นับวันอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สภาพอากาศร้อน ในช่วงนี้จึงสามารถก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะในเด็ก หรือผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง หากไม่ได้มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญสภาพอากาศร้อน ก็มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้เช่นกัน
อาการเจ็บป่วยที่เกิดจากอากาศร้อน ได้แก่
– โรคอุณหพาต หรือ โรคลมเหตุร้อน เกิดจากการสูญเสียน้ำในร่างกายไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้อวัยวะภายในหยุดการทำงาน และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด อาการเบื้องต้น คือ อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส ซึมลง และไม่มีเหงื่อออกตามร่างกาย หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ได้แก่ การรีบพาออกจากแหล่งความร้อนโดยเร็วที่สุด ถอดเสื้อผ้า และพยายามลดอุณหภูมิร่างกาย ใช้น้ำพ่นให้ทั่วร่างกาย และเป่าด้วยพัดลมก่อน และระหว่างนำส่งโรงพยาบาล
– ผดหรือโรคผื่นร้อน เป็นการอักเสบของท่อเหงื่ออย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดตุ่มแดงที่ผิวหนังมักมีอาการคัน โดยสามารถบรรเทาได้ด้วยยา เช่น คลอร์เฟนิรามีน (การใช้แป้งฝุ่น หรือแป้งโรยตัวเด็กมักไม่ค่อยได้ผล) เราสามารถป้องกันการเกิดผดได้ด้วยการสวมเสื้อผ้าที่สะอาด เบาหลวม และหลีกเลี่ยงสภาวะที่ทำให้เกิดเหงื่อจำนวนมาก
– การบวมจากความร้อน มีอาการบวม หรือรู้สึกตึงบริเวณมือ และเท้า มักเกิดภายใน 1-2 วันแรกของการสัมผัสความร้อน แต่จะไม่มีอาการบวมลุกลามไปยังบริเวณอื่น เช่น หน้าแข้ง ข้อเท้าหรือเปลือกตา อาการบวม ดังกล่าวนี้สามารถหายเองได้ภายใน 1-2 วัน
– โรคลมแดด จะมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ มักเกิดกับผู้ที่ไม่เคยชินกับสภาพความร้อนในช่วงแรกของการสัมผัสความร้อน บรรเทาอาการด้วยการดื่มน้ำ เกลือแร่ทดแทน เช็ดตัวให้เย็นขึ้น และนอนพักผ่อน
– โรคตะคริวแดด มีอาการปวดเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อน่อง หรืออาจมีอาการที่ต้นขา และไหล่มักเกิดในผู้ที่เสียเหงื่อเป็นปริมาณมาก และได้รับการทดแทนด้วยน้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มที่ไม่มีเกลือแร่ บรรเทาอาการได้ด้วยการทำให้ร่างกายเย็นขึ้น นอนพักในร่ม และให้เครื่องดื่มเกลือแร่ทดแทน
– โรคเพลียแดด มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน มึนงงปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ แต่ยังรู้สึกตัวตามปกติ เกิดจากการขาดสารน้ำ และเกลือแร่อย่างรุนแรง ภาวะดังกล่าวนี้สามารถให้การรักษาด้วยการออกจากแหล่งความร้อน แล้วนอนพักพร้อมให้สารน้ำทดแทนทั้งโดยการดื่ม และการให้ทางหลอดเลือดดำ
การรับมือกับอากาศร้อนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายของเรามีสุขภาพแข็งแรง และป้องกันการเกิดโรคที่มากับอากาศร้อน ดังนั้นเราจึงควรรับมือด้วยวิธีต่อไปนี้
1. ดื่มน้ำมากๆ: อากาศร้อนอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและสูญเสียน้ำได้ง่าย ดังนั้นควรดื่มน้ำเป็นประจำเพื่อรักษาความชื้นของร่างกาย และลดการเกิดอาการต่าง ๆ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้
2. เน้นรับประทานอาหารที่ปรุงสุก เเละปรุงใหม่ : การปรุงอาหารอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการสะสมของพิษในร่างกาย เพราะอาหารที่ไม่ได้รับการปรุงสุก หรือปรุงใหม่ อาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย และไวรัส ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
3. รักษาอุณหภูมิร่างกาย: อากาศร้อนอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และมีเหงื่อออกมากขึ้น ควรรักษาอุณหภูมิร่างกายด้วยการอาบน้ำเย็น หรือใช้ผ้าเช็ดตัวชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า และตามร่างกาย
4. ลดการออกกำลังกาย: ลดการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก เพราะอากาศร้อนอาจทำให้ร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน และออกซิเจนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย แนะนำให้เลือกกิจกรรมเบา ๆ เช่น วิ่ง หรือโยคะยามเย็น
5. รักษาอุณหภูมิของร่างกาย : การรักษาอุณหภูมิของร่างกายในช่วงอากาศร้อนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเมื่ออากาศร้อนจัด ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อต้องรับมือกับอันตรายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายได้ เช่น หากอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนมากควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่มีลักษณะบางเบา และปลอดโปร่ง ไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในร่างกายให้เกิดความสมดุล
การรับมือกับอากาศร้อนจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นควรระมัดระวังและดูแลสุขภาพอย่างดีในช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนจัด ถ้าหากจำเป็นจะต้องออกไปในที่กลางแจ้ง ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อนไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนดีใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป หรือควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น.
ที่มา : โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ, โรงพยาบาลขอนแก่น, แผนกสมองและระบบประสาท รพ. วิภาวดี, โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์