นับตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา สภาพอากาศทั่วไปจะมีอุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 35 องศาเซลเซียส เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากรังสีของดวงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น และคาดว่าฤดูร้อนในปี 2567 นี้จะสิ้นสุดในประมาณกลางเดือนพฤษภาคม
อากาศร้อนจัดมีอันตรายมากกว่าที่เราคิด จากข้อมูลจากกองระบาดวิทยา โดยกรมควบคุมโรค ระบุว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากอากาศร้อนต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมมีรายงานผู้เสียชีวิต 37 รายในปีที่ผ่านมา หากดูสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2566 จะพบว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 24 , 18 , 57 , 12 , 7 , 8 และ 37 ราย ตามลำดับ
“นพ.สามารถ ถิระศักดิ์” รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า “ลมแดด” (Heat Stroke) เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน จนถึงขั้นชักและหมดสติได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที อาจถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้
6 กลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังโรคลมแดด
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ
- ผู้ที่ทำงานหรือกิจกรรมกลางแดด
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
คำแนะนำเพิ่มเติมจาก นพ.สามารถ เพื่อป้องกันโรคลมแดดคือ หลีกเลี่ยงการออกไปในพื้นที่แดดจัด สวมเสื้อผ้าที่โปร่งระบายอากาศได้ดี ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดดื่มสุรา กาแฟ และงดการร่วมกิจกรรมกลางแจ้งในขณะแดดจัด สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคลมแดดเบื้องต้น ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มหรือมีอุณหภูมิเย็น คลายเครื่องแต่งกายผู้ป่วยและให้นอนหงายยกขาสูง อาจเช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น ใช้ถุงน้ำแข็งวางบริเวณศีรษะ ลำคอ รักแร้ และขาหนีบ ใช้สเปรย์พ่นน้ำเย็นหรือฝักบัวระหว่างรอรถพยาบาล
นอกจากโรคลมแดดแล้วในช่วงฤดูร้อนยังมีโรคร้ายที่มักมาพร้อมกันซึ่งพบได้บ่อยทุกปี 6 โรค ได้แก่
- โรคอุจจาระร่วง (Acute Diarrhea) เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม หรืออาหารที่ทำล่วงหน้าไว้นาน อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วย มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งการดูแลผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในระยะแรก ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมาก ๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ยังไม่หยุดถ่ายเหลว ให้รีบไปพบแพทย์
- โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) เป็นโรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยมาก เนื่องจากสารพิษ (Toxin) จากแบคทีเรียตกค้างอยู่ในอาหารที่ไม่สะอาดพอ สุก ๆ ดิบ ๆ หรือบูดเสีย ทำให้เกิดปัญหาท้องเสียได้ สำหรับการรักษาส่วนใหญ่หากเป็นไม่มาก จะถ่ายเป็นน้ำไม่มีมูกเลือด ไม่มีไข้ หายได้เอง แต่ถ้าเป็นมากต้องได้รับน้ำเกลือเสริม อาจอยู่ในรูปแบบของการดื่ม หรือการให้ทางเส้นเลือดแล้วแต่ความรุนแรง
- โรคบิด (Dysentery) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทาน เช่น การรับประทานอาหาร น้ำ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารดิบ ๆ สุก ๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม ดังนั้นไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ เพศไหน วัยใดก็สามารถเป็น โรคบิด ได้ทั้งนั้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดในท้อง ต่อมาจะเริ่มไข้ขึ้น และถ่ายเหลว รวมถึงอาจปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการท้องเดินเป็นบิด จะหายได้เองภายใน 5-7 วัน ในคนที่ไม่ได้ทานยา แต่บางรายก็อาจมีอาการกลับมาใหม่ได้อีก
- ไทฟอยด์ (Typhoid) การติดต่อมักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำดื่ม ซึ่งไข้ไทฟอยด์จะมีอาการแบบเฉียบพลัน รายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ อาการของโรคจะมีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้าลง (โดยทั่วไปแล้วเวลามีไข้จะเต้นเร็วขึ้น) หากให้แพทย์ตรวจอาจพบว่าม้ามโต บริเวณใต้ชายโครงด้านซ้าย ต้องใช้การตรวจเลือดยืนยันว่าเป็นโรคนี้จริง ส่วนการป้องกันสามารถทำได้โดยการใช้วัคซีน ซึ่งมีทั้งในรูปของการรับประทานหรือฉีด แต่การป้องกันไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม
- อหิวาตกโรค (Cholera) โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้ออหิวาต์ จะไม่มีอาการหรือมีไม่มาก แต่ในรายที่ติดเชื้อรุนแรง อาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เนื่องจากมีการสูญเสียของน้ำและเกลือแร่ในปริมาณมาก โรคนี้ติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อเข้าไป การรักษาควรทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป กับการถ่ายอุจจาระและการอาเจียน เช่น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือ แต่หากรุนแรงต้องให้ทางเส้นเลือด ควบคู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะ
- โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน ไม่มียารักษาให้หายขาดได้ เพราะโรคดังกล่าวติดต่อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลอยู่แล้ว หรือน้ำลายของสัตว์กระเด็นเข้าตา ปาก จมูก ทั้งนี้ วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดก็คือ ให้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง เริ่มฉีดเมื่ออายุ 2-4 เดือน และหากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด หรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง เช็ดให้แห้ง แล้วใส่ยารักษาแผลสด และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
แหล่งที่มาข้อมูล
- กรมอุตุนิยมวิทยา การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2567
- ปี’66 อากาศร้อนทำตาย 37 ราย สบส.ดึง อสม.-อสส. ร่วมเตือนภัย 6 กลุ่มเสี่ยง
- 6 โรคร้าย ที่มักมากับหน้าร้อน
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : 5 วิธีการรับมือ – ป้องกันโรคจากแสงแดดและอากาศร้อน