ปัจจุบันประชากรโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหาขยะมากขึ้น เหล่านี้ไม่เพียงส่งผลให้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป แต่ยังขยายความรับผิดชอบและการตระหนักรู้ไปยังบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ด้วย
ด้วยเหตุนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงเดินหน้าจัดกิจกรรม ‘PackBack in Action ปี 3 รวมพลังเดินหน้า: The Drive for EPR in Thailand’ เพื่อประกาศเจตจำนงผลักดันการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ภายใต้หลักการ ‘EPR’
EPR คือ หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่างๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่การเริ่มต้นคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดส่งกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการการใช้งานได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืนที่สุด
ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน EPR ได้กล่าวถึงนโยบายภาครัฐต่อการขับเคลื่อน EPR ในประเทศไทยว่า ทส. มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบ EPR ด้านบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยมาโดยตลอด จึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมมือกันในการจัดทำนโยบาย EPR ที่เหมาะสม
“กระทรวงทรัพยากรฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนดร่างกรอบแนวทาง มาตรการในการจัดการบรรจุภัณฑ์ และการเสนอกลไกทางเศรษฐศาสตร์ การพิจารณากฎหมาย รวมถึงมีการจัดทำคณะทำงานพัฒนามาตรการจูงใจ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR ผ่านโครงการสำคัญต่างๆ อาทิ การสนับสนุนการดำเนินการในภาคสมัครใจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การพัฒนาแนวทางการดำเนินงานด้าน EPR และการจัดเตรียมข้อมูลและคัดข้อมูล ไปจนถึงการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาสภาพภูมิอากาศ ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพในที่สุด”
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยถึงแนวทางในการร่วมผลักดัน EPR ต่อภาคอุตสาหกรรมไว้ว่า นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ส.อ.ท. ได้ร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน จัดทำโครงการ PackBack ครั้งนี้ นับเป็นการเดินหน้าไปอีกขั้น กับงาน ‘PackBack in Action ปี 3 รวมพลังเดินหน้า: The Drive for EPR in Thailand’ เพื่อแสดงเจตจำนงการใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน โดยมีผู้ประกอบการไทยกว่า 149 องค์กร มาร่วมแสดงพลังความยิ่งใหญ่มุ่งพัฒนาผลักดัน EPR ภายใต้นโยบาย ONE FTI (ONE Vision, ONE Team, ONE Goal) ทุกภาคส่วนต้องร่วมเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อเกิดการบูรณาการความคิด นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ในรูปแบบใหม่ๆ
นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ได้พูดถึงการขับเคลื่อน EPR โดยภาคเอกชนว่า การพัฒนา EPR ทางด้านบรรจุภัณฑ์ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทางภาครัฐให้โอกาสภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ตั้งแต่กระบวนการคิด การออกแบบ ร่วมทดลอง และการดำเนินการ
ในขณะที่ TIPMSE เป็นหน่วยงานภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มีการผลักดันขับเคลื่อน ETR อย่างจริงจังผ่านกิจกรรมและโครงการมากมาย รวมไปถึงการร่างกฎหมาย TIPMSE ก็เป็นหนึ่งในตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าไปนำเสนอความคิดเห็น เพื่อพัฒนาร่างกฎหมายให้มีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ โดย TIPMSE มีการนำทีมสมาชิกมาออกความเห็น ตลอดจนรวบรวมความคิดเห็นจากสมาชิกสภาอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาร่างกฎหมายที่สามารถปฏิบัติได้จริงหลังประกาศใช้
นอกจากนี้ TIPMSE ยังพัฒนามาตรการจูงใจ ให้เป็นเครื่องมือจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมให้มากขึ้น มีมาตรการส่งเสริมในแง่ของภาครัฐ มาตรการทางการเงิน การพัฒนาระบบการจัดการข้อมูล และในปี 2567 นี้ยังมีการขยายพื้นที่ทดลองต้นแบบ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้ผู้บริโภคต่อไป
การพัฒนา EPR ในประเทศไทยจะยั่งยืนและแข็งแกร่งได้ ล้วนเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนที่มารวมกันทำให้เกิดปรากฏการณ์การทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม