นอกจากการสำแดงอำนาจผ่านปลายกระบอกปืน เข้ารัฐประหารจากรัฐบาลพลเรือนในปี 2549 และ 2557 ยังมีเครื่องมืออีกมากมายที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เกิดจากจัดตั้งรัฐบาลและสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญด้วยการออกแบบกลไกอันบิดเบี้ยว รวมถึงอีกหลายกลเม็ดที่มักถูกนำใช้เป็นหนึ่งในไม้ตาย นั่นคือ ‘การยุบพรรคการเมือง’ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เหล่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มักถูกขนานนามว่า ‘9 อรหันต์’ ผู้มีอำนาจล้นฟ้าชี้เป็นชี้ตายชีวิตทางการเมืองมาแล้ว 111 พรรค (รวมก้าวไกลในวันนี้) นับแต่มีการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญในปี 2540 โดยแบ่งออกเป็น

1) ข้อหาด้านคุณสมบัติหลักเกณฑ์ 101 พรรค

2) ข้อหาล้มล้างการปกครอง 5 พรรค

3) ข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง 4 พรรค

4) และการยุบพรรคอนาคตใหม่คดีเงินกู้ 1 พรรค

หลายครั้ง … เมื่อการล้มรัฐบาลและร่างกติกาใหม่ ไม่สามารถทำให้ฝั่งตนเองชนะในเกมการเมืองที่ออกแบบไว้ได้ หลากหลายกลวิธีจึงถูกงัดมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การสั่งปลดนายกรัฐมนตรี การยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการยับยั้งการเคลื่อนไหวประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึง ‘การยุบพรรค’ ที่เวียนว่าย (ไม่ตาย) เกิดอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยหลายต่อหลายเจนเนอเรชัน

วันนี้ 7 สิงหาคม 2567 เป็นอีกครั้งที่กลไกการยุบพรรคการเมืองด้วยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถูกหยิบมาใช้งาน โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันทท์ วินิจฉัย ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ ด้วยเหตุที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายแก้ไข ม.112 ซึ่งเข้าข่าย ‘ล้มล้างการปกครอง’ และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรค

และเป็นอีกครั้งที่หลักนิติธรรม ระบบประชาธิปไตย และความใฝ่ฝันของประชาชนจำนวนมาก ถูกยุบทิ้งด้วยน้ำมือองค์กรอิสระ ที่ชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญ

รู้จัก 9 ผู้เฒ่า แห่งศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ คือหนึ่งในองค์กรอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัครพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง มีหน้าที่ชี้ขาดและตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญนี้ เรียกว่าตุลาการศาล รธน. มีทั้งหมด 9 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ปัจจุบันประกอบด้วย

  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (ประธาน) อายุ 66 ปี 

รับตำแหน่ง 16 พฤศจิกายน 2558  

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ.

  • จิรนิติ หะวานนท์ อายุ 71 ปี

รับตำแหน่ง 1 เม.ย. 63 

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา 

  • นภดล เทพพิทักษ์ อายุ 67 ปี

รับตำแหน่ง  1 เม.ย.2563 

อดีตเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ 

  • บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ อายุ 71 ปี

รับตำแหน่ง 20 ส.ค. 63

อดีตตุลาการหัวหน้าคณะ ศาลปกครองสูงสุด 

  • ปัญญา อุดชาชน อายุ 68 ปี

รับตำแหน่ง 26 พ.ย. 58 

อดีตเลขาธิการสำนักงานศาล รธน.

  • วิรุฬห์ แสงเทียน อายุ 72 ปี 

รับตำแหน่ง  1 เม.ย. 63 

อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

  • อุดม สิทธิวิรัชธรรม อายุ 69 ปี

รับตำแหน่ง 1 เม.ย. 63

อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

  • อุดม รัฐอมฤต อายุ 65 ปี

รับตำแหน่ง 28 ม.ค. 66 

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. และกรรมการกฤษฎีกา

  • สุเมธ  รอยกุลเจริญ อายุ 68 ปี

รับตำแหน่ง 19 มี.ค. 67 

อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด

อายุเฉลี่ยของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคือ 69 ปี

นอกจากนี้ เมื่อเราลองไปดูสถิติของพรรคก้าวไกลจะพบว่า ตัวเลขล่าสุดวันที่ 7 ส.ค. 67 สมาชิกพรรคก้าวไกลทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 9.8 หมื่นคน แบ่งช่วงวัยออกเป็น

