วันที่ 15 พฤศจิกายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสมณศักดิ์ รายละเอียดสำคัญสุด คือ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะใหม่สองรูป
หนึ่งในนั้น คือ สถาปนา พระพรหมจริยาจารย์ วัดกะพังสุรินทร์ พระอารามหลวง จ.ตรัง ขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ สุวิธานศาสนกิจโกศล วิมลสีลาจารนิวิฐ วิจิตรธรรมปสาทกร สุนทรทักษิณคณมหานายก ตรีปิฎกวราลงกรณ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี
สมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ) เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2471 ที่ อ.นาโยง จ.ตรัง ปัจจุบันมีอายุ 93 ปี (พรรษา 73) ในด้านการศึกษาเล่าเรียน ท่านได้ศึกษาแผนกบาลีจนถึงระดับเปรียญธรรม 7 ประโยค และเป็นนักธรรมชั้นเอก
ด้านสมณศักดิ์ พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญที่ พระปิฎกคุณาภรณ์ พ.ศ. 2527 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปริยัตยาภรณ์ พ.ศ. 2536 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวิมลเมธี พ.ศ. 2542 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมรัตนากร พ.ศ. 2550 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏที่ พระพรหมจริยาจารย์
นับจาก พ.ศ.2550 เป็นต้นมา มหาเถรสมาคมยังได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ ตั้งแต่เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพรหมจริยาจารย์ ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่หนใต้ ซึ่งนับเป็น “เจ้าคณะใหญ่” รูปแรกสุดที่พำนักอยู่ในต่างจังหวัด – ส่วนภูมิภาค เนื่องจากมหาเถรสมาคมเห็นว่าควรให้คณะสงฆ์พื้นที่ภาคใต้ได้บริหารจัดการและดูแลกันเอง
สมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ เคยกล่าวภายหลังได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เจ้าคณะใหญ่หนใต้ว่า
“ไม่รู้สึกดีใจ แต่รู้สึกภาคภูมิใจ เพราะตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเพศบรรพชิต ไม่เคยไขว่คว้ายศ ตำแหน่ง และสมณศักดิ์ ถึงแม้จะอยู่ระดับไหนก็ตาม ก็ตั้งใจทำงานเพื่อพระพุทธศาสนามาโดยตลอด โดยเฉพาะงานด้านการศึกษาและการเผยแผ่ ซึ่งถือเป็นเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา เพราะการที่จะมีพระภิกษุ สามเณรที่ดี ก็ต้องอาศัยการศึกษาเป็นพื้นฐาน และที่สำคัญรู้สึกภาคภูมิใจแทนคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนในภาคใต้ ที่ได้รับความไว้วางใจจากพระผู้ใหญ่ที่ให้มารับหน้าที่สำคัญนี้”
สมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ กล่าวภายหลังได้รับแต่งตั้ง
นอกจากนั้น ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 สมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ยังถือเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปแรกสุดของคณะสงฆ์ไทย ที่สถิตอยู่ ณ ภาคใต้ และจังหวัดที่ห่างไกลจากกรุงเทพมหานคร
โดยก่อนหน้านี้ มีสมเด็จพระราชาคณะเพียงสองรูปเท่านั้นที่พำนักอยู่ในวัดนอกเขตกรุงเทพฯ คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) วัดศาลาปูนวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา (ครองสมณศักดิ์ดังกล่าวระหว่าง พ.ศ.2422-2427) และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม (ครองสมณศักดิ์ดังกล่าวระหว่าง พ.ศ.2559-ปัจจุบัน)