ผักตบชวา วัชพืชลอยน้ำที่คนไทยคุ้นเคย และเห็นเป็นประจำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2444 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะเป็นไม้ประดับสวยงาม
โดยเจ้านายฝ่ายในที่ตามเสด็จประพาสประเทศอินโดนีเซีย ได้เห็นพืชชนิดนี้มีดอกสวยงาม จึงนำกลับมาปลูกในประเทศไทย และใส่อ่างดินเลี้ยงไว้หน้าสนามวังสระปทุม จนกระทั่งเกิดน้ำท่วมวังสระปทุมขึ้น ทำให้ผักตบชวาหลุดลอยกระจายไปตามแม่น้ำลำคลองทั่วไป และแพร่พันธุ์อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
แต่ด้วยการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของผักตบชวา และมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน ทำให้ควบคุมและกำจัดยาก หากผักตบชวาเจริญเติบโตมากเกินไปจะไปแย่งทรัพยากรจากพืชอื่นๆ ให้ไม่ได้รับน้ำ แสง หรือสารอาหารเพียงพอ ส่งผลให้เกิดน้ำเน่าเสียได้
นอกจากนี้ ผักตบชวาที่ถูกทิ้งไว้โดยไม่ควบคุมอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคหรือโรคจากสัตว์ การควบคุมและกำจัดผักตบชวาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อรักษาความสมดุลในสิ่งแวดล้อม จึงทำให้พืชชนิดกลายเป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อม ในแต่ละปีประเทศไทยจึงต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการกำจัดผักตบชวา
หลายหน่วยงานคิดค้นวิธีใช้ประโยชน์ต่างๆ จากผักตบชวาขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำลำต้นมาแปรรูปเป็นเครื่องใช้ต่างๆอย่างเครื่องจักสาน เปลญวน รองเท้าแตะ เสื่อ กระเป๋าตะกร้า หรือนำผักตบชวาไปตีเป็นเส้นใยสำหรับสิ่งทอ และเนื้อของผักตบชวาที่เหลือจากการทำสิ่งทอก็สามารถนำไปทำปุ๋ยได้ เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุนในการกำจัดวัชพืชชนิดนี้
แต่เมื่อได้รู้จักผักตบชวาอย่างลึกซึ้งจึงพบว่าผักตบชวามีใยอาหารสูง มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามิน A, C และแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม จึงทำให้ ชาวบ้านตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีไอเดียในการนำผักตบชวามาทำเป็นอาหารดีๆ ที่มีประโยชน์อย่าง “บะหมี่หยกชวา”
ครูเต้ย – ดาธิณี ตามเพิ่ม (ครู กศน.ตำบลหนองน้ำใส อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา) เล่าว่า “ที่คลองระพีพัฒน์เราเห็นปัญหาของผักตบชวาในท้องถิ่น จึงพลิกเกมให้วัชพืชที่เป็นปัญหากลายเป็นประโยชน์ให้คนในชุมชน จากเดิมทีชาวบ้านบ้านหนองเครือบุญที่นี่มีอาชีพทอผ้า จึงมีแนวคิดนำผักตบชวาที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมมาเปลี่ยนเป็นเส้นใยจนสำเร็จ จนวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านหนองเครือบุญของเรามีผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือผักตบชวา แต่เราไม่หยุดค่ะ เรายังคงศึกษาประโยชน์ของผักตบชวา และพบว่าผักตบชวาสามารถนำมาสร้างประโยชน์ได้ทุกส่วน”
บ้านหนองเครือบุญ คือตัวอย่างชุมชนที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านที่นี่มีรายได้จากการแปรรูปผักตบชวาให้เป็นสินค้ามากมาย เช่น ผ้าทอมือ ตะกร้าจักสานกันกระแทก ทรายแมว กระดาษ จานใบไม้ รวมไปถึง บะหมี่หยกชวา และน้ำพริกที่ล้วนแล้วแต่ทำมาจากผักตบชวาทั้งสิ้น ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากวัชพืชที่ไม่ต้องปลูก ลดต้นทุนทั้งเงิน และเวลาได้มาก นี่คือตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่าทุกสิ่งบนโลกล้วนมีประโยชน์ เพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง
ที่มา :
- ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
รายการทุ่งแสงตะวัน ตอน ชวาภาชี