ทุกวันนี้จะทำธุรกรรมอะไรต้องรอบคอบปลอดภัยไว้ก่อน เพราะว่าพี่มิจเขาขยันหาช่องทางใหม่ๆ ในการหลอกล่อเหยื่อให้หลงเชื่อซึ่งมาหลายรูปแบบทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์, สแกมเมอร์ และแอปพลิเคชันดูดเงิน หรือแม้แต่การเซ็นเอกสารสำคัญก็ควรรายละเอียดให้ครบก่อนมิเช่นนั้นอาจสูญเงินโดยไม่รู้ตัว
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกมาให้คำแนะนำวิธีเซ็นกำกับสำเนาถูกต้องบนบัตรประชาชนอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยและไม่ถูกนำไปใช้ทำธุรกรรมผิดกฎหมาย เพราะบัตรประชาชนเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ติดต่อราชการและหน่วยงานเอกชนต่างๆ หากถูกแอบอ้างย่อมเดือดร้อนเป็นแน่
- การถ่ายบัตรประชาชนควรถ่ายแค่หน้าบัตรประชาชนเท่านั้น ห้ามถ่ายหลังบัตร เพราะด้านหลังมีรหัสบัตร เลขหลังบัตร เรียกว่า Laser ID (รหัสกำกับบัตรประจำตัวประชาชน) ใช้ยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินทั้งหมดได้
- ขีดเส้นคร่อมสองเส้นบนตัวบัตร แต่ห้ามขีดทับรูปหน้าเราเพราะรูปที่ถ่ายเอกสารบางทีหน้าเราก็ไม่ชัดอยู่แล้ว ถ้าขีดเส้นทับจะทำให้การยืนยันตัวตนยากไปอีก ขีดทับข้อมูลสำคัญๆ เพื่อให้การแอบอ้างหรือปลอมแปลงยากขึ้นก็พอ
- ระหว่างเส้นที่ขีดคร่อม ให้เขียนว่า “ใช้สำหรับสมัครงานเท่านั้น” หรือ “ใช้สำหรับค้ำประกันเท่านั้น” ฯลฯ เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
- ควรใส่เขียนสัญลักษณ์ # ปิดหัว-ปิดท้ายประโยคเพื่อป้องกันการเติมข้อความ
- เขียน วัน เดือน ปี ที่เซ็นลงไป เพราะถ้าเราไม่เขียน มิจฉาชีพจะสามารถนำเอกสารไปใช้ได้
- เขียน “สำเนาถูกต้อง” พร้อมกับเซ็นชื่อของตัวเอง ซึ่งข้อนี้เชื่อว่าทุกคนทำกันอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่อาจจะเซ็นตรงพื้นที่ว่างข้างล่าง แต่วิธีเซ็นที่ปลอดภัยคือเซ็นทับไปบนบัตร
การเซ็นรับรองสำเนาบัตรประชาชนสำคัญมาก เพราะเอกสารเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในนิติกรรมที่ผูกพันเจ้าของ
บัตรได้
![](https://feedforfuture.co/wp-content/uploads/2025/02/476400349_1046291667542173_6136719932020487803_n-724x1024.jpg)
ข้อมูลจาก :: สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี