สังเกตไหมว่าหลายปีมานี้อากาศร้อนมากจนผิดปกติ บางวันแม้เวลาจะร่วงเลยไปถึงตอนเย็นแล้วแต่พระอาทิตย์ก็ยังทำงานแข็งขันไม่เคยอ่อมไม่ว่าวันไหน และเมื่อถึงหน้าฝนบางวันฝนก็ตกหนักแบบไม่ลืมหูลืมตาจนต้องร้องขอชีวิต
สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญเนื่องจากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับระดับน้ำทะเลที่รุกคืบกินพื้นที่