“มารีน่า อบราโมวิช” ศิลปินคอนเซปชวล และเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตระดับโลก เตรียมจัดบรรยายพิเศษ “History of Long Durational Work and MAI” ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เป็นครั้งที่ 3 แล้วของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022” (BAB 2022) โดยมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ-เอกชนทุกภาคส่วน ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้แนวคิด “CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข”
ตลอดทั้งเทศกาล นอกจากมีการจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยที่น่าดูน่าชมกว่า 200 ผลงานจาก 73 ศิลปินชื่อดัง 34 สัญชาติ บนสถานที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร 12 แห่ง ล่าสุด ศิลปินคอนเซปชวลและเพอร์ฟอร์มแมนซ์ระดับโลก “มารีน่า อบราโมวิช” ซึ่งจัดแสดงผลงานวิดีโอ 9 ชิ้นคัดสรรสำหรับธีมครั้งนี้ รวมถึง 2 ผลงานที่ได้มาสร้างสรรค์ในประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน ได้เตรียมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “History of Long Durational Work and MAI” (ประวัติการแสดงแบบต่อเนื่อง และสถาบันมารีน่า อบราโมวิช)
โอกาสนี้ ศ.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการศิลป์ของบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ได้เชิญมารีน่ามาพูดถึงที่มาของการสร้างสรรค์ผลงาน และความน่าสนใจของการบรรยายพิเศษที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ.2566 เวลา 18.00-20.15 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
กว่า 50 ปีที่ผ่านมา มารีน่าได้รับการยอมรับในฐานะผู้บุกเบิกศิลปะการแสดงจากทั่วโลก ผลงานมักเป็นการทดลองต่อสู้กับร่างกายและจิต โดยเธอกล่าวว่า ปี 2564-2565 เต็มไปด้วยความวุ่นวาย และสิ้นหวังจากสงคราม โรคระบาด และภัยธรรมชาติ คุณสมบัติที่สำคัญของศิลปินทุกวันนี้ ไม่ใช่เพียงออกซิเจนของสังคม แต่ต้องสร้างความหวังและดึงจิตวิญญาณของคนขึ้นมาได้ด้วย ศิลปินจะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย ความสงบสุข และความเชื่อมั่นต่อโลกใบนี้
“การบรรยายครั้งนี้จะรวบรวมทุกสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับการแสดงสด ผ่านสื่อภาพและวิดีโอที่แสดงถึงศิลปะของการแสดง พร้อมอธิบายความสัมพันธ์ของการแสดงกับสื่ออื่นๆ รวมถึงประวัติการแสดงสดแบบต่อเนื่อง ที่ไม่ใช่เพียงเชิงทัศนศิลป์ แต่ยังพูดถึงด้านดนตรี โอเปร่า และในโรงละคร จะมีการพูดถึงผลงานแสดงแบบต่อเนื่องร่วมสมัย และแนะนำผู้ชมให้รู้จักกับ Abramovic Method หรือวิถีอบราโมวิช”
มารีน่ายังกล่าวถึงผลงานของเธอจะดีลกับความขัดแย้งอยู่แล้ว เมื่อจะแสดงถึงความขัดแย้ง จะมองหาไปที่จุดกึ่งกลาง โดยเธอยังอ้างถึงคำพูดเก่าแก่ “สิ่งที่แย่ที่สุดคือสิ่งที่ดีที่สุด” ของซูฟี (Sufi) ดังนั้น เมื่อท้าทายกับขีดสุดของร่างกายและจิตใจแล้ว ก็จะสามารถพาตัวเองไปสู่จุดที่อยู่อีกขั้วหนึ่ง แล้วจะพบกับความสงบและสันติสุข โดยผลงานที่จัดแสดงนั้นแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ โกลาหล (Chaos) ซึ่งประกอบไปด้วยงาน AAA-AAA, Sea Punishing, 8 Lessons on Emptiness, The Scream, and Dragon Head สำหรับสงบสุข (Calm) นั้น มีผลงาน City of Angels, Boat Emptying, Stream Entering 2, The Kitchen และ The Current
“ความประทับใจที่สุดในกรุงเทพมหานคร เมืองแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบสำหรับคำว่า โกลาหล และสงบสุข คุณจะต้องเผชิญหน้ากับตัวคุณเองทั้งเสียงรบกวน มลภาวะทางอากาศ รถติด และบรรดาผู้คนบนท้องถนน ในเวลาเดียวกัน ก็จะพบกับวัดที่มีคนนั่งทำสมาธิ สวดมนต์ภาวนา และความรู้สึกสงบ ฉันชอบความขัดแย้งนี้ และสำหรับศิลปินแล้ว กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ให้แรงบันดาลใจในการเตร็ดเตร่ไปทั่ว แล้วก็จะได้ค้นพบกับอะไรใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิดมาก่อน”
อีกความน่าสนใจของศิลปินท่านนี้ก็คือ การเป็นเจ้าของรางวัล Golden Lion สาขา Best Artist ที่ Venice Biennale ในปี 2540 จากผลงานวิดีโอจัดวางและการแสดงชื่อ “Balkan Baroque” ก่อนจะได้เหรียญเกียรติยศ Austrian Commander Cross จากการสนับสนุนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะในปี 2551 และอีก 5 ปีต่อมา กระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศสยังได้ประกาศให้เป็น Offer to the Order of Arts and Letters ซึ่งนอกจากรางวัลเหล่านี้แล้ว เธอยังได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์อีกมากมายจากสถาบันทั่วโลก
คอศิลปะที่ต้องการสัมผัสถึงจิตวิญญาณในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินระดับโลก “มารีน่า อบราโมวิช” อย่างลึกซึ้ง ไม่ควรพลาดการบรรยายพิเศษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ BAB 2002 ซื้อบัตรได้ที่ ticketmelon ราคาตั้งแต่ 300-3,000 บาท ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊คและไอจี Bkkartbiennale