือมันเกิดจากอิทธิฤทธิ์มากกว่า พวกเรียนวิชาอาคมทำผิดผีผิดอะไรตามความเชื่อ ที่มันถอดไส้ออกมาเพราะว่ามันเป็นในหนัง แต่ว่าตัวจริงมันมองแทบไม่เห็นมันจะเป็นลูกไฟแค่นั้นเอง แต่พอมาเขียนเป็นการ์ตูนเห็นเป็นหัวถอดไส้อันนี้คือเกินความเป็นจริง มันยังมีผีกองกอย ผีป่า ผีเจ้าที่เจ้าทาง ผีปู่ ผีเฝ้าสมบัติ มันยังมีแยกชอยส์ออกไป ผีมันก็คือพวกวิญญาณที่ไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไปถ้าตามพุทธศาสนาเขาก็เรียก “อมนุษย์” ถ้ามีบุญมีบาปมันก็มีสิ่งตรงข้ามกัน มีนรกมันก็ต้องมีสวรรค์ ถ้าไม่เชื่อเรื่องบาปก็ไม่ต้องเชื่อเรื่องผี กรรมเวรมีจริง บาปมีจริง เพราะฉะนั้นผีมันก็จะไปแทรกอยู่ในทุกอย่าง ทั้งวัฒนธรรม ความเชื่อ อะไรสารพัด ทีนี้พอเวลาเขียนเป็นการ์ตูนออกมามันก็เลยได้อารมณ์กว่าอย่างอื่น ชีวิตวันธรรมดาคนจะทำล่มจมเสียหายตายทั้งบ้านอะไรก็แล้วแต่ แต่ผีมันก็ยังอมตะ มันก็ยังมีอยู่จนทุกวันนี้”
หญิงสาวทรงโตจุดขายของการ์ตูนผี
“มันเป็นจุดขาย มันเป็นจุดขายจะไปแฟ่บๆ แบบนั้นมันก็ไม่สุนทรียภาพเวลาดู พระเอก นางเอก ก็ต้องสวยงาม ตัวร้ายก็ต้องอึ๋มๆ หรือตัวดีก็อึ๋มๆ ได้เหมือนกัน มันเป็นจุดขายของจิตรกรเขา แต่ในเนื้อเรื่องจริงก็คละเคล้ากันไป ผมก็ถนัดทางอึ๋มๆ ถ้าผอมๆ ไม่มีเลยมันก็ไม่ใช่ผู้หญิง มันก็จะเหมือนผู้ชายไป มันดูแล้วไม่ได้อารมณ์ว่างั้นเถอะ แค่นั้นเองถ้ามีอึ๋มๆ จุดขาย (หัวเราะ)”
เบื้องหลังความสยองแฝงด้วยคติธรรมสอนใจ
“บางคนอ่านการ์ตูนเล่มละบาททำให้ตัวเองคิดได้ก็มีนะ ทำให้ตัวเองคิดได้ก็มีบางทีอ่านการ์ตูนเล่มละบาท บางทีเรื่องมันเข้าทางตัวเองบางคนก็เปลี่ยนชีวิตได้เลยก็มี สมัยเล่มละบาทมีอิทธิพลคนว่างๆ ก็ไม่รู้จะอ่านอะไร บางทีอ่านเล่มเดียว 2-3 รอบ ทิ้งแผละคนนี้เอาไปอ่าน คนนั้นก็เอาไปอ่าน มันก็ไม่มีใครเก็บ มันก็สูญหายไปแต่ว่าเรื่องที่ตัวเองมันเข้าไปอยู่ในสมองแล้ว นี่แหละคือจุดสำคัญของการ์ตูน ของสิ่งที่เราสื่อออกมาให้คนอ่านว่าถ้าทำบาปทำกรรมมันก็มีผลกระทบนะ ความเชื่อนี่แหละมันทำให้เรารู้ว่าถ้าเขียนมาเป็นการ์ตูน บางทีมันก็ไปเข้ากับชีวิตบางคนได้เหมือนกันและเปลี่ยนแปลงชีวิตบางคนได้เหมือนกัน”
“มันมีแทรกอยู่ในนั้น มันมีมานานแล้วผีมันมีตั้งแต่ยุคโบราณผีมันก็คือวิญญาณของคน พอคนตายไปร่างสลายไปวิญญาณคนยังเปลี่ยนไปเกิดชาตินั้นชาตินี้ ข้ามภพข้ามชาติ ย้อนไปย้อนมา มันก็เปิดทางให้พวกผมแต่งเรื่องได้สารพัดเพิ่มเข้าไปอีกใช่ไหมล่ะ มันไม่มีวันตาย”
