สัตวแพทย์สรุปสาเหตุการตายของ “ตุลา” ลูกช้างป่าเพศผู้ โดยพบว่ามีอาการบาดเจ็บและอักเสบของกระดูกต้นขาหน้าทั้ง 2 ข้าง ทำให้เกิดสภาวะช็อคจากการบาดเจ็บรุนแรง
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจาก นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ถึงกรณีการเสียชีวิตของลูกช้างป่า “ตุลา”
เบื้องต้นนายสัตวแพทย์ ไพโรจน์ พรมวัฒน์ ระบุว่า ที่ผ่านมาลูกช้างป่าพลัดหลง “ตุลา” มีอาการป่วยเนื่องจากยืนหลับ ไม่ยอมล้มตัวลงนอนติดต่อกันหลายวัน จนมีอาการเจ็บและอักเสบบริเวณขาหน้าทั้ง 2 ข้าง รวมถึงขาหลังขวาที่มีการก้าวเดินผิดปกติ จนเริ่มมีอาการทรุดลง

ภาพจาก : Facebook กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ภาพจาก : Facebook กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
จึงได้มีการระดมทีมสัตวแพทย์จากหลายหน่วยงาน ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) คลินิกช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และชมรมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ทำการรักษาและอนุบาล “ตุลา” อย่างใกล้ชิด
กระทั่งเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2566 เวลา 04.00 น. สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เข้าช่วยเหลือลูกช้างป่าในการพยุงตัวลุกยืน ซึ่งก่อนหน้านี้สัตวแพทย์ตรวจพบว่า “ตุลา” มีอาการป่วยด้วยภาวะโรคกระดูกบาง (metabolic bone disease) หลังจากนั้นสัตวแพทย์ได้มีการรักษาโรคกระดูกบางรวมถึงเฝ้าระวังและติดตามอาการของการใช้ขาของลูกช้างป่ามาอย่างต่อเนื่อง

ภาพจาก : Facebook กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โดยพบว่า “ตุลา” ไม่สามารถลุกยืนได้จากการนอนในเวลากลางคืน จึงได้เข้าช่วยเหลือโดยการใช้เครนยกตัวเข้าช่วยพยุงตัวให้ยืนขึ้น หลังจากนั้นสัตวแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายพบว่า ขาหน้าทั้ง 2 ข้างมีอาการอ่อนแรง บวม ข้อเท้าขาหน้าทั้ง 2 มีการงอ ไม่ขยับเดิน จึงได้ทำการให้ยาลดปวด ลดอักเสบ และพันขาลดการปวดการอักเสบ
ทั้งนี้ “ตุลา” ไม่สามารถใช้ขาช่วยพยุงตัวให้ยืนได้ จึงได้ทำการให้นอนพัก และให้เจ้าหน้าที่ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง และเวลา 18.00 น. ลูกช้างป่า “ตุลา” เริ่มมีอาการหายใจช้าลง ลิ้นเริ่มมีสีซีด มีภาวะหัวใจหยุดเต้น สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่จึงได้เข้าช่วยเหลือปฐมพยาบาลเร่งด่วน โดยการทำ CPR เพื่อกระตุ้นการหายใจ ลูกช้างป่าไม่มีการตอบสนองต่อการช่วยชีวิต และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้น เกิดการภาวะบาดเจ็บรุนแรงของกระดูกต้นขาหน้าทั้ง 2 ขา หัก (Humerus fracture) ทำให้เกิดสภาวะช็อคจากการบาดเจ็บรุนแรงตามมา (Pain shock)
วันที่ 14 สิงหาคม 2566 เวลา 06.00-09.30 น. นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมกับทีมสัตวแพทย์ทำการชันสูตรเพื่อหาสาเหตุและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางปฏิบัติการเพื่อยืนยันถึงสาเหตุการเสียชีวิต ปรากฏว่าสาเหตุหลักในการเสียชีวิต เกิดจากสภาวะกระดูกบางทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณขาหน้า (ด้านบน) ทั้ง 2 ข้าง พบการสลายของกระดูก ทำให้กระดูกแตกหักละเอียด ผิดรูป
ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการไม่ล้มตัวลงนอน และเล่นกับพี่เลี้ยงตามปกติ อวัยวะภายในร่างกายพบว่า ลำไส้มีความแดงผิดปกติ และสัตวแพทย์ได้ทำการเก็บตัวอย่างอวัยวะทั้งหมด รวมถึงกระดูก ส่งทางห้องปฏิบัติการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์พัฒนาการทางสัตวแพทย์ภาคตะวันออก กรมปศุสัตว์

