ผมเสียใจ…ที่ถูกบอกว่าเป็นนายกที่ไม่มีจริยธรรม
ผมยืนยันในตัวตนของผม ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น
นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5:4 เสียง สั่งพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า “ผมเคารพคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมทำหน้าที่ด้วยความถูกต้อง ยืนยันทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่ผมเสียใจที่ถูกบอกว่าเป็นนายกที่ไม่มีจริยธรรม ผมยืนยันในตัวตนของผม ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น แต่ท่านตัดสินมาแล้ว ท่านเป็นตุลาการที่มีความรู้ความสามารถ ท่านตัดสินมาผมก็น้อมรับ”
นอกจากนี้นายเศรษฐา ยังกล่าวอีกว่าคนเรามีอายุถึงขนาดนี้ การที่เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้แก้ไขปัญหากับพี่น้องประชาชน ได้ลงพื้นที่ ได้รับความรู้ ได้รับข้อมูลใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ถ้าถามจริงๆ ว่าวันนี้ก้าวออกไปแล้วผิดหวังหรือขาดออกไปก็คือเรื่องนี้แหละ คือตรงนี้เราไม่มีโอกาส การเป็นเอกชน หรือการเป็นเศรษฐา ทวีสิน กับการเป็นนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี เรื่องของการเข้าถึงข้อมูล แหล่งความรู้ ปัญหา ทางออกของหลายๆ อย่าง ถ้าไม่มานั่งอยู่ตรงนี้มันมองไม่เห็น แต่เราก็ต้องไว้ใจระบบรัฐสภาที่จะสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่มาที่มีความรู้ความสามารถ จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญได้
ผมไม่มีอะไรจะพูดนอกจากความปรารถนาดีถึงนายกรัฐมนตรีคนต่อไป หรือแม้กระทั่งในช่วงเดือนหนึ่งที่รองนายกฯ เบอร์หนึ่งก็จะพยายามสืบสานเจตนารมณ์ โดยไม่ต้องพูดถึงว่านโยบายอะไร แต่ว่านำพาประเทศไปข้างหน้า นั่นคือความตั้งใจสูงสุดที่อยากให้เป็นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที
ดิจิทัล วอลเล็ต จะปลิวไหม?
หลังจากนายเศรษฐา รวมถึงคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ พ้นตำแหน่ง ก็สร้างความสงสัยให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าเงินดิจิทัลจะไปยังไงต่อ จะปลิวตามไปด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า “เรียนตรงๆ ตนตอบไม่ได้ ไม่ทราบว่าใครจะได้เป็นนายกฯ พรรคร่วมจะเป็นกันอย่างไร อันนี้ต้องให้เกียรติรักษาการนายกฯ เหมือนกัน ถ้าเปลี่ยนผู้นำไม่ว่าจะพรรคเพื่อไทย หรือพรรคร่วม เขาก็มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ตามที่เห็นสมควร ต้องยอมรับว่าเราหมดหน้าที่ตอน 15.30 น.วันนี้”
นอกจากนี้เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามจุดสูงสุดของนายเศรษฐา คืออะไร นายเศรษฐาตอบว่าจุดสูงสุดของแต่ละคนแตกต่างกันไป เรามีโอกาสมาดูแลบ้านเมืองก็ถือเป็นเกียรติอันสูงสุดอยู่แล้ว และจุดสูงสุดของผมคือการเป็น “ลูกที่ดี” ครับ
ประวัติทางการเมือง เศรษฐา ทวีสิน
สำหรับนายเศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 358 วัน มีเส้นทางทางการเมืองเริ่มตั้งแต่ปี 2565 หลังประกาศตัวเป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทยผ่าน Twitter (X) เมื่อไล่ไทม์ไลน์ก่อนจะถึงวันนี้พบว่า
- มีนาคม 2566 พรรคเพื่อไทยแต่งตั้ง นายเศรษฐา เป็นประธานที่ปรึกษาฯ
- เมษายน 2566 พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ นายเศรษฐา เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- 23 สิงหาคม 2566 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 30
- 15 พฤษภาคม 2567 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน เข้าชื่อผ่านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตำแหน่งความเป็น นายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา รวมทั้งตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของนายพิชิต ชื่นบาน กรณีนายเศรษฐา นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง นายพิชิต เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาในคดีอาญา กรณีถุงขนม 2 ล้านบาท