“ผีมันยังคงอยู่ มันจะมารูปแบบไหนเท่านั้นเอง เปรตตอนนี้ก็ยังมีอยู่ มีทั้งเปรตในป่า เปรตในถ้ำ เปรตในวัด ทำไมเปรตต้องไปอยู่ในวัด เพราะส่วนมากคนที่ก่อนตายเป็นเปรตทำต้องไปบาปกรรมอะไรอยู่ในวัดนั่นแหละ ขโมยกินข้าวพระ ขโมยเงินวัด ลักเล็กขโมยน้อยในวัดตายไปเป็นเปรต วิญญาณไม่ไปไหน เขายังไม่เอาไปลงนรกเขาให้มารับโทษเป็นเปรตเป็นอะไรให้คนเห็นบ้างไม่ให้คนเห็นบ้าง อดอยากปากแห้งลำบากตรากตรำเพื่อเตือนให้คนรุ่นหลังรู้ว่าทำบาปจะเหมือนมันนะเป็นเปรต นี่แหละคือจุดสำคัญของการ์ตูน ของสิ่งที่เราสื่อออกมาให้คนอ่านว่าถ้าทำบาปทำกรรมมันก็มีผลกระทบนะ”
รุ่งเรืองและโรยรา
แม้ในอดีตการ์ตูนเล่มละบาทจะได้รับความนิยมมากแค่ไหนแต่การเข้ามาของสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ต ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การ์ตูนเล่มละบาทมาถึงจุดสิ้นสุด
“ผมว่ามันไม่ได้ถึงจุดอิ่มตัวหรอก เขาบอกกระดาษมันแพงวงการนี้เจ้าของโรงพิมพ์เขาจะรู้ บอกว่าไม่ไหวก็คือไม่ไหวเอาเป็นกระโดดเลยเป็น 5 บาทเลย แต่ว่ารวม 2-3 เรื่องของคนอื่นด้วย เมื่อก่อนเล่มละบาทนี่โดดๆ ของใครของมัน พอพิมพ์ 5 บาทเสร็จปุ๊บ กระโดดเลยเป็น 49 บาท เอาทั้งพิมพ์เมื่อสมัย 10 ปีที่แล้วมาพิมพ์รวมผสม บางทีข้างหน้าก็เรื่องเดิมข้างหลังก็ยังเรื่องเดิมอยู่ก็มี มันมั่วไปหมด พอมีสมาร์ทโฟนคราวนี้โรงพิมพ์ไปก่อน โรงพิมพ์ใหญ่ๆ ที่เขาขายยอดสูงๆ ไปไม่รอด อย่างผมพวกโรงพิมพ์ชั้นกลางก็หมดไปเหมือนกัน ก็เลยไม่มีอีกแล้ว”
“พวกการ์ตูนลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของใครของมันอย่างผม ลายเส้นจะไม่เหมือนกันนะ เขียนการ์ตูนลายเส้นจะไม่เหมือนกัน มันดูที่ลายเส้น ทีนี้เด็กรุ่นใหม่เขาจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เขาจะออกไปทางญี่ปุ่น การ์ตูนเล่มละบาทเอกลักษณ์มันจะเป็นสีน้ำสดใสดึงดูดสายตาอย่างนี้ ถ้าเป็นพวกโปสเตอร์หนังต้องเป็นสีโปสเตอร์เหมือนเป๊ะ แต่พวกปกการ์ตูนจินตนาการเอาทั้งนั้น”
“มันรั้งไม่อยู่แล้วครับ เพราะว่าค่าพิมพ์ตอนนี้มันแพง อย่างสันกาวตกเล่มเท่าไร ถ้าคุณมาขายเล่มละ 20-30 บาทตายเลย ต้องขายอย่างน้อยสุดต้อง 100 ไม่ก็ 50 บาท เพราะค่าพิมพ์มันกินไปเยอะ หนังสือที่อยู่ได้ตอนนี้ต้องหนังสือแบบพรีเมียมคนที่รู้จักจริงๆ มันก็ตามยุคไปใครก็ดูข่าวจากมือถือกันหมด สมาร์ทโฟนหมด เดี๋ยวนี้ร้านขายการ์ตูนญี่ปุ่นยังหายไปเยอะเลย มันก็เหมือนกัน แต่เขาก็พลิกแพลงของเขาได้เหมือนกัน แต่คนรุ่นใหม่อย่างพวกเราการ์ตูนก็คงจะพัฒนาไปตามยุคตามสมัย ผมยังคิดไม่ถึงว่ามันจะไปทางไหน แต่ลายเส้นผมดูแล้วเริ่มจะแปร่งๆ ไปทางญี่ปุ่นหมดแล้ว โดนกลืนไปแล้ว”
โต้ด โกสุมพิสัย นักวาดการ์ตูนไทย