ภาพจาก : Facebook กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สำหรับ “ตุลา” เป็นลูกช้างป่าเพศผู้ ที่พลัดหลงเข้ามาในฐานปฏิบัติการ ฐานแยก กองร้อยทหารพรานนาวิกโยธิน ที่ 544 หมู่ 4 บ้านทุ่งกร่าง ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ซึ่งขณะนั้นมีอายุประมาณ 1-2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ร่วมกันตั้งชื่อลูกช้างป่าตัวนี้ว่า “เจ้าตุลา” ตามเดือนที่พบเจอ
ขณะที่พบลูกช้างมีอาการอ่อนแอ สัตวแพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และได้รับการสนับสนุนน้ำนมช้างจากแม่ช้าง 4 เชือกที่เพิ่งตกลูก จากสวนนงนุชพัทยามาให้ลูกช้างกิน ตลอดจนการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมสัตวแพทย์ และทีมพี่เลี้ยง โดยปกติลูกช้างทั่วไปจะกินนมแม่เป็นอาหารหลักในช่วงขวบปีแรก และเมื่อเริ่มกินอาหารอื่น เช่น หญ้า ผลไม้ อ้อย เป็นต้น จึงจะลดการกินนมลงจนกระทั่งหย่านมที่อายุประมาณ 2.5-3 ปี
ทั้งนี้เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่ น้ำหนักมาก จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนากระดูกให้มีความแข็งแรง เพื่อรองรับน้ำหนักตัวมหาศาล การให้ช้างได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างกระดูก โดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยที่กำลังเจริญเติบโต จึงมีความสำคัญต่อสุขภาพช้างในระยะยาวอย่างยิ่ง

ภาพจาก : Facebook กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โดยก่อนหน้านี้ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการตรวจสุขภาพ พบว่า “ตุลา” ป่วยเป็นโรคติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง (EEHV) ทีมสัตวแพทย์จึงได้ทำการรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัสแบบกิน เพื่อรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จนทำให้ “ตุลา” เริ่มมีสุขภาพแข็งแรง มีสุขภาพดี และเป็นช้างอารมณ์ดีขึ้น ขี้เล่น จนเป็นขวัญใจคนรักสัตว์
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการเคลื่อนย้ายลูกช้างป่า “ตุลา” จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี มายังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) มีพื้นที่ที่เหมาะสม
ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการจัดทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ และพี่เลี้ยง ดูแลอาการช้างป่า “ตุลา” อย่างใกล้ชิดมาตลอด นานถึง 10 เดือน และได้จากไปในที่สุด นับเป็นข่าวเศร้าของคนที่รักเจ้าช้างน้อยตัวนี้

ภาพจาก : Facebook กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว NuNa Silpa-archa โดยระบุว่าหนูเกิดมาให้ผู้คนมากมายได้รัก แม้คนที่อาจไม่เคยอ่อนโยน เชื่อว่าเมื่อได้เห็นความน่ารักของหนู ก็เกิดความรักเมตตา ใจอ่อนโยนลง
หนูไม่ได้จากไปไหน แค่ดวงจิตหนูเคลื่อนเปลี่ยนภพภูมิ ซึ่งป้าเชื่อมั่นว่า ที่ใหม่ที่หนูไปปฏิสนธิ ต้องเป็นที่ดีงาม เพราะชีวิตนี้หนูไม่ได้ทำบาปใดๆ มีแต่ทำให้มนุษย์มีความสุข และยามทิ้งร่างอันชำรุดนี้ไป หนูก็ไปอย่างสงบ
ป้าก็รักหนูเสมอ ตุลา ช้างน้อยของป้าและทุกคน (ต้องใช้ธรรมะดามใจหนักหน่อย)