- 14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากให้ นายเศรษฐา พ้นนายกฯ
สัญญานไม่ดีต่อประชาธิปไตย
ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ในรายการพิเศษ ทางมติชนทีวีว่าในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 2 พรรคหลักที่มาจากการเลือกตั้ง ก็คือพรรคอันดับ 1 กับ พรรคอันดับ 2 ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้งคู่ สัปดาห์ก่อนว่าแย่แล้วเราไม่มีฝ่ายค้าน สัปดาห์นี้ไม่มีรัฐบาลอีก ก็เหลือแต่รัฐบาลรักษาการไม่มีนายกฯ ด้วย ต้องเอารองนายกฯ มารักษาการแล้วรอเปิดสภาโหวตนายกฯ ใหม่ เมื่อมองในเชิงระบบภาพใหญ่นี่คือสัญญาณที่ไม่ดีเลยต่อประชาธิปไตย
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้สังคมไทยช็อค เมื่อมองภาพใหญ่รัฐบาลผสมยังไม่เปลี่ยนไป แต่ส่วนที่เป็นอันตรายคือการแข่งขันทางการเมืองตอนนี้ ไม่ใช่แค่ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลแล้ว ถ้าในทางรัฐศาสตร์จะเรียกว่ามีกลุ่มพลังที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กลุ่มนี้มีอิทธิพลอย่างมากในการเมืองไทย
ผศ.ดร.วีระ ยังให้ความเห็นว่าเหตุการณ์ในวันนี้เหมือนพรรคเพื่อไทยถูกบีบคอ และโดนในลักษณะที่ดูเหมือนว่าจะรุนแรงกว่าพรรคก้าวไกลเสียอีก เพราะว่าจะตัดสินใจไปทางไหนก็มีแต่เรื่องเสีย เพราะพรรคก้าวไกลโดนยุบ เขาไปตั้งพรรคใหม่ เขาโหวตนายกฯ ไม่ได้จบแค่นั้น และยังรักษาระบบระเบียบให้ไปกันครบได้ แต่การตัดสินวันนี้ของพรรคเพื่อไทย มันส่งผลอย่างมากไม่ว่าเลือกทางไหนก็มีแต่เสีย และจะเสียน้อยที่สุดคือต้องให้คนที่ไม่มีโอกาสชนะขึ้นมามีอำนาจ
รัฐประหารโดยตุลาการ
ขณะที่ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช กรรมการคณะก้าวหน้า ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยกรณีศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระจะมีอำนาจในการตัดสินเรื่องสำคัญขนาดนี้ โดยเฉพาะการใช้เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม มาประเมินว่าใครมีจริยธรรมสุจริตมาน้อยแค่ไหน แต่ละคนมีบรรทัดฐานในการประเมินเป็นของตัวเอง ไม่มีตัวบทกฎหมายระบุไว้
คำแรกที่ผุดขึ้นมาในใจของดิฉัน นี่คือการรัฐประหารโดยตุลาการ ซึ่งมีการถกเถียงกันเยอะว่าตุลาการ หมายถึงศาลระบบชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรอิสระนะ มันคือ Judicial Coup มันคือรัฐประหารโดยศาล ซึ่งผ่านไปสักพักถึงได้เห็นว่าอาจารย์ปิยบุตร ทวีตคำเดียวกัน มัน 2 สัปดาห์ต่อกัน สัปดาห์ที่แล้วยุบพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และเป็นผู้นำฝ่ายค้านอยู่ สัปดาห์ถัดมาเอานายกรัฐมนตรีลงจากตำแหน่ง
อำนาจของประชาชนกำลังถูกท้าทาย
นอกจากนี้ ช่อ พรรณิการ์ ให้ความเห็นไว้อีกว่าหากมองย้อนกลับไป 1 ปีก่อน มันตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ที่ประชาชนรู้สึกถึงชัยชนะ ทุกอย่างมันกลับตาลปัตรไปหมด พรรคอันดับหนึ่งไม่ได้เป็นรัฐบาล พรรคอันดับสองโดนไปอีก เวลานี้เป็นเวลาที่นักการเมืองควรมาพูดคุยกันอย่างจริงจังได้แล้ว สถานการณ์นี้มันไม่ต่างจากรัฐประหารแบบอ่อน ตกลงแล้วอำนาจยังอยู่ที่รัฐสภาจริงหรือไม่ สภาคือตัวแทนอำนาจของประชาชน แต่สองอาทิตย์ซ้อนที่ทำให้เรารู้สึกว่าอำนาจของประชาชนถูกท้าทายอย่างมาก และตอนนี้สิ่งที่ต้องรีบทำคือการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปให้เร็วที่สุด และถ้าพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไว้ได้ และต้องให้กับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ หมายความว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต้องถูกพับไปใช่หรือไม่
สำหรับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย
พรรคเพื่อไทย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ,นายชัยเกษม นิติสิริ
พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล
พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (องคมนตรี) ,นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศษฏ์