อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ระดับโลกที่กำลังก่อตัวอย่างเงียบๆ ของคนยุคใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี กับการผูกจิตไว้บนโลกออนไลน์ และอยู่ในโลกที่มีแต่ความวิตกกังวลจนเป็นพิษ
จากข้อมูลผลสำรวจระดับชาติด้านการใช้ยา และสุขภาพของสหรัฐอเมริกา พบว่า กราฟแสดงให้เห็นว่า พบอาการซึมเศร้าในเด็กผู้หญิงเพิ่มขึ้นถึง 145% และเด็กผู้ชายมีอัตราการเพิ่มขึ้นที่ 161% นับตั้งแต่ปีตั้งแต่ปี 2010
นอกจากนี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยยังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นถึง 134% โรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 106%, โรคสมาธิสั้น(ADHD)เพิ่มขึ้น 72% ไบโพล่าเพิ่มขึ้น 57% การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของปัญหาสุขภาพจิตส่วนมากอยู่ในกลุ่ม Gen Z ที่เติบโตมาพร้อมกับเครื่องมือสมาร์ทโฟนทั้งโดพามีนจากแจ้งเตือนการออนไลน์ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนจนส่งผลต่อพัฒนาการและสุขภาพจิตอย่างลึกซึ้ง
จากผลสำรวจดังกล่าว นักวิจัยวินิจฉัยว่า สมาร์ทโฟนคือเบื้องหลังปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น ในช่วงศตวรรษ 2000 เพราะเราเริ่มใช้สมาร์ทโฟนตั้งแต่ปี 2007 และใช้กันอย่างแพร่หลายหลังปี 2010 จึงทำให้การมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปเมื่อใช้สมาร์ทโฟนวัยรุ่นที่เติบโตในช่วงรอยต่อที่สมาร์ทโฟนแพร่หลาย มีแนวโน้มที่จะมีความทุกข์มากกว่าคนใน Gen ก่อนหน้านั้น เพราะ Gen Z พาตัวเองไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ตลอด 24 ชม.
ทั้งที่วัยเด็กควรจะเป็นวันที่เล่นได้อย่างอิสระ เพราะการเล่นส่งเสริมพัฒนาการหลายด้าน การใช้สมาร์ทโฟนทำให้เวลาแห่งการเรียนรู้โลกกว้างขาดหายไป เช่น การออกกำลังกาย การวิ่งเล่น ปั่นจักรยานกับเพื่อน ฯลฯ
ทางวิทยาศาสตร์เผยว่า มนุษย์มีวัยเด็กที่ยาวนานกว่าสัตว์ชนิดอื่นบนโลกใบนี้ และเหตุผลสำคัญสำหรับการพัฒนาการในวัยเด็กของมนุษย์ที่ช้านั้นก็เพื่อทำให้สมองได้ผ่านกระบวนการการเรียนรู้ที่สำคัญ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงของสมองในวัยที่กำลังพัฒนาผ่าน 3 สิ่ง คือ 1.การได้เล่นอย่างอิสระ 2.การตอบสนองความต้องการ 3.การเรียนรู้ทางสังคม
ผลกระทบจากการใช้ชีวิตกับสมาร์ทโฟนมากเกินไปทำให้เด็กๆ เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากโซเชียลมีเดียมากกว่า การมีส่วนร่วมทางสังคมกับมนุษย์ในชีวิตจริง รวมถึงการให้คุณค่ากับการยอมรับทางสังคมผ่าน ยอดวิว ยอดไลค์ คอมเมนต์ต่างๆ โดยจะผูกความสุข และความเศร้ากับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ และเด็กจะเลียนแบบจากต้นแบบบนโลกออนไลน์ รวมถึงคอนเทนต์ที่ชื่นชอบ
อย่างไรก็ตามเด็กทุกช่วงวัยจำเป็นต้องได้รับประสบการณ์จากโลกจริงมากขึ้น และจากหน้าจอน้อยลง เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย โดยพ่อแม่ควรจะจำกัดเวลาในการใช้เวลาบนหน้าจอของลูกเพื่อให้เขาได้ใช้เวลาเรียนรู้ในโลกจริงอย่างเพียงพอ และตัวพ่อแม่เองก็ต้องเข้มงวดกับตนเองในการใช้จอด้วย เพื่อใช้เวลาสร้างเสริมการเรียนรู้ให้ลูกมากยิ่งขึ้น และช่วงเวลาเหมาะสมที่เด็กจะจัดการแอคเคาน์ตนเองบนโซเชียลมีเดียได้ คือเมื่อลูกอายุ 16 ปี เป็นต้นไป
ที่มา : หนังสือ The Anxious Generation: How the Great Rewiring of Childhood Is Causing an Epidemic of Mental Illness by Jonathan Haidt และข้อมูลผลสำรวจระดับชาติด้านการใช้ยาและสุขภาพของสหรัฐอเมริกา