มหาดไทยออกระเบียบใหม่ จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีผล 12 สค. 66 เป็นต้นไป ไม่ถ้วนหน้าแล้ว คนที่จะได้ต้อง “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ”
โดย ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่ หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566 ข้อที่น่าสนใจคือ ข้อที่กำหนดว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ”
ซึ่งอยู่ในข้อ 6 (4) ดังนี้
ข้อ 6 ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(3) มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น
(4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
นั่นหมายความว่า หลังจากนี้ มิใช่ว่า ผู้ที่อายุครบ 60ปีทุกคน (ยกเว้นข้าราชการบำนาญ) จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยอัตโนมัติ หากแต่ต้องพิสูจน์ว่า ตนเองนั้น “ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด”
เช่น ทำงานเอกชนจนเกษียณอายุ หรือบุคคลทั่วไป แต่มี มีที่ดิน มีทรัพย์สินเงินทองอื่นเป็นต้น ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยตัวนี้
ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ออกมานั้น มีข้อสังเกต 3 ประการ
1.ใครที่เคยได้รับแล้ว ยังคงได้รับต่อไป
2.ระเบียบเดิมให้ใช้ไปพลางก่อน จนกระทั่ง คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติได้กำหนดคุณสมบัติ ผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามข้อ 6 (4) ออกมา
(หมายเหตุ ดูบทเฉพาะกาล ข้อ 18 ที่ว่า
ข้อ 18 ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุยังมิได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามข้อ 6 (4) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้คุณสมบัติผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมไปพลางก่อน
หมายความว่า หากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติได้กำหนดคุณสมบัติ ผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และมีระเบียบออกมา ก็จะกำหนดชัดๆ ไปเลยว่า ผู้ใดเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับ หรือไม่ได้รับ
3.สำหรับ ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษ และได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปด้วยความสุจริต ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต้องไปเรียกเงินคืน
ข้อนี้ หมายความว่า จากกรณีที่เคยมีปัญหากันว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษ (บำนาญพิเศษ เพื่อตอบแทนข้าราชการและพลเรือนที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งได้รับอันตราย พิการ ทุพพลภาพ เสียชีวิต โดยบิดา มารดาจะได้รับเงินดังกล่าวจนเสียชีวิต) แล้วได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปฟ้องเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สร้างความโกลาหลให้กับคนเฒ่าคนแก่มากมาย ว่าต้องคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือไม่ กระทั่งมีผู้ไปร้องกับผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ไปเรียกคืนเค้าไม่ได้
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ว่า “เงินบำนาญพิเศษเป็นคนละก้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีสิทธิได้รับทั้งสองทาง เตรียมเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขระเบียบ ส่วนผู้ที่นำเงินมาคืนถือว่ามีเจตนาว่าจะไม่รับเงินก้อนนี้” ซึ่งทางด้าน นายวิษณุ เครืองาม ก็ชี้ว่า ไม่เอาผิดอาญา ไม่มีใครต้องติดคุก แต่ทางแพ่งถ้าเงินยังเหลือจะต้องคืน หากไม่เหลือไม่ต้องคืน ถ้าเงินเหลือแต่ไม่ใช่เงินที่ได้รับจากเบี้ยยังชีพคนชราไม่ต้องคืน(ข่าวเมื่อปี 2564)
ดังนั้น ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ตัวนี้ จึงต้องออกมาชัดว่า ถ้าได้เงินซ้ำซ้อนกัน เคยได้แล้วก็แล้วไป ไม่ต้องเรียกคืน และต่อไปจากนี้ (ระเบียบใหม่) ก็สามารถรับได้ทั้งสองทาง
อธิบายเพิ่ม
– ระเบียบเก่าที่กำหนดไว้ใน ข้อ 6 ว่า “ผู้ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษ”
– แต่ระเบียบใหม่ออกมาโดยเฉพาะ ข้อ 6 ที่กำหนดคุณสมบัติไว้ 4 ข้อ และไม่ได้กำหนดห้ามไว้ (“ผู้ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษ”) นั่นหมายความว่า ผู้ที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษแล้ว ก็อาจมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ด้วย
ดูประกาศตัวเต็ม https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D192S0000000000300.pdf