จากกรณีที่ วัตถุกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ สูญหาย ที่ จ.ปราจีนบุรี กระทั่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมผู้เชี่ยวชาญ-สถานพยาบาล รองรับและเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม แม้ยังไม่พบข้อมูลวัสดุหลุดออกจากเครื่องกำบัง
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีวัตถุกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม-137’ (Cesium-137, Cs-137) ของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี สูญหาย ทำให้เกิดความกังวลว่า อาจมีผู้ที่ไม่ทราบว่าเป็นวัตถุอันตราย และมีการสัมผัสจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีรายงานข้อมูลเบื้องต้นว่า วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก ซึ่งหากยังอยู่ในสภาพเดิมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ยังค้นหาไม่พบ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2566)
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจได้รับผลกระทบด้วย
สำหรับสารซีเซียม-137 เป็นกัมมันตภาพรังสี (radioactivity) หากสัมผัสในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน แต่หากสัมผัสในระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้น จะเริ่มมีผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย หากสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในนัยน์ตา ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ
นอกจากนี้ หากปนเปื้อนลงไปในน้ำ จะส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการรับและการสะสม หากสัตว์รับสารรังสีเข้าไปจะเพิ่มความเข้มข้นสะสมในห่วงโซ่อาหาร แต่ยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจนว่าจะถึงขั้นเปลี่ยนระบบนิเวศน์ใต้ทะเลหรือไม่
จากกรณีดังกล่าว อาจย้อนไปถึงบทเรียนครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นในประเทศ และนับเป็นอุบัติเหตุทางรังสีครั้งแรกของประเทศไทย เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมกราคม–ต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 ที่จังหวัดสมุทรปราการ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มจากกลุ่มผู้รับซื้อของเก่าหรือซาเล้ง ได้นำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ซึ่งมีสเตนเลสและตะกั่วห่อหุ้ม ออกจากลานจอดรถรกร้างในซอยอ่อนนุช เขตประเวศ และนำไปขายให้แก่ร้านรับซื้อของเก่าชื่อสมจิตร ในซอยวัดมหาวงศ์ จ.สมุทรปราการ
ต่อมาทางร้านได้แยกชิ้นส่วนสเตนเลสและตะกั่วออกมา เหลือเพียงสารโคบอลต์-60 ในแท่งโลหะทรงกระบอกเล็กๆ ถูกทิ้งไว้ในโกดังของร้าน โดยไม่ทราบว่ามีการแผ่กัมมันตภาพรังสีออกมาตลอดเวลา
จนกระทั่งวันที่ 16 – 17 กุมภาพันธ์ 2543 คนงานในร้านสมจิตร 2 คน ที่ร่วมกันแยกชิ้นส่วนเครื่องฉายรังสีดังกล่าว มีอาการผิวคล้ำ ปากเปื่อย ผมร่วง มือบวมพอง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย จนต้องนำส่งโรงพยาบาลสมุทรปราการ และตรวจพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
แพทย์สงสัยว่าได้รับสารกัมมันตภาพรังสี จึงได้รายงานกระทรวงสาธารณสุขและแจ้งต่อสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พป.) เพื่อเก็บกู้สารโคบอลต์-60 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2543
จากเหตุการณ์ดังกล่าว สรุปความเสียหายได้ดังนี้ :มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 10 ราย (บางรายพิการ ขณะที่หญิงมีครรภ์บางรายต้องทำแท้ง เพราะตรวจเลือดพบความผิดปกติ) และชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงในรัศมี 50-100 เมตร รวม 1,614 คน ต้องเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน
เหตุการณ์ดำเนินเรื่อยมาสู่การฟ้องร้อง กระทั่งศาลมีฎีกามีคำพิพากษา ตัดสิน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ให้จำเลย จ่ายค่าเสียหายรวมค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 529,276 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
หมายเหตุ ในคดีโคบอลต์ -60 ที่คดีมาถึงชั้นศาลฎีกาข้างต้น
โจทก์ คือ คนที่ได้รับผลกระทบที่ยื่นฟ้อง
ส่วนจำเลย คือ ผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 โดยมิได้รับอนุญาตจากสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติแห่งชาติ (พป.) ตามกฎหมาย และยังกระทำประมาทเลินเล่อไม่จัดเก็บเครื่องฉายดังกล่าวให้ปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกำหนด โดยนำเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ทิ้งไว้ในโรงรถเก่าตั้งอยู่ย่านพระโขนง กทม.ส่งผลให้มีคนภายนอกนำเอาชิ้นส่วนของเครื่องฉายรังสี คือ แท่งตะกั่วบรรจุสารโคบอลต์ ไปขาย)
อ้างอิงข้อมูล : ข่าวคำพิพากษาศาลฎีกาจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์ วันที่ 8 มิถุนายน 2559