ภาพจาก : Facebook กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
รู้จักโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง หรือ EEHV
โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง หรือ EEHV (Elephant Endotheliotropic Herpesvirus) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในสกุลย่อย Betaherpesviridae โดยในปี 1998 มีรายงานการตายของลูกช้างเอเชียที่สวิตเซอร์แลนด์ว่าตายจากอาการของโรคทางระบบเลือดเฉียบพลัน (Acute hemorrhagic disease) และพบการตายของลูกช้างที่มีอาการดังกล่าวที่สวนสัตว์ในยุโรปและอเมริกาเหนืออีกกว่า 20 เคส ในช่วงยุค 1990
ต่อมาได้ถูกค้นพบว่าสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Elephant Endotheliotropic Herpesvirus เป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาในปี 1999 โดยไวรัสชนิดนี้พบได้เฉพาะในช้าง ทั้งช้างเอเชีย (Elephas maximus) และช้างแอฟริกา (Loxodonta africana) ปัจจุบันพบว่าไวรัสมี 8 ชนิดย่อย ได้แก่ 1, 1A, 1B, 2, 3, 4, 5 และ 6 โดยช้างเอเชียจะพบชนิด 1, 1A, 1B, 3, 4 และ 5
สำหรับในประเทศไทย มีรายงานการตายของลูกช้างด้วยอาการคล้ายโรค EEHV ในปี 2005 ก่อนจะตรวจพบเชื้อ EEHV1A จากตัวอย่างเนื้อเยื่อหัวใจที่ถูกเก็บแช่แข็งไว้ในอีก 5 ปีต่อมา และพบการติดเชื้อ EEHV4 ในลูกช้างอายุ 3 ปี เมื่อปี 2011 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่พบในเอเชีย และครั้งที่สองของโลกที่พบเชื้อชนิดนี้
ความรุนแรงของโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส
โรค EEHV เป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบเลือดของช้าง โดยเชื้อไวรัสจะเข้าไปทำลายผนังหลอดเลือดเป็นหลัก สำหรับอาการจะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ ช้างจะมีอาการซึม อ่อนแรง มีไข้ มีการบวมน้ำที่ส่วนหัว งวง คอ ขา ท้อง เนื่องจากผนังหลอดเลือดถูกทำลายทำให้ของเหลวไหลออกนอกเส้นเลือด โดยเห็นชัดที่สุดบริเวณใบหน้าของช้าง ลิ้นบวม ม่วง พบจุดเลือดออกหรือแผลหลุมได้
เชื้อ EEHV4 จะส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารด้วย ทำให้ช้างมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด โรคนี้มีความรุนแรงมากในช้างอายุต่ำกว่า 15 ปี พบอัตราการตายสูงถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ลูกช้างอาจตายได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังจากเริ่มแสดงอาการ เนื่องจากภาวะหัวใจและอวัยวะภายในล้มเหลว
สำหรับการแพร่กระจายโรค พบว่ามาจากการสัมผัสโดยตรงกับช้างที่ติดเชื้อเป็นหลัก โดยเชื้อแพร่ออกมากับสิ่งคัดหลั่งจากงวง น้ำลาย หรือของเหลวต่างๆ ในร่างกาย
แนวทางการรักษาและป้องกันโรค EEHV
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะ สัตวแพทย์จะรักษาตามอาการ ทั้งการให้ยาต้านไวรัส ยาลดปวดลดอักเสบ ให้สารน้ำและยาบำรุง ไปจนถึงการถ่ายเลือด และโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงเน้นไปที่การสังเกตอาการช้างเป็นหลัก
หากพบความผิดปกติของลูกช้าง เช่น ซึม ตัวร้อน หน้าเริ่มบวม ลิ้นเริ่มมีสีเข้มขึ้น หรือถ่ายเหลว ให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ทันที หากได้รับการรักษาไว จะยิ่งลดโอกาสในการเสียชีวิตของลูกช้างได้ นอกจากนี้ในหลายพื้นที่มีการให้วิตามินซีเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกช้างอีกด้วย

ภาพจาก : Facebook ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ (MoZWE)