ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (27 มีนาคม 2567) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่.) พ.ศ…. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนน 400 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3 เสียง
สำหรับเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดให้การสมรสหรือแต่งงานครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ไม่จำกัดแค่เพศชายและเพศหญิง พร้อมทั้งให้อายุการสมรสเป็น 18 ปี จากเดิม 17 ปี และขั้นตอนต่อไป ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และหากผ่านชั้นของวุฒิสภาแล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
หากกฎหมายฉบับนี้ ผ่านชั้นวุฒิสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมาย ประเทศไทยจะถือเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ถัดจากไต้หวันและเนปาล และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน
ด้านนายดนุพร ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ กล่าวว่า วันนี้ทุกสังคมไม่ว่าประเทศไทยหรือต่างประเทศ เชื่อว่าทุกคนทราบดี เราไม่ได้มีเพียงแค่เพศชาย เพศหญิง อีกต่อไปแล้ว มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเกิดมาเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง เขาเลือกเกิดไม่ได้ แต่คนเหล่านี้เขาเลือกที่จะเป็นตามสิ่งที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ ต้องการที่จะคืนสิทธิให้คนกลุ่มนี้ เราไม่ได้ให้สิทธิเขา แต่เป็นสิทธิเบื้องต้นที่คนกลุ่มนี้เสียสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาพยาบาล การเสียภาษี การลดหย่อนภาษีต่างๆ รวมถึงการเซ็นยินยอมให้เข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล คนเหล่านี้เขาไม่เคยได้สิทธิแบบนี้ ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการคืนสิทธิ และตอนหาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคการเมือง บอกว่าอยากจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่เท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