เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เปิดเผยภาพถ่ายพื้นที่เล็กๆ ภายในเนบิวลา NGC 7000 ที่มีรูปร่างคล้ายกระต่ายสีสันสดใสในห้วงอวกาศ
แม้ว่านักดาราศาสตร์สมัครเล่นส่วนใหญ่จะมองว่าเนบิวลาแห่งนี้คล้ายกับนกกระทุง (Pelican) จึงเรียกเนบิวลานี้ว่า ‘Pelican Nebula’ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มองว่ากลุ่มแก๊สเหล่านี้เป็นรูปกระต่ายต่างหาก ซึ่งเนบิวลาแห่งนี้มีตำแหน่งปรากฏอยู่ใกล้กับดาวเดเนบ (Deneb) ดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,800 ปีแสง และเป็นส่วนหนึ่งของเนบิวลาขนาดใหญ่ นั่นคือ ‘เนบิวลาอเมริกาเหนือ’ (North America Nebula)
บริเวณนี้เป็นแก๊สที่เปล่งแสงออกมา เนื่องจากกลุ่มแก๊สได้รับพลังงานจากดาวฤกษ์โดยรอบ รังสีพลังงานสูงจากดาวจะไปกระตุ้นให้อะตอมของแก๊สต่างๆ ในบริเวณนั้นเกิดการเปล่งแสงออกมา เกิดเป็นแนวแก๊สสว่างดังแสดงในภาพ ขณะที่กลุ่มเมฆสีดำเป็นเมฆโมเลกุลและฝุ่นหนาทึบที่บดบังอยู่ด้านหน้า โดยในภาพนี้ใช้ฟิลเตอร์กรองแสง SII, Ha และ OIII ในการถ่ายภาพ ภาพที่ประมวลผลได้จึงมีสีสันที่แตกต่างออกไปจากฟิลเตอร์กรองแสงแบบ RGB