“นักเขียนไทย สู้ต่างชาติได้จริงไหม?” เป็นคำถามที่หลายคนอาจสงสัย ทั้งที่นักเขียนไทยหลายคน ก็มีฝีมือไม่แพ้ใคร แต่ทำไมยังไม่ค่อยเห็นวรรณกรรมไทยไปไกลถึงตลาดโลก ในขณะที่หลายประเทศมีวรรณกรรมเป็นซอฟต์พาวเวอร์และเป็นสินค้าส่งออก เช่น เกาหลีใต้ที่ผลักดัน Webtoon และนิยายออนไลน์สู่ K-Drama และ K-Series ญี่ปุ่นที่เปลี่ยนมังงะและไลต์โนเวล (Light Novel) ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ เช่นเดียวกับจีนที่ส่งออกวรรณกรรมออนไลน์โกยรายได้มหาศาลจากทั่วโลก และถึงแม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยจะคึกคักขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะจากกระแสนิยายวายที่ถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์โด่งดังไปทั่วโลก แต่วรรณกรรมไทยที่ได้รับการแปลและตีพิมพ์ในต่างประเทศต้องยอมรับว่ายังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

ในโอกาสฉลองครบรอบ 20 ปี สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ศูนย์การเรียนรู้ที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจให้นักอ่านและนักเขียนที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานได้เชิญพิม หวังเดชะวัฒน์ นักเขียนไทยที่สามารถพาผลงานไปสู่เวทีระดับโลก เจ้าของผลงาน The Moon Represents My Heart – เราต่างเป็นดวงจันทร์อันโดดเดี่ยว นวนิยายที่ได้รับการแปลและตีพิมพ์ถึง 6 ภาษา ทั้งไทย อินโดนีเซีย รัสเซีย สเปน อิตาลี และ ตุรกี และถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปพัฒนาเป็นซีรีส์ทาง Netflix มาร่วมพูดคุย บอกเล่าประสบการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น รวมถึงโอกาสและอุปสรรคที่วงการนักเขียนไทยต้องเผชิญ พร้อมเปิดเวิร์กช็อปสุดพิเศษ “หนังสือไทยสู่ตลาดโลก” ที่เจาะลึกเทคนิคการสร้างสรรค์งานเขียน สร้างความประทับใจ และแนวทางการส่งออกวรรณกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมตอบคำถามที่หลายคนสงสัย “นักเขียนไทย สู้ต่างชาติได้ไหม?” “อยากเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จในระดับสากลต้องทำอย่างไร?” และงานเขียนแบบไหนที่มีโอกาสโดนใจในระดับสากล?

นักอ่าน ต้นทุนสำคัญของการเป็น “นักเขียนมือทอง”  

จากความสำเร็จแบบถล่มทลายและเหนือความคาดหมายของ The Moon Represents My Heart – เราต่างเป็นดวงจันทร์อันโดดเดี่ยว ผลงานเขียนชิ้นแรกของนักเขียนหน้าใหม่อย่าง พิม หวังเดชะวัฒน์ จนอาจดูเหมือนเป็นความบังเอิญหรือความโชคดี แต่หากดูกันจริงๆ แล้ว จะพบว่านี่ไม่ใช่ความสำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้พิมสะสม “ต้นทุน” การเป็นนักเขียนไว้ตั้งแต่เยาว์วัย และไม่เคยหยุดนิ่งที่จะไขว่คว้าหาโอกาส

พิมย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนว่า ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ และเป็นนักอ่านตัวยง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร สิ่งที่มีติดมืออยู่ตลอดเวลาจนพ่อของเธอต้องบอกให้วางลงบ้าง คือ “หนังสือ”

ความรักการอ่านทำให้เธอซึมซับศิลปะของการเล่าเรื่อง ฝึกจินตนาการ เกิดแรงบันดาลใจ และกลายมาเป็นความฝันที่อยากเป็นนักเขียนในที่สุด แต่กว่าจะก้าวไปสู่เวทีระดับสากลและประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ เส้นทางของพิมก็เต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทาย หนึ่งในนั้นคือข้อจำกัดของวงการวรรณกรรมไทยที่ยังไม่ค่อยเปิดกว้างและขาดระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่ง ทำให้การจะเป็นนักเขียนอาชีพดูเป็นเรื่องยาก

พิม หวังเดชะวัฒน์ 

“รู้ตัวว่าอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็กๆ แต่พอโตขึ้นมาแทบไม่รู้จักใครเลยที่อยากเป็นนักเขียน ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน ทำอย่างไร ในขณะที่ต่างประเทศ มีทุนสนับสนุน มีคลาสเรียน มีเวิร์กช็อปสอน แต่ประเทศเราแทบจะไม่มีสิ่งเหล่านี้… จนกระทั่งได้ไปเรียนด้านการเขียนโดยตรงที่ต่างประเทศ ทำให้ได้เจอคนมากมายที่อยากเป็นนักเขียนเหมือนกัน ก็รู้สึกถึงความแตกต่าง”