Silent Generation  1,448 คน

Baby Boomers   20,262 คน

Gen X   31,430 คน

Gen Y  33,366 คน

Gen Z  11,737 คน

อายุสมาชิกพรรคเฉลี่ย 47  ปี

ศาล รธน. กับผลงานอันโด่งดัง

  • ยุบไทยรักษาชาติ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่มีจำนวนผู้เล่นทางการเมืองเพิ่มขึ้นทั้งสองฝั่ง ว่าจะเพื่อไทย อนาคตใหม่ พลังประชารัฐ ประชาธิปไตย พลังประชาชาติไทย ชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทย (ตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้ง) ฯลฯ 

ด้านฝั่งเพื่อไทย ก็ได้เดินกลยุทธ์ ‘ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย’ เพราะระบบเลือกตั้งครั้งนี้ ออกแบบไว้โดยสรุปว่า ยิ่งพรรคไหนได้ สส. เขตฯ มาก พรรคนั้นก็จะได้รับปันส่วน  สส. บัญชีรายชื่อน้อยลง เพื่อป้องกันการผูกขาดเสียงในสภาผู้แทนราษฎร กติกาเช่นนี้ ทำให้เพื่อไทยต้องงัดกลยุทธ์ ‘จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในระบบเครือข่ายพันธมิตร’ โดยหวังให้เพื่อไทยมุ่งเก็บที่นั่ง สส. เขต ส่วนพรรคเครือข่ายพันธมิตร (ไทยรักษาชาติ) ก็คอยเก็บโควต้าที่นั่ง สส. บัญชีรายชื่อนั่นเอง 

แต่ทว่า  17 วันก่อนเลือกตั้ง ศาล รธน. กลับมีคำสั่ง ‘ยุบพรรคไทยรักษาชาติ’ จากกรณีที่สะท้ายสะเทือนแผ่นดิน นั่นคือ การเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 

หลังข่าวปรากฎยังไม่ทันข้ามคืน  ในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็ได้ออกพระราชโองการ หัวใจสำคัญคือการระบุว่า “พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์…ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดใดในทางการเมืองได้” และต่อมาวันที่ 11 ก.พ. 62  กกต. มีมติไม่รับรองรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ และระบุว่าจะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ เข้าข่ายยุบพรรคหรือไม่ เพียงสองวันจากนั้น กกต. มีมติยื่นเรื่องให้ศาล รธน. พิจารณาสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ

และนำมาสู่วันที่ 7 มี.ค. 2562 ศาล รธน. ตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ และตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

ผลจากคำตัดสิน ทำให้ 100 เขตเลือกตั้งที่พรรคไทยรักษาชาติวางตัวผู้สมัครไว้ได้อันตรธานหายไปทันที โดยเขตเลือกตั้งจำนวนนี้ ไม่มีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยแม้แต่คนเดียว 

ไม่รับคำร้อง ปม ประยุทธ์ถวายสัตย์ไม่ครบ

เหตุการณ์นี้ 6 ก.ค. 2562  เมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรีเทำพิธีรับพระราชดำรัส พร้อมลายพระราชหัตถ์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

โดยในวันนั้น ถ้อยคำที่คณะรัฐมนตรีต้องกล่าวถวายสัตย์ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดไว้ใน รธน. มาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรี มีดังต่อไปนี้ 

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

แต่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน หายไปในประโยคสุดท้ายอันเป็นสาระสำคัญที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ต่อมา 25 ก.ค. 2562 ปิยบุตร แสงกนกกุล ซึ่งขณะนั้นเป็ร สส. พรรคอนาคตใหม่ ได้เปิดประเด็นจากกรณีดังกล่าวว่า การกล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน อาจทำให้รัฐบาลเป็นโมฆะ และไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ นอกจากนั้น ปิยบุตร ยังได้เปิดประเด็นและสวนกลับวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายในขณะนั้น โดยการชว์หนังสือ ‘หลังม่านการเมือง’ ที่วิษณุเขียนบรรยายถึงการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ผ่านข้อความตอนหนึ่ง 

“ความสำคัญจึงอยู่ที่นายกฯ ซึ่งจะผิดไม่ได้ ท่านนายกฯ ชวนจะไม่อ่าน แต่ใช้วิธีจำเอา ส่วนนายกฯ ท่านอื่นๆ จะใช้วิธีอ่านทีละวรรค ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิมพ์ลงในบัตรแข็ง ซึ่งดูปลอดภัยกว่าการจำ เพราะจะไม่ผิดพลาด ขืนท่องจำผิดๆ ถูกๆ ตกคำว่า “และ” คำว่า “หรือ” ไปสักตัว ก็อาจต้องส่งศาล รธน. ตีความว่าได้ถวายสัตย์ครบถ้วนหรือยัง จะยุ่งเปล่าๆ”

ต่อมา ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะยื่นคำร้องถามหาความชัดเจนผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินไปยังศาลปกครองหรือศาล รธน. ให้วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติรับคำร้องไว้แล้ว และมี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยังยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้ส่งศาล รธน. วินิจฉัยในประเด็นเดียวกันว่าการกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ถือเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ การถวายสัตย์นั้นต้อง “โมฆะ” หรือไม่

สุดท้ายแล้ว เรื่องนี้ก็ถึงมือศาล รธน. และได้มีคำมติเอกฉันท์ว่า ‘ไม่รับคำรองพิจารณา’ เนื่องจากการถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวเป็นการกระทำทางการเมือง ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาล รธน. จึงไม่อาจรับคำร้องไว้ได้ และการถวายสัตย์ดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด 

ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

ประเด็นนี้  เกิดจากประเด็นคดีข้อพิพาทเรื่องเหมืองทองอัครา ซึ่งประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสู้คดีมหาศาลและอาจต้องเสียค่าชดเชนกว่าหมื่นล้านหากแพ้คดี อันเป็นผลมาจากการใช้อำนาจมาตรา 44 ปิดเหมือง ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งเป็นหัวหน้า คสช. 

เหตุนี้ จึงมีการย้อนกลับไปเอาคำวินิจฉัยของศาล รธน. ว่า พลเอกประยุทธ์ ไม่เป็น ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ มาพูดถึงว่า ในเมื่อไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ  แต่พลเอกประยุทธ์กลับเคยระบุว่า “ผมรับปผิดชอบเอง” หากคดีนี้ตัดสินแล้วมีผลเสียต่อประเทศ ก็ควรให้เงินตัวเองจ่ายใช่หรือไม่ 

โดยที่มาของคำนิจฉัยดังกล่าว เกิดจาก สส. ฝ่ายค้าน 7 พรรค 110 คน เข้าชื่อเสนอให้ประธานสภาฯ ส่งคำร้องให้ศาล รธน. ว่า พลเอกประยุทธ์มี ‘ลักษณะต้องห้าม’ ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะการเป็นหัวหน้า คสช. ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ 

‘รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) กำหนดคุณสมบัติรัฐมนตรี ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่ง มาตรา 98 (15) กำหนดลักษณะของคนที่ต้องห้ามสมัคร ส.ส. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ 

ต่อมา 6 มี.ค. ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ส่งศาลปกครองให้วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) บัญญัติห้ามไว้หรือไม่

และในวันที่ 18 ก.ค. ศาล รธน. อ่านคำวินิจฉัย โดยชี้ว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้องจึงไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี

สั่ง ธนาธร พ้น สส. คดีหุ้นสื่อ

Thanathorn Juangroongruangkit, the founder of Thailand's Future Forward Party, looks on during the launch of the party in Bangkok, Thailand, March 15, 2018. REUTERS/Athit Perawongmetha

