กลายเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในโลกโซเชียลฯ เมื่อชาวญี่ปุ่นที่มาเที่ยวในประเทศไทย โพสต์ทวิตเตอร์รูปถนนที่อ้างว่าอยู่ในไทย พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่า “ที่นี่คือเมืองไทย เสาบางเกินไปหรือเปล่าครับ” โพสต์นี้ถูกแชร์ออกไป และรีทวีตไปกว่า 8,000 ครั้ง มีคนเข้ามาอ่านไปแล้วกว่า 13 ล้านวิว ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง
รศ.เอนก ศิริพานิชกร กรรมการควบคุมอาคาร ที่ปรึกษาสาขาวิศกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย อธิบายว่า หากมองตามความรู้สึกขนาด อาจจะดูไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะมีขนาดที่บางมาก แต่มีความแข็งแรงไม่น้อยไปกว่าสะพานที่ใช้เสาตอม่อขนาดใหญ่ 2 ต้น เพราะมีการวางเสาต่อเนื่องกัน ในการถ่ายเทน้ำหนัก
รู้จักสะพานพระราม 3 กัน ซักหน่อย
สำหรับ สะพานพระราม 3 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ก่อสร้างวันที่ 29 สิงหาคม 2539 และเปิดให้สัญจรในวันที่ 30 มี.ค.2543 สร้างขนานกับสะพานกรุงเทพ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร เนื่องจาก สะพานกรุงเทพยังคงต้องเปิด-ปิดสะพานอยู่ จึงต้องสร้าง “สะพานพระราม 3” ให้สูงเพื่อให้เรือสินค้าแล่นผ่านได้ ปัจจุบันเปิดใช้งานมาแล้ว 23 ปี โดยมีกรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดูแลและก่อสร้าง
ปัจจุบันการออกแบบเสาตอม่อให้เล็กมีความนิยมกันมาก เพราะประหยัดพื้นที่ ให้พื้นที่ด้านล่างน้อย โดยเฉพาะในต่างประเทศมีการใช้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น โดยยการทำโครงตั้งฉากในลักษณะดังกล่าวจะลดรอยต่อให้น้อยลง