มองอุปสรรคนักเขียนไทย กับเวทีอินเตอร์

พิมมองว่า จริงๆ แล้วนักเขียนไทยหลายคนมีพรสวรรค์ มีความสามารถไม่แพ้ใคร แต่ด้วยธรรมชาติของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดที่ทำให้การพาผลงานไปสู่ตลาดโลกเป็นเรื่องยาก อย่างเช่น การจะมีผลงานตีพิมพ์ในต่างประเทศได้ต้องมีเอเจนต์ (Literary Agent) ที่ช่วยผลักดันผลงานของนักเขียนไปสู่สำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ และตลาดโลกได้ แต่ในไทยยังไม่ค่อยมี นักเขียนส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนด้วยตนเอง มีภาษาเป็นกำแพงใหญ่ แม้ผลงานของนักเขียนไทยหลายคนจะมีศักยภาพ แต่หากไม่ได้รับการแปลหรือแปลอย่างไม่มีคุณภาพ โอกาสในการเข้าถึงตลาดโลกก็ยิ่งน้อย วรรณกรรมไทยส่วนใหญ่จึงยังจำกัดอยู่แค่ตลาดในประเทศและสุดท้ายขึ้นอยู่กับความสนใจของสำนักพิมพ์ เพราะถึงแม้ผลงานจะดีแค่ไหนแต่การที่สำนักพิมพ์จะสนใจและตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ไปตีพิมพ์ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพเพียงอย่างเดียว เช่นหากสำนักพิมพ์มีนักเขียนที่ทำรายได้สูงอยู่แล้ว ก็อาจเลือกลงทุนกับนักเขียนเหล่านั้นมากกว่าผลงานของนักเขียนใหม่ๆ ทำให้นักเขียนฝีมือดีหลายคน แม้จะมีผลงานดีก็ไม่ได้การันตีว่าจะได้รับการตีพิมพ์ ขณะเดียวกันการได้รับการตีพิมพ์ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าจะเป็นผลงานที่มีคุณภาพเสมอไป

“ตลาดในต่างประเทศการแข่งขันสูงมาก กว่าผลงานชิ้นหนึ่งจะเดินทางมาถึงจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จจะต้องผ่านหลายด่าน ตั้งแต่กว่าจะเสนอผลงานให้เข้าตาเอเจนต์และเลือกเอเจนต์ที่เหมาะสมก็ยาก ได้เอเจนต์แล้วกว่าสำนักพิมพ์จะสนใจและเลือกไปตีพิมพ์ก็ยากอีกขั้น พิมพ์ออกมาแล้วจะมีคนอ่านไหม ขายดีไหม ก็ยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง” พิมกล่าว

เมื่อถูกถามต่อไปว่าหากต้องการให้วงการนักเขียนไทยเติบโตและแข่งขันในระดับสากลได้ควรทำอย่างไร  พิมมองว่า อาจไม่ใช่แค่การวางระบบสนับสนุนนักเขียนในปัจจุบัน แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนตั้งแต่รากฐานโดยเริ่มจากการปลูกฝังการอ่าน สร้างวัฒนธรรมที่ทำให้การอ่านหยั่งรากลึกในสังคมไทย เพราะการอ่านเป็นจุดเริ่มต้นของความคิด ส่งเสริมจินตนาการ และสร้างแรงบันดาลใจ แต่สภาพแวดล้อมของสังคมไทยยังไม่ค่อยเอื้อต่อการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเท่าไรนัก พื้นที่ที่กระตุ้นให้เด็กเติบโตมากับหนังสือยังมีน้อย และระบบการศึกษาไทยก็ยังไม่ส่งเสริมการอ่านเท่าที่ควร

“ตอนเด็กๆ รู้สึกว่าที่โรงเรียนยังไม่ค่อยมีการเรียนการสอนที่ช่วยสนับสนุนให้เด็กรักการอ่าน เช่น ให้อ่านหนังสือแล้วมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าทำไมชอบหนังสือเล่มนี้ หรือการฝึกให้เด็ก ๆ หัดเขียน เขียนเรียงความ เขียนบรรยายความคิดตัวเอง หรือเขียนเพื่อฝึกฝนจนตนาการและความคิดสร้างสรรค์ รู้สึกว่าเป็นวัฒนธรรมที่ยังขาดอยู่ในเมืองไทยที่จะช่วยให้การอ่านและการเขียนของเราแข็งแรงขึ้น ทำให้เด็กไทยจำนวนมากไม่ได้ซึมซับนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ นอกจากนี้ระบบการศึกษาไทยยังให้ความสำคัญกับการเรียนสายวิทยาศาสตร์มากกว่าสายศิลป์ ทำให้การพัฒนาทักษะด้านภาษาและความคิดสร้างสรรค์มักจะถูกมองข้าม ซึ่งหากเราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เด็ก ๆ รักการอ่านได้ ตั้งแต่เล็กๆ พวกเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และมีทักษะการเขียนที่ดีโดยธรรมชาติซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาวงการนักเขียนไทยในระยะยาว เพราะเชื่อว่าไม่มีนักเขียนคนไหนไม่เคยเป็นนักอ่านมาก่อน” พิมกล่าว

นักเขียนไทยจะฝ่าฟันไปสู่ตลาดโลกได้อย่างไร?

นอกจากร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองและความเห็นที่น่าสนใจแล้ว พิม ยังได้เปิดเวิร์กช็อปสุดพิเศษ “หนังสือไทยสู่ตลาดโลก” ที่เจาะลึกเทคนิคการสร้างสรรค์งานเขียน สร้างความประทับใจ และแนวทางการส่งออกวรรณกรรมไทยสู่ระดับสากล ครอบคลุมตั้งแต่เทคนิคการสร้างพล็อตเรื่องและตัวละครที่มีมิติให้เข้ากับแนวทางของตลาดโลก การเขียน Cover Letter และการนำเสนอต้นฉบับให้เอเจนต์และสำนักพิมพ์สนใจจนได้รับการตีพิมพ์ การทำงานร่วมกับบรรณาธิการและเอเจนต์ระดับโลก และความสำคัญของการแปลเพื่อให้วรรณกรรมไทยสามารถไปไกลในเวทีระดับโลก

พร้อมแนะนำแนวทางการเขียนสำหรับใครที่อยากโกอินเตอร์ว่า“อยากแนะนำให้เขียนในสิ่งที่เราเชื่อ เรื่องราวที่เราอยากเล่า เรื่องที่เราภาคภูมิใจ เรื่องที่เป็นตัวของเราเอง แม้จะยังไม่แน่ใจว่าเรื่องของเราจะได้รับความสนใจมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าถ้าเราเล่าเรื่องที่มาจากประสบการณ์ มาจากความรู้สึก และถ่ายทอดออกมาด้วยหัวใจ มันจะมีพลังบางอย่างที่ทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมหรืออินกับมันได้ เชื่อว่างานเขียนที่ออกมาจากความจริงใจจะทัชใจผู้อ่านได้ในที่สุด และที่สำคัญ ต้องเตรียมใจยอมรับการถูกปฏิเสธเพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ถูกปฏิเสธมาเยอะมาก ต้องอดทน เชื่อมั่น อย่าสูญเสียกำลังใจหรือเสียความมั่นใจในตัวเอง” 

เรื่องราวของ พิม หวังเดชะวัฒน์ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การอ่านคือรากฐานของการเขียน และเป็นก้าวแรกสู่ความสำเร็จของนักเขียนทุกคน หากต้องการให้วงการวรรณกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับสากลต้องเริ่มจากสร้างสังคมที่รักการอ่าน

TK Park แหล่งปั้นคนมีคมคิดจากการอ่าน และแหล่งบ่มเพาะนักเขียนคุณภาพ

นายวัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park กล่าวว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาTK Park ในฐานะ “ศูนย์กลางการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์” ได้มุ่งมั่นผลักดัน TK Park ให้เป็นพื้นที่ที่ช่วยสร้างระบบนิเวศของการอ่านและการเขียนแบบครบวงจร ตั้งแต่สร้างพื้นที่ให้คนรักการอ่านได้เข้าถึงหนังสือด้วยคลังหนังสือคุณภาพ และพื้นที่การอ่านที่ทันสมัย มีชีวิตชีวา สนับสนุนการพัฒนาทักษะการเขียน ผ่านกิจกรรมฝึกอบรม และเวิร์กช็อปมากมาย พร้อมการพบปะนักเขียนมืออาชีพ บ่มเพาะนักเขียนรุ่นใหม่ สานฝันให้แก่เยาวชนที่มีความสนใจในอาชีพนักเขียนให้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรมได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจนสามารถพัฒนาและต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานเขียนได้สำเร็จ

นายวัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park
นายวัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park

และล่าสุดTK Park ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ ซึ่งอยู่ภายใต้ คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ทำให้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวกับการอ่าน การเขียน และการพัฒนานักเขียนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศการอ่านที่แข็งแกร่งเพื่อผลักดัน “หนังสือ” ให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย

“ความมุ่งหวังของ TK Park คือ อยากเห็นวรรณกรรมไทยได้รับการแปลและตีพิมพ์ในหลายภาษา หนังสือไทยมีโอกาสไปไกลกว่าแค่ตลาดภายในประเทศ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของคอนเทนต์ที่สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือแอนิเมชัน เช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีนกำลังทำอยู่

“สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้องอาศัยการวางรากฐานที่มั่นคง และ TK Park กำลังทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างรากฐานนั้น เพราะเราเชื่อว่าวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแกร่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์งานเขียนที่มีคุณค่า และงานเขียนที่มีคุณค่าจะช่วยขับเคลื่อนวงการวรรณกรรมไทยให้แข่งขันได้ในระดับสากลและเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศ” นายวัฒนชัย กล่าวทิ้งท้าย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก