พูดถึงเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน นึกถึงอะไรบ้าง ด้วยชื่อที่มักใช้เรียกผิดๆ ตามสื่อโฆษณาว่า คือ “เครื่องดื่มชูกำลัง” หรือ “เครื่องดื่มบำรุงกำลัง” ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในคุณประโยชน์หรือโทษต่อร่างกายของเครื่องดื่มชนิดนี้ เนื่องจากบางส่วนไม่ทราบว่าส่วนผสมหลักคือกาเฟอีน

สารกาเฟอีน หรือ คาเฟอีน (Caffeine) เป็นสารที่ร่างกายจะดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ไปมีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนของโลหิต อาจก่อให้เกิดอันตรายหากได้รับในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นประจำ


เครื่องดื่มผสมกาเฟอีนเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ และให้แสดงข้อความในฉลากว่า “มีกาเฟอีน” และ“ห้ามดื่มเกินวันละ …….. (ระบุภาชนะที่ใช้บรรจุ เช่น กระป๋อง ขวด เป็นต้น) เพราะอาจทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้มีโรคประจำตัวหรือผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อน”

ผู้ที่จะดื่มเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนควรอ่านคำเตือนในฉลาก ปริมาณกาเฟอีนที่ได้รับต่อวันต้องไม่เกิน 400 มิลลิกรัม
ดังนั้น ควรให้ความสำคัญในเรื่องของปริมาณกาเฟอีนที่ได้รับต่อวันและบริโภคแต่พอดี ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนหลายชนิดพร้อมกันหรือในเวลาใกล้ๆ กัน เพราะอาจส่งผลเสียจากการได้รับปริมาณกาเฟอีนมากเกินไป ทั้งนี้ความไวต่อกาเฟอีนจะแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคนด้วย
ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/2123
ภาพ : www. pixabay.com