“พลายศักดิ์สุรินทร์” ทูตสันถวไมตรี “ไทย-ศรีลังกา” เดินทางกลับถึงบ้านเกิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางความยินดีของคนไทยทั้งประเทศ โดยมี “นายวราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ควบคุมและดูแลความเรียบร้อยในการเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์อย่างใกล้ชิด ณ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ก่อนนำตัวไปยังสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ หรือ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง เพื่อรักษาอาการป่วยต่อไป
การนำช้างพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทยในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก องค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา (Rally for Animal Rights & Environment (RARE) มีความกังวลต่อพลายศักดิ์สุรินทร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากถูกใช้งานหนัก และไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จนช้างมีอาการป่วย อยู่ในสภาพผอมแห้ง กระดูกหลังโก่งนูน ขาหน้าด้านซ้ายผิดปกติ งอไม่ได้ มีอาการบาดเจ็บสะสมมานานกว่า 10 ปี จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน จนกระทั่งนายวราวุธและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประสานงานและวางแผนถึงวิธีการที่จะนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมายังแผ่นดินเกิด และบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566
ศรีลังกาขอลูกช้างเพศผู้ 2 เชือก ตั้งแต่ปี 2543
เมื่อปลายปี 2543 นางจันดริกา กุมาราตุงกะ (Chandrika Kumaratunga) ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ได้มีหนังสือกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขอพระราชทานลูกช้างเพศผู้ 2 เชือก เพื่อนำไปฝึกสำหรับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานพิธีแห่พระบรมสารีริกธาตุประจำปีของประเทศศรีลังกา
ทั้งนี้เพราะช้างทรงที่เชิญพระบรมสารีริกธาตุในปัจจุบันมีอายุมากแล้ว จึงต้องฝึกช้างใหม่เพื่อใช้ทดแทนในภายภาคหน้า ซึ่งในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริให้รัฐบาลไทยเป็นเจ้าของเรื่องเพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง
นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มอบหมายให้กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาช้างเพศผู้ 2 เชือกที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามคชลักษณ์ ช้างพลาย 2 เชือก ชื่อ ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ และช้างพลายศรีณรงค์ ในนามของประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประเทศ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระราชวังสุโขทัย พระราชทานพระสุหร่ายแก่ลูกช้างทั้งสองเชือกดังกล่าว แทนพระองค์ในวันที่ 6 มกราคม 2544 เพื่อความเป็นสิริมงคลในวโรกาสที่จะพระราชทานให้กับรัฐบาลศรีลังกา และมีพิธีรับมอบช้างในวันที่ 8 มกราคม 2544
“งาอุ้มบาตร” ช้างที่มีงายาวโค้ง ใช้เพื่ออัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว
“งาอุ้มบาตร” หรือ “งาหยวกกล้วย” เป็นเอกลักษณ์ของช้างไทยที่เด่นชัด ถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ คือเป็นช้างพลายที่มีงายาวโค้งเหมือนพระอุ้มบาตร ตามความเชื่อของชาวศรีลังกา เชื่อว่าช้างที่จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระเขี้ยวแก้ว ต้องเป็นช้างที่มีลักษณะงาอุ้มบาตร
ซึ่งช้างของไทยที่ส่งไปยังศรีลังกานั้นตรงตามลักษณะที่ศรีลังกาต้องการ หลังจากพลายศักดิ์สุรินทร์ถูกส่งไปอยู่ศรีลังกา รัฐบาลศรีลังกาได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ วัดคันเดวิหาร (Kande Vihara) เป็นผู้รับช่วงดูแลต่อ เพื่อให้ทำหน้าที่ในขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในงานแห่พระธาตุประจำปีของศรีลังกา ซึ่งมีเฉลี่ย 30 ครั้งต่อปี และพลายศักดิ์สุรินทร์ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “มธุราชา” (Muthu Raja)
พลายศักดิ์สุรินทร์มีขนาดงาโค้งยาวทั้งสองข้างกว่า 50 ซม. ถือเป็นช้างที่มีงายาวที่สุดในศรีลังกา ปัจจุบันมีอายุประมาณ 30 ปี แต่สภาพร่างกายทรุดโทรมกว่าวัย รวมทั้งถูกล่ามโซ่ ใช้แรงงาน ถูกทอดทิ้ง และถูกทารุณกรรม
ทำให้ขาหน้าซ้ายของพลายศักดิ์สุรินทร์ได้รับบาดเจ็บอย่างถาวร จนงอขาไม่ได้ มีฝีและบาดแผลฉกรรจ์ทั่วตัว แต่ยังมีการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ไปแสดงในขบวนพาเหรดแบบดั้งเดิม จนมาสู่กระบวนการนำตัวกลับบ้านเกิดในที่สุด
ช้างพลาย 3 เชือกที่ถูกส่งไปศรีลังกา
จากข้อมูลพบว่า ช้างไทยเชือกแรกที่ถูกส่งไปให้ศรีลังกา ชื่อ “พลายประตูผา” เมื่อปี 2522 ปัจจุบันมีอายุประมาณ 45 หรือ 49 ปีแล้ว มีสภาพร่างกายค่อนข้างชรา หนังหยาบกระด้าง ไทยมอบให้ตั้งแต่มีอายุเพียง 12 ปี โดยอยู่ที่วัด Sri Dalada Maligawa เมือง Kandy ในเอกสารของศรีลังการะบุว่า ขอเพื่อนำไปเป็นช้างแห่พระเขี้ยวแก้ว แต่เมื่อไปถึงกลับเป็นช้างอยู่ท้ายขบวน ล่าสุดทางวัดได้นำช้างพลายประตูผา ออกจากพื้นที่โดยอ้างว่าตกมัน ส่วนอีกเชือกชื่อ “พลายศรีณรงค์” ถูกส่งไปศรีลังกาพร้อมกับ “พลายศักดิ์สุรินทร์” เมื่อปี 2544
“หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา ปรึกษาคณะการทำงานยุทธศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยหลังจากที่ได้ไปประเมินสุขภาพและดูความเป็นอยู่ของพลายศรีณรงค์ (Kandula) ณ Ali wadiya – elephants park ซึ่งตั้งอยู่ข้างวัด Kiri Vehera เมือง Katagarama ตั้งอยู่ทางตอนใต้ ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร จากกรุงโคลัมโบ
เบื้องต้นพบว่า พลายศรีณรงค์ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี โดยถูกเลี้ยงอยู่ในโรงเลี้ยงขนาดใหญ่ มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี ลักษณะงดงาม สุภาพเรียบร้อย ดูมีความสุข เข้ากับควาญช้างที่ดูแลมากว่า 6 ปีได้ดี แม้ว่าจะพบบาดแผลบริเวณขาบ้าง แต่ไม่เท่ากับพลายศักดิ์สุรินทร์