“แซนด์วิช เจเนอเรชั่น” (Sandwich Generation) มักใช้เรียกคนที่อยู่ตรงกลาง วัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 35 – 60 ปี คนกลุ่มนี้ต้องรับผิดชอบดูแลทั้งพ่อแม่สูงอายุ และดูแลครอบครัวของตนเอง ทั้งเรื่องการเงิน ร่างกาย จิตใจ และทรัพยากรด้านอื่นๆ ซึ่งวิกฤต Sandwich Generation ส่วนหนึ่งเกิดจากประชากรสูงวัยทั่วโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่วัยแรงงานมีจำนวนลดลง หรือเท่าเดิม ทำให้ประชากรของหลายประเทศทั่วโลกตกเป็นกลุ่ม Sandwich Generation
โดยจากผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า มีประชากรเกือบ 1 ใน 4 ของประเทศที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ประชากรกลุ่มนี้มีแนวโน้มมีปัญหาทางการเงินเพิ่มเป็นสองเท่าของประชากรทั่วไป รวมถึงมีแนวโน้มเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคนที่ดูแลแค่ผู้สูงอายุเท่านั้น
ความน่ากังวลสำหรับคนที่อยู่ใน Sandwich Generation คือความเครียด และภาระที่ต้องรับผิดชอบทางการเงิน ที่นอกจากลูก และพ่อแม่แล้วยังต้องสร้างทรัพย์สินเพื่อดูแลตัวเองกับคู่สมรสไปด้วย ที่เรียกได้ว่าต้องหาเงินถึง 3 เท่า! ยิ่งไปกว่านั้นในบางครั้งพวกเขายังเป็นตัวกลางที่ต้องดูแลความรู้สึกของทุกๆ คนในครอบครัวไปด้วย
Sandwich Generation เกิดจาก โครงสร้างประชากร ที่กำลังเปลี่ยนเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มตัว ขณะที่วัยทำงานมีสัดส่วนน้อยลง เมื่อเทียบกับคนวัยเกษียณ ทำให้ภาระการดูแลชีวิตยามเกษียณของคนรุ่น Baby Boomer ตกมาสู่คนรุ่น “แซนด์วิช เจนเนอเรชัน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจาก ค่าเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูง ทำให้การออมเงิน และการจัดสรรค่าใช้จ่ายต่างๆ ของผู้ที่ต้องรับหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของคนทั้งครอบครัวทำได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องเผชิญ ได้แก่
– ขาดสมดุลชีวิตการทำงาน และครอบครัว เพราะต้องทำงานหนักเป็น 3 เท่าเพื่อหารายได้เข้าบ้าน
จึงยากที่จะสร้างสมดุลชีวิต และมักจะตามมาด้วยความรู้สึกผิดที่นำไปสู่สุขภาพจิตที่แย่
– เผชิญความกดดัน ภาวะสุขภาพจิตถดถอย เพราะต้องแบกรับภาระที่หนักอึ้ง ทำให้คนกลุ่มนี้มีภาวะเครียดสูง จนเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ และความขัดแย้งกับสมาชิกในบ้านอย่างรุนแรงได้
– ไม่มีโอกาสได้ทำตามเป้าหมายชีวิตของตัวเอง เพราะหน้าที่ทับซ้อนที่ต้องแบกรับ ทำให้ความสำคัญของครอบครัวต้องมาก่อน ความต้องการของตนเอง ในระยะยาวอาจนำไปสู่ความเหนื่อยล้า ท้อถอย หมดกำลังใจที่ไม่มีเวลาให้ตัวเอง ไม่สามารถทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และอาจขาดความเชื่อมั่นใจตัวเองได้
อย่างไรก็ตามสุดท้ายหนทางแห่งการปัญหา Sandwich Generation จะบรรเทาผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ก็คือการเปิดใจคุยกัน ทำความเข้าใจ วางแผนการเงินให้เหมาะสมกับคนแต่ละช่วงวัย เพื่อที่จะไม่มีใครต้องแบกรับภาระไว้แต่เพียงผู้เดียว
ที่มา : สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