กกต. หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง กลายเป็นชื่อที่ติดแฮชแท็กสูงสุดในทวิตเตอร์วันนี้ ด้วยความสงสัยของประชาชนว่า #กกตมีไว้ทำไม หลังมีมติ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล กรณีเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีเหตุสิ้นสุด ลงตามรัฐธรรมนูญ
ในสังคมได้วิพากษ์วิจารณ์มติดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเห็นว่านายพิธา ยังไม่มีโอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆ ต่อ กกต.เลย บ้างก็ตั้งข้อสังเกตว่านายพิธา เป็น ส.ส.มา 4 ปีแล้วแต่เพิ่งขาดคุณสมบัติ ส่งผลให้ #กกตมีไว้ทำไม ซึ่งเคยติดเทรนด์ทวิตเตอร์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากถูกวิจารณ์อย่างหนัก วันนี้ (12 กรกฎาคม 2566) ก็กลับมาติดเทรนด์อีก และนอกจากแฮชแท็ก กกตมีไว้ทำไม ยังมีแฮชแท็กประเด็นการเมืองทยอยติดเทรนด์ทวิตเตอร์ต่อเนื่อง เช่น แฮชแท็กนายกพิธา แฮชแท็กประชุมสภา แฮชแท็กโหวตนายก เป็นต้น
FEED จะพาผู้อ่านไปสรุปหน้าที่ของ กกต. และพวกเขาได้รับเงินเดือนกันคนละเท่าไหร่ แต่ก่อนอื่นเรามาดูกันว่า กกต. ชุดนี้มีใครบ้าง
กกต. มีใครบ้าง?
สำหรับ กกต.ชุดปัจจุบันเหลือ 5 คน พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว 2 คน เนื่องจากอายุครบ 70 ปี จึงมี กกต. 5 คน ที่เข้าร่วมการประชุมพิจารณานายพิธา ในวันนี้ ประกอบด้วย
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.
นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กรรมการ กกต.
นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการ กกต.
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการ กกต.
นายฐิติเชษฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการ กกต.
และนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. (เข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนของสำนักงาน กกต.)
กกต.มีหน้าที่อะไรบ้าง?
กกต.มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 16 ข้อ แต่ถ้าจะกล่าวโดยสรุปแล้วหน้าที่หลักๆ ของ กกต. มีดังนี้
1. ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติ ท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ
2.สืบสวน ไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริง และวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ นับคะแนนใหม่
3.มีอำนาจแจ้งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและให้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล ไม่ว่าในเรื่องทางแพ่ง หรืออาญา หรือทางปกครอง แก่ผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
4.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ดำเนินคดีอาญากับผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้เกี่ยวข้อง (ให้ใบเหลือง หรือ ใบแดง) ผู้สมัครและสมาชิกสภา ที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
5.ออกกฎระเบียบ คำสั่ง ข้อกำหนดที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานตามกฎหมาย
กกต.ได้เงินเดือนเท่าไหร่?
สำหรับเงินเดือนของ กกต. จากการตรวจสอบข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 61 เผยแพร่พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการ และกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 โดยได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งดังนี้
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
เงินเดือน 81,920 บาท
เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 50,000 บาท
รวมเงินที่ได้รับเดือนละ 131,920 บาท
กรรมการการเลือกตั้ง
เงินเดือน 80,540 บาท
เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 42,500 บาท
รวมเงินที่ได้รับเดือนละ 130,540 บาท