กรณีที่มีการพูดกันว่า คนสูงอายุ หรือคนแก่ จะมีกลิ่นที่เรียกว่า กลิ่นแก่ จนทำให้บางแบรนด์ออกผลิตภัณฑ์แอนตี้-เอจจิ้ง แก้กลิ่นแก่ออกมาจำหน่าย เรื่องนี้ นพ.ฆนัท ครุธกูล อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ และนายกสมาคมสภาสถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ให้สัมภาษณ์ ว่า กลิ่นแก่ เป็นคำที่คนทั่วไปใช้เรียกกลิ่นเฉพาะตัวของผู้สูงอายุ แต่ในเชิงวิทยาศาสตร์แล้วกลิ่นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสะอาด หรือสุขอนามัยโดยตรง หากแต่เป็นผลมาจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายที่เกิดขึ้นตามอายุ
โดยเฉพาะในระดับเซลล์และเมตาบอลิซึม ซึ่งสามารถอธิบายได้ผ่านหลักฐานทางชีวเคมี สาเหตุของกลิ่นเฉพาะในผู้สูงอายุมาจาก

1.การผลิตสาร 2-Nonenal งานวิจัยพบว่า สารประกอบชื่อ 2-Nonenal ซึ่งมีลักษณะกลิ่นคล้ายมันหืน หรือกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เกิดขึ้นมากขึ้นเมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยมีที่มาจากการเสื่อมของกรดไขมันไม่อิ่มตัวในผิวหนังที่สัมผัสกับออกซิเจน (oxidative degradation) ซึ่งเกิดจากกระบวนการ lipid peroxidation อันเป็นผลมาจากความเสื่อมของระบบกำจัดของเสียในร่างกาย
2.ความเสื่อมของฮอร์โมนและสมดุลจุลินทรีย์ผิวหนัง การลดลงของฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน หรือเทสโทสเตอโรน ทำให้สภาพผิวหนังเปลี่ยนแปลง จุลินทรีย์ที่อยู่บนผิวก็เปลี่ยนตาม ทำให้เกิดกลิ่นแตกต่างจากวัยหนุ่มสาว
3.การสะสมของสารในร่างกาย (AGEs) Advanced Glycation End Products (AGEs) เป็นสารที่สะสมในร่างกายตามอายุ และสามารถถูกปล่อยออกมาทางเหงื่อหรือผิวหนัง ซึ่งส่งผลต่อกลิ่นตัวอย่างชัดเจน

สำหรับความสำคัญของ “กลิ่น” ในทางการแพทย์นั้น ในระยะหลังนักวิทยาศาสตร์เริ่มให้ความสนใจกับ “กลิ่นร่างกาย” ในฐานะเครื่องมือวินิจฉัยโรค ด้วยความแม่นยำที่สูงเมื่อใช้ร่วมกับเทคโนโลยี เช่น “จมูกอิเล็กทรอนิกส์” (Electronic Nose) หรือการวิเคราะห์ผ่าน GC-MS (Gas Chromatography-Mass Spectrometry)
ตัวอย่างกรณีที่เห็นได้ชัด เช่น
1.โรคมะเร็งปากมดลูก มีการศึกษาที่ใช้สุนัขดมกลิ่น หรืออุปกรณ์ตรวจจับ VOCs (Volatile Organic Compounds) ในสารคัดหลั่ง พบว่าสามารถแยกแยะผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยความแม่นยำสูง
2.โรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีกลิ่นเฉพาะที่เกิดจากสารเคมีบางชนิดที่เปลี่ยนแปลงในน้ำมันผิวหนัง งานวิจัยในอังกฤษพบว่า ผู้ที่ไวต่อกลิ่นสามารถระบุผู้ป่วยได้จากกลิ่นก่อนมีอาการทางคลินิกหลายปี
3.โรคเบาหวานและโรคไต กลิ่นลมหายใจของผู้ป่วยเบาหวานชนิดควบคุมไม่ได้จะมีกลิ่นคล้ายอะซิโตน ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอาจมีกลิ่นคล้ายแอมโมเนีย

นพ.ฆนัทกล่าว ว่า “กลิ่นแก่ ไม่ใช่สัญญาณของความสกปรก หากแต่เป็นผลของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพตามวัย และในขณะเดียวกัน กลิ่นเหล่านี้ยังอาจเป็นสัญญาณลับ ที่บอกเราว่าร่างกายกำลังมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น หากเราสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และพัฒนาเทคโนโลยีตรวจจับกลิ่นได้อย่างแม่นยำ ก็จะเปิดทางใหม่ในการวินิจฉัยโรคก่อนที่อาการจะปรากฏ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแพทย์เชิงป้องกันในอนาคต”