ทามไลน์ของเรื่องนี้ ต้องเริ่มจากวันที่ 22 มี.ค. 62 สำนักข่าวอิศราได้รายงานว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้โอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ก่อนการเลือกตั้งเพียง 3 วัน โดยธนาธรก็ออกมาชี้แจงผ่านโซเชียลมีเดียว่า ได้โอนหุ้นทั้งหมดของบริษัทวีลัค มีเดีย จำกัด ให้มารดาเสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2562 โดยมีหลักฐานเป็นตราสารโอนหุ้นพร้อมลายเซ็นพยาน 2 คน ผู้โอน และผู้รับโอนหุ้น และทนายความโนตารี เช็คธนาคารค่าหุ้น พร้อมสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท

2 วันหลังธนาธารชี้แจง ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เจ้าเก่าเจ้าเดิม ก็ได้ยื่นคำรองต่อ กกต. ให้ตรวจสอบว่า การกระทำเช่นนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ห้ามผู้เป็น ส.ส.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่ ด้าน กกต ก็ได้ตั้งคณะกรรมการในวันที่ 4 เม.ย. เพื่อตรวจสอบและดำเนินการไต่สวนธนาธารปมถือหุ้นสื่อ 

ฝ่ายธนาธรก็หอบหลักฐานกว่า 26 รายการ และหลักฐานส่วนอื่นๆ เข้ามาชี้แจงต่อ กกต. จนกระทั่งวันที่ 8 พ.ค. 62 ต่อมา กกต. ได้ออกมาแถลงผลการประชุม และประกาศรับรองรายชื่อ ธนาธรเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ 

ต่อมาวันที่ 16 พ.ค. กกต.ยื่นคำร้องต่อศาล รธน. เพื่อขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของ ธนาธร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 82 วรรคสี่ เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัคร รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

ที่สุดแล้ว 23 พ.ค. 62 ศาล รธน. ก้ได้มีมติเอกฉันท์ รับคำร้องกรณีการพิจาณาคุณสมบัติธนาธร และมีมติ 8-1 ให้ธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย 

ด้านธนาธรเองก็ได้ยื่นคำรองต่อศาล รธน. ให้ยกเลิกคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. แต่ ศาล รธน. ก็ยกคำร้อง โดยระบุว่า ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เดิม

20 พ.ย. 62 ศาล รธน. มีคำวินิจฉัยด้วยมติ 7-2 ให้ ธนาธร พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส. จากกรณีถือหุ้นสื่อ

ยุบอนาคตใหม่

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองไทย ได้เกิดเหตุการณ์ ศาล รธน. มีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีมติให้สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กรรมการบริหารพรรค ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ วันที่มีการทำสัญญากู้เงินคือ วันที่ 2 ม.ค. 2562 และ 11 เม.ย. 2562 เป็นเวลา 10 ปี

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ เริ่มจากการที่ ป.ป.ช. เปยแพร่บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น และแจกแจงออกมาว่า ธนาธรมีทรัพย์สิรรวมคู่สมรสจำนวนกว่า 5,000 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ มีการปล่อยกู้ยืมแก่พรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191.2 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 สัญญาคือ สัญญาแรกจำนวน 161.2 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 จำนวน 30 ล้านบาท

โดยต่อมา ธนาธร ออกมายืนยันว่า ‘เงินกู้ไม่ใช่รายได้ จึงเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไร’ และชี้แจงต่อ กกต. ไปแล้ว 

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้นักร้องขาประจำอย่าง ศรีสุวรรณ จรรยา เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ไต่สวนวินิจฉัยธนาธรทันทีในวันที่ 21 พ.ค. 62 กล่าวหาว่าธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวน 110 ล้านบาท ตามที่ธนาธรกล่าวบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) จริงหรือไม่ หรือธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 250 ล้านบาท ตามที่พรรณิการ์ โฆษกพรรคอนาคตใหม่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไว้จริงหรือไม่ และการกระทำนี้ เข้าข่ายกระทำการขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 หรือไม่

สัปดาห์ถัดมาสุรวัชร สังขฤกษ์ ยื่นคำร้องต่อ กกต. อีกในกรณีเดียวกัน โดยกระบวนการที่กฎหมายกำหนด กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนเรื่องดังกล่าวเพื่อทำความเห็นให้ กกต. ว่ามีมูลหรือไม่ จากนั้น กกต.จึงมีความเห็นยื่นคำร้องต่อ ศาล รธน. ให้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่กรณีธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินทั้งหมด 191.2 ล้านบาท 

19 พ.ย. 62 กกต. ก็รับคำร้องและสั่งให้พรรคอนาคตใหม่จัดส่งเอกสารโต้แย้ง ด้านพรรคก้าวไกลก็ได้จัดส่งเอกสารบางส่วนและขอขยายเวลาส่งเอกสารบางส่วนอีก 120 วัน โดย กกต. ได้ขยายให้ถึงวันที่ 2 ธ.ค. 62 

เมื่อถึงกำหนด กกต. มีมติตัดพยานหลักฐาน และให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ส่งมาก่อนหน้า พร้อมระบุพรรคอนาคตใหม่มีเจตนาถ่วงเวลา เนื่องจากเอกสารอยู่ในการครอบครองของพรรคอนาคตใหม่อยู่แล้ว 

ต่อมา กกต. ก็ได้มีมติยื่นคำร้องต่อ ศาล รธน. พิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่า การกู้ยืมเงินจากธนาธรของพรรคอนาคตใหม่ เป็นการกระทำฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 

ศาล รธน. รับคำร้องและวินิจฉัยยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี เมื่อ 21 ก.พ. 2563 ด้วยมติ 7:2 โดย 2 เสียงส่วนน้อยที่ลงมติไม่ยุบพรรค คือ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และ ชัช ชลวร 

คำวินิจฉัย ศาล รธน. ระบุตอนหนึ่งว่า การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองต้องอาศัยรายได้ของพรรค ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหน แหล่งที่มาไว้ในมาตรา 62 ดังนั้น เงินส่วนใดที่พรรคนำมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งไม่มีแหล่งที่มาจากกฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่าเป็น “เงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 62” แม้ พ.ร.ป. นี้ไม่ได้บัญญัติห้ามการกู้เงินไว้โดยชัดเจน แต่ก็ไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้ ประกอบกับพรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน 

“เงินกู้ แม้ไม่ได้เป็นรายได้ แต่ก็เป็นรายรับและเงินทางการเมือง การได้มาและใช้จ่ายเงินเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง จึงกระทำได้ตามขอบเขตที่กำหนดไว้เท่านั้น” นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาล รธน. อ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ พรรคอนาคตใหม่จึงถูกปิดฉากลงด้วยอายุการเมืองเพียง 1 ปี 4 เดือน 18 วัน 

ชี้ ประยุทธ์ เป็นนายกไม่ถึง 8 ปี ตาม รธน.

เริ่มจาก ชลน่าน ศรีแก้าว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาในขณะนั้น นำ สส. ฝ่ายค้าน 171 คน ยื่นเรื่องต่อประธานสภา ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาล รธน. วินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เหตุเพราะฝ่ายค้านมองว่า ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว ด้วยวิธีนับวาระดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ที่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หลังก่อรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

ขณะเดียวกัน มาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

ด้านศาล รธน. ก็ได้รับคำร้อง และมีมติดังนี้ 

  1. เอกฉัท์ 9-0 รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยให้ผู้ถูกร้อง (ประยุทธ์) ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาล รธน. ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
  2. มติ 5:4 ให้ผู้ถูกร้อง (ประยุทธ์) หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2565 จนกว่า ศาล รธน. จะมีคำวินิจฉัย

30 ก.ย. 65 ศาล รธน. วินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ คือ 6 เม.ย. 60 ดังนั้น ประยุทธ์ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรียังไม่สิ้นสุดลง และสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้

ศาล รธน. ให้เหตุผลว่า กฎหมายย่อมมีผลใช้บังคับนับแต่วันประกาศใช้ หากจะให้มีผลย้อนหลังต้องมีการระบุให้ชัดเจน จากหลักการดังกล่าว บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 ย่อมมีผลใช้บังคับเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 

ประยุทธ์รอด คดีบ้านพักทหาร

ตามข้อระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพักของราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก ปี 2553 ได้กำหนดให้ราชการหรือลูกจ้างประจำสังกัดกองทัพบกที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง มีสิทธิ์เข้าอาศัยในอาคารที่พักของราชการได้ แต่สิทธิ์นั้นจะหมดไปเมื่อเสียชีวิตหรือออกจากราชการ หมายความว่า สิทธิ์เข้าอาศัยที่พักสวัสดิการสงวนไว้สำหรับข้าราชการกองทัพบกที่ยังคงรับราชการอยู่เท่านั้น

แต่ ประยุทธ์ จันทร์ โอชา ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม กลับอาศัยในบ้านพักทหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งที่ตนเองเกษียณและพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้วตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งการกระทำนี้ อาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

ในปี 2563 ประธานสภาฯ ได้ส่งคดี ‘บ้านพักหลวง’ ให้ ศาล รธน. วินิจฉัย ว่าการพักบ้านหลวงของประุทธ์ จันทร์โอชา   ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 170 ประกอบมาตรา 184 และมาตรา 186 ที่ว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรีต้องไม่รับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ” รวมไปถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ที่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท

ต่อมา ศาล รธน. มีคำวินิจฉัย 29/2563 โดยสรุปได้ว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถพักบ้านหลวงต่อได้และไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะเกษียณออกจากราชการแล้วจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. ก็ตาม เนื่องด้วยเป็นไปตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกปี 2548 โดยจุดตัดสินสำคัญคืออำนาจตามข้อ 5.2 และข้อ 8 ที่ได้ระบุผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยและการกำหนดข้อยกเว้นที่สามารถพิจารณากำหนดให้สิทธิการเข้าพักอาศัยเป็นกรณีเฉพาะรายได้

ศาลให้เหตุผลว่า ประยุทธ์เคยเป็นอดีตผู้บัญชาการชั้นสูงของ ทบ. ทำคุณประโยชน์ให้กับ ทบ. และประเทศชาติ เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกได้ ดังเช่นผู้นำกองทัพหลายคนที่ยังคงพักในบ้านหลวงอยู่ รวมไปถึงเป็นการที่รัฐต้องจัดสรรที่พักให้ผู้นำประเทศเพื่อสร้างความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจในการบริหารประเทศ

สั่งพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ คดีหุ้นไอทีวี

19 ก.ค. 66 ศาล รธน. มีมติเอกฉันท์ รับคำร้องคดีกล่าวหา พิธา ลิ้มจริญรัตน์ ถือหุ้นสื่อไอทีวี ไว้พิจารณา ตามที่ กกต. ขอให้ ศาล รธน. วินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ล ต้องพ้นจากสภาชิกภาพ ส.ส. จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) อันเป็นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

ศาล รธน. ได้มีมติ 7-2 สั่งให้พิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 56 จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย 

โดยก่อนหน้านี้ พิธา เคยชี้แจงว่า การถือครองหุ้น  บริษัท ไอทีวี เป็นการถือครองในฐานะผู้จัดการมรดก ไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าของหรือถือครองแต่อย่างใด ซึ่ง นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาเปิดเผยว่า พิธาได้แจงเรื่องการถือครองหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น มูลค่าประมาณ 42,000 บาท ในฐานะผู้จัดการมรดก โดยมีเอกสารคำสั่งศาลประกอบ

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายถึงกรณีหุ้นไอทีวีหลายประการ อาทิ 

  1. มีการแก้ไขเอกสารประเภทธุรกิจในปี 2565  ให้กลับมาประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสื่ออีกครั้ง ทั้งที่ แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ตั้งแต่ ปี 2558 ถึง 2564 ระบุว่า ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ และมีผลตอบแทนจากเงินลงทุนและดอกเบี้ย และในรายงานประจำปี 2565 ระบุว่า หยุดประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อ และมีรายได้จากเงินลงทุนและดอกเบี้ยรับ
  2. มีการแก้ไขคำชี้แจงของกรรมการบริษัท ในรายงานประชุมผู้ถือหุ้นว่า ยังมีการทำสื่ออยู่ ทั้งที่ในหลักฐานการบันทึกเสียงว่า คำชี้แจงของกรรมการบริษัทกล่าวว่า บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ยังคงรอผลของคดีที่ บริษัท ไอทีวี ฟ้องร้องกับ สปน. อยู่ รวมถึง ในเอกสารงบการเงินของ บริษัท ไอทีวี ในไตรมาสที่ 1/2566 ระบุว่า รับลงสื่อโฆษณา แต่ไม่มีการแจ้งผู้ถือหุ้นและไม่ปรากฏข้อมูลในงบการเงินของ บริษัท อินทัช ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ชี้ พิธา-ก้าวไกล ‘ล้มล้างการปกครอง’ 

เรื่องนี้เริ่มจาก ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณาวินิจฉัยกรณีพรรคก้าวไกล มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จากกรณีการแสดงความเห็นทางการเมือง การเข้าร่วมกับผู้ชุมนุม และการประกันตัวผู้ต้องหาในคดีชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นการกระทำการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งกรณีที่พรรคก้าวไกลยื่นร่างแก้ไข ม. 112, ร่างแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, ร่างแก้ไข พ.ร.ย. คอมพิวเตอร์ฯ ตลอดจนการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับไอลอว์ ซึ่งการกระทำของพรรคก้าวไกล ถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 45 และมาตรา 92 (2) (3) จึงขอให้ กกต.พิจารณาวินิจฉัย และเสนอเรื่องให้ ศาล รธน. สั่งยุบพรรค

โดยพรรคก้าวไกล ได้เสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. …

โดยสาระสำคัญส่วนแรก จะเป็นการยกเลิกโทษจำคุกให้คงเหลือแต่โทษปรับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป รวมถึงดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ศาล หรือผู้พิพากษา และส่วนที่สองคือย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ ลักษณะความผิดที่เกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้มีความเหมาะสม ทั้งในแง่โครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์ จึงกำหนดให้ยังมีโทษจำคุก แต่ลดอัตราโทษลงมาไม่ให้รุนแรงเกินไป ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้ได้สัดส่วนกับสภาพความผิด

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … 3.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … 4.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่…) พ.ศ. … และ 5.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา

ต่อมา 30 พ.ค. 66 ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของพุทธะอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ขอให้ส่งคำร้องไปยัง ศาล รธน. เพื่อให้พิธา และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

16 มิ.ย. 66 ธีรยุทธ ยื่นคำร้องตรงต่อ ศาล รธน. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยสั่งให้ นายพิธา และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต่อมา 12 ก.ค.2566 ศาล รธน. รับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษตร ดังกล่าว หลังจากที่อัยการสูงสุดมิได้ดําเนินการตามที่ร้องขอภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ที่ผู้ร้องจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ พร้อมให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน

ศาล รธน. ใช้เวลากว่า 5 เดือนในการพิจารณา โดยศาลไม่เปิดการไต่สวนตามที่พรรคก้าวไกลพยายามร้องขอ แต่ใช้วิธีรวบรวมพยานหลักฐาน โดยให้ผู้เกี่ยวข้องยื่นคำชี้แจง ซึ่งในส่วนของพรรคก้าวไกล ศาลได้มีคำสั่งให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และมีคำสั่งขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามที่พรรคก้าวไกลขอจำนวน 3 ครั้ง

โดย ประเด็นที่ศาล รธน. จะวินิจฉัย คือการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) หรือไม่

ที่สุดแล้ว ศาล รธน. ก็ได้มีมติในวันที่ 31 ม.ค. 2567 ว่า การกระทำของนายพิธา และ พรรคก้าวไกล กรณีหาเสียงแก้ไข ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง สั่งให้เลิกการกระทำ การแสดงความคิดเห็น การเขียนเพื่อให้มีการยกเลิกกฎหมาย ม.112 และไม่ให้แก้ ม.112

  • ยุบพรรคก้าวไกล คดีล้มล้างการปกครอง

หลังการวินิจฉัยว่า กระทำของนายพิธา และ พรรคก้าวไกล กรณีหาเสียงแก้ไข ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง สั่งให้เลิกการกระทำ การแสดงความคิดเห็น การเขียนเพื่อให้มีการยกเลิกกฎหมาย ม.112 และไม่ให้แก้ ม.112 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 

ต่อมา ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของพุทธะอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกับ เรืองไกล ลีกิจวัฒนะ ที่ขอให้ กกต. พิจารณาส่งเรื่องไปศาล รธน. ในประเด็นเดียวกัน 

12 มี.ค. 67 กกต. มีมติเอกฉันท์ส่งเรื่องไปยังศาล รธน. และต่อมาวันที่ 3 เม.ย. 67 ศาล รธน ก็ได้มีมติรับคำร้อง และได้ส่งสำเนาคำร้องให้พรรคก้าวไกลยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน และได้ขยายระยะเวลาตามที่พรรคก้าวไกลขอมา รวม 3 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน

กระทั่งวันที่ 7 ส.ค. 67 ศาล รธน. ได้มีมติเอกฉัน 9-0 วินิจฉัยว่า สรุปสาระสำคัญว่า ศาล รธน. มีหลักฐานควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกระทำการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) (2) อันเป็นเหตุให้ยุบพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสอง โดย ศาล รธน. มีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (1) คือกรณีล้มล้างการปกครอง และมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง (นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์) ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 (2) กรณีกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง ส่วน กรรมการบริหารพรรค ศาล รธน. มีมติเอกฉันท์เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ระหว่าง 25 มีนาคม 2564-วันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค ก.ก. ตาม พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคสอง โดยมีระยะเวลากำหนด 10 ปี

กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ทั้งชุดที่ 1 และ 2 ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม2564 ถึงวันที่ 31ม.ค. 67 รวมทั้งสิ้น 11 คน ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี มีรายชื่อดังนี้

  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค สส.บัญชีรายชื่อ
  • ชัยธวัช ตุลาธน อดีตเลขาธิการพรรค สส.บัญชีรายชื่อ
  • ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
  • ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
  • ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีต กรรมการบริหารสัดส่วนภาคเหนือ
  • สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารสัดส่วนภาคใต้
  • อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารสัดส่วนภาคกลาง
  • อภิชาต ศิริสุนทร กรรมการสัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สส.บัญชีรายชื่อ
  • เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารสัดส่วนภาคตะวันออก สส.บัญชีรายชื่อ
  • สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารสัดส่วนปีกแรงงาน สส.บัญชีรายชื่อ
  • อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กรรมการบริหารสัดส่วนภาคเหนือ

ในจำนวนนี้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 คน จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ทันที ได้แก่

  • พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
  • ชัยธวัช ตุลาธน
  • เบญจา แสงจันทร์
  • สุเทพ อู่อ้น
  • อภิชาต ศิริสุนทร

ทั้งนี้ สส. พรรคก้าวไกลที่เหลือ 143 คน จะต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

ย้อนปม “ถวายสัตย์ไม่ครบ” ของพล.อ.ประยุทธ์ เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ เกือบล่มรัฐบาล 

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นนายกฯ ต่อได้ 

ศาล รธน. มีคำวินิจฉันเอกฉันท์ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

ยุบพรรค ยุบนิติธรรม ยุบประชาธิปไตย

8 ปี ประยุทธ์ : ที่มาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 30 ก.ย. หลังนายกฯ ได้ไปต่อ

ลำดับเหตุการณ์คดียุบพรรคอนาคตใหม่

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : เปิดบัญชีทรัพย์สิน “ไพร่หมื่นล้าน” กลายเป็น “ส.ส. ห้าพันล้าน”

ประยุทธ์ไปต่อ!! ศาลรัฐธรรมนูญชี้วาระนายกฯ ยังไม่ครบ 8 ปี เริ่มนับ 60

ด่วน! ปิดฉาก ‘อนค.’ – ตัดสิทธิ ‘ธนาธร-ปิยบุตร’ ศาล รธน.สั่งยุบ แบน กก.บห.10 ปี ชี้เงินกู้เป็นเงินบริจาค

‘ไม่จบแบบหนังภาคก่อน’ – ‘ปิยบุตร’เตือนยุบ อนค. ทุบหัวใจคนรุ่นใหม่ ควง ‘ธนาธร’ ลุยนอกสภาทั่วประเทศ

ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย

ศาล รธน. สั่งพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ 

เปิดลำดับเหตุการณ์ คดียุบพรรคก้าวไกล ก่อนศาลรธน. วินิจฉัย 7 ส.ค.นี้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก