ปัจจุบัน ‘สีน้ำ’ มีบทบาทต่อการสร้างงานศิลปะอย่างมาก เพราะภาพวาดสีน้ำมีความสวยงาม อีกทั้งยังมีเสน่ห์เป็นลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจ ทำให้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ และความรู้สึกของผู้วาดออกมาได้อย่างดี เป็นที่มาของการผนึกกำลังระหว่าง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ เครือข่ายสมาคมสีน้ำโลก IWS ประเทศไทย (Interational Watercolor Sociely) เปิดเวทีประกวด BEM Art Contst ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด 20 ปี สายสีน้ำเงิน เพื่อตอกย้ำแนวคิดการสร้างประโยชน์ต่อสังคม ให้เยาวชน และประชาชนมีโอกาสแสดงความสามารถผ่านการวาดภาพระบายสีน้ำ
โดยแบ่งการประกวดเป็นระดับนักเรียนมัธยมปลายหรือเทียบเท่าอายุไม่เกิน 18 ปี และระดับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป อายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 158 ผลงาน ทางคณะกรรมการคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นเหลือเพียง 100 ผลงาน เพื่อเข้าสู่การประชันฝีมือในรอบชิงชนะเลิศ โดยมีอาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช ประธาน IWS Thailand และคณะกรรมการกิตติมศักดิ์อีก 4 ท่านร่วมตัดสินการแข่งขัน ซึ่งใช้เกณฑ์ตัดสินเพื่อให้คะแนนรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย 1) องค์ประกอบศิลป์ 30 คะแนน 2) หลักการใช้ทฤษฎีสี 30 คะแนน และ 3) ความประณีต ความสวยงามและความสมบูรณ์ของภาพ 40 คะแนน
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เป็นการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ณ METRO ART MRT สถานีพหลโยธิน โดยก่อนเริ่มการแข่งขันทางคณะกรรมการจับสลากเลือกภาพต้นฉบับ ที่ใช้ในการแข่งขันเพื่อความยุติธรรม โดยภาพที่จับได้เป็นภาพการเดินทางของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินช่วงสถานีอิสรภาพ – สถานีท่าพระ ‘วิวทิวทัศน์พระปรางค์วัดอรุณ’ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่โดดเด่นเป็นสง่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา
นางสาวปุญชรัสมิ์ ประกายอนุรัตน์ จากโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า เล่าด้วยความดีใจว่า ปกติเป็นคนชอบวาดภาพด้วยสีน้ำ และชื่นชอบการวาดวิวธรรมชาติอยู่แล้ว จึงอยากเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ปีที่แล้วเคยเข้าร่วมการแข่งขัน แต่พลาดไม่ได้รางวัล ได้แค่นำผลงานจัดแสดงที่นิทรรศการ ครั้งนี้จึงหวังไว้เพียงรางวัลชมเชยเท่านั้น แต่เมื่อประกาศชื่อผู้ชนะเลิศ ก็รู้สึกดีใจและตกใจมาก เพราะซ้อมอีกภาพหนึ่งมา พอเห็นภาพที่คณะกรรมการเลือกก็รู้สึกอึ้ง เพราะไม่ได้ซ้อมลงสีภาพนี้มาเลย
นายปัญญา จันทวงษ์ ครูศิลปะ โรงเรียนดอนเมืองทหารอากาศบำรุง ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนักศึกษาและประชาชนทั่วไป เล่าว่า ส่วนตัวชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก และปัจจุบันเป็นครูสอนศิลปะ จึงมีความชื่นชอบการวาดภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สีน้ำเป็นวัสดุที่ใช้ได้ไว ทำได้ไว แต่การวาดสีน้ำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องคุมน้ำหนักให้ดี
“ปีที่แล้วได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 อาจารย์บันชาจึงแนะนำว่าการลงสีแบบนี้ดีแล้ว เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ครั้งนี้จึงฝึกวาดรูปเป็นระยะ ตอนที่รู้ว่าได้ที่ 1 ก็รู้สึกตกใจและดีใจมากว่าสิ่งที่เราเตรียมตัวมาคุ้มค่าจริงๆ ทั้งยังดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกภาพวาดความทรงจำ ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าลูกหลานจะได้เห็นว่าเคยมีบรรยากาศเช่นนี้
“อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของ BEM ถือเป็นกิจกรรมที่ดีมาก เปิดโอกาสให้นักเรียน ประชาชนทั่วไปที่สนใจศิลปะได้แสดงความสามารถทางด้านการวาดภาพ”
สำหรับผู้ได้รับรางวัลในแต่ละประเภทมีดังนี้ ประเภทระดับนักเรียนมัธยมปลายหรือเทียบเท่า อายุไม่เกิน 18 ปี รางวัลชนะเลิศ นางสาวปุญชรัสมิ์ ประกายอนุรัตน์, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นางสาวนารา วิบูลย์สันติพงศ์, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นางสาวพนัชกร ดวงแสงเหล็ก และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ นางสาวภูษณิศา หมู่ทอง และนางสาวชฎาพร ใจมั่น
ประเภทนักศึกษาและประชาชนทั่วไป อายุ 18 ปีขึ้นไป รางวัลชนะเลิศ นายปัญญา จันทวงษ์,รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายประพัฒน์ นิสสัย, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายวิชัย เรืองปฏิกรณ์ และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ นางสาวอรอุมา พรหมฤทธิ์ และนางสาวกุลธิดา วรรณจงคำ
ด้าน อาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช ประธาน IWS Thailand กล่าวว่า รอบนี้ผู้เข้าร่วมมีความพร้อมมากกว่าปีก่อน เพราะรู้แนวทางและฝึกฝนกันเพิ่มค่อนข้างหนัก ทำให้วันนี้เป็นการสู้กันของยอดฝีมือ และการแข่งขันในรูปแบบของ IWS เราต้องการความเสมอภาค ตั้งแต่เรื่องเครื่องมือ เราจึงเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์เป็นสีน้ำมันเกรดอาร์ทติส กระดาษ cotton100% และโจทย์ในปีนี้เป็น composition photo มีการดึงเอาภาพรถไฟที่วิ่งผ่านแหล่งท่องเที่ยวมาทำกราฟิกขึ้นมาใหม่ เหมือนจัดองค์ประกอบคร่าวๆให้กับผู้เข้าแข่งขัน แล้วให้ผู้เข้าแข่งขันไป design painting ของตนเอง ซึ่งอาจารย์มองว่ามันเป็นมิติใหม่อย่างหนึ่ง ทำให้ผู้แข่งมีสมาธิสูงขึ้น
นางสาวสุวพีร์ ลือสิริพรกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายสื่อสารการตลาดและองค์กร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ทิ้งท้ายว่า “BEM หวังว่าโครงการนี้ จะส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนที่มีใจรักศิลปะได้มีพื้นที่พัฒนาศักยภาพ แสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ทั้งยังเป็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งอาจจะเป็นผู้ใช้บริการอยู่แล้วหรือเป็นผู้ใช้บริการกลุ่มใหม่ในอนาคตได้รู้จักกันดีมากยิ่งขึ้น”