เวลาหาข้อมูลเที่ยวบินก่อนออกเดินทาง หลายคนคงสงสัยที่มาของชื่อย่อเที่ยวบินมีที่มายังไง วันนี้บางกอกแอร์เวย์ส ขออาสาแบ่งปันเกร็ดความรู้ กับโค้ด (ไม่) ลับ ฉบับนักเดินทาง ที่จะพาทุกคนทำความรู้จักและคลายข้อสงสัยกับสารพัดตัวย่อชื่อสายการบิน “IATA Code” และรหัสสนามบิน หรือที่เรียกกันว่า“IATA Airport Code” จะมีความสำคัญอย่างไรบ้างนั้น ติดปีกโบยบินพร้อมไปอินไซต์กันได้เลย
ไขรหัสตัวย่อ สายการบิน “IATA Code” มีประโยชน์กว่าแค่ใช้ค้นหาข้อมูลเที่ยวบิน
ก่อนออกเดินทางหากลองสังเกตรายละเอียดบนบอร์ดดิ้งพาส นักเดินทางหลายคนคงจะรู้จักหมายเลขรหัสเที่ยวบิน (Flight Number) กันดีอยู่แล้ว แต่รู้หรือไม่ว่ารหัสอักษรภาษาอังกฤษ 2 ตัวนำหน้าตัวเลขนั้นเป็นโค้ดย่อของรหัสสายการบิน หรือที่เรียกกันในแวดวงการบินว่า “IATA code” (ไอ-อา-ต้า โค้ด) ที่ผู้โดยสารใช้กันเวลาขึ้นเครื่องบิน เช่น เที่ยวบิน “PG 117” โดยอักษร PG เป็นตัวย่อของชื่อ“สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส”เป็นโค้ดที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ( The International Air Transport Association: IATA) ซึ่งกำหนดโค้ดอักษรย่อให้ไม่ซ้ำกันในแต่ละสายการบิน อย่างไรก็ตาม สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (Bangkok Airways) จะใช้ตัวอักษรย่อว่า BA เป็นชื่อย่อที่ใช้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย (หุ้น) BA เป็นชื่อเรียกที่รู้จักกันดีสำหรับกลุ่มนักลงทุน นักวิเคราะห์การลงทุนในตลาดหุ้น
นอกจาก IATA Code จะสามารถใช้เพื่อประโยชน์ในการค้นหาข้อมูลเที่ยวบินหรือตรวจสอบสถานะเที่ยวบินแล้ว สายการบินต่าง ๆ ยังสามารถใช้อักษร 2 ตัวนี้ในการทำธุรกรรม เช่น การจองตั๋ว ออกตั๋วโดยสาร ตารางเที่ยวบิน ภาษี และการขนส่งสินค้ารวมถึงยังสามารถใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันในแต่ละประเทศได้อีกด้วย ตัวอย่าง IATA Code ของสายการบินพันธมิตรของบางกอกแอร์เวย์สในปัจจุบัน เช่น กาตาร์แอร์เวย์ – Qatar Airways: QR, เอมิเรตส์แอร์ไลน์ – Emirates Airlines : EK, อีวีเอแอร์ – EVA Air : BR และแควนตัส – Qantas : QF เป็นต้น
จุดหมายปลายทาง “IATA Airport Code” กับอักษรละตินที่ซ่อนอยู่ในตัวย่อ 3 ตัว
จุดหมายปลายทาง หรือสนามบินที่เมืองนั้น ๆ ตั้งอยู่ จะมีรหัสสนามบิน ซึ่งไออาต้าก็ได้มีการบัญญัติรหัสท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์หรือ “IATA Airport Code” ไว้เช่นกัน โดยใช้อักษรย่อเป็นภาษาละติน 3 ตัวที่ปรากฏในข้อมูลบอร์ดดิ้งพาส โดยทั่วไปจะอิงจากชื่อเมืองที่สนามบินนั้น ๆ ตั้งอยู่ หรืออาจใช้อักษรย่อของอำเภอ และแขวงของที่ตั้งสนามบินมาใช้ประกอบในการตั้งชื่อโค้ด เพื่อใช้ประโยชน์ในการสื่อสารที่กระชับและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น อักษรย่อของสนามบินฮ่องกง = HKG สนามบินสุวรรณภูมิ = BKK สนามบินดอนเมือง = DMK สนามบินสมุย = USM สนามบินตราด = TDX และสนามบินสุโขทัย = THS เป็นต้น ดังนั้น ชื่อย่อของรหัสสนามบิน IATA Airport Code จึงอาจดูไม่เหมือนชื่อจังหวัดอย่างที่ทุกคนคุ้นเคย
เพราะชีวิตคือการเดินทางที่แสนพิเศษ“Life is a Journey, Travel it well…” ให้รางวัลตัวเองกับการเดินทางท่องเที่ยว พร้อมออกไปเปิดประสบการณ์กับบางกอกแอร์เวย์ส ได้แล้ววันนี้ ติดตามข้อมูลโปรโมชันสุดคุ้ม พร้อมสาระน่ารู้และข้อมูลการท่องเที่ยวได้ทางเว็บไซต์ https://www.bangkokair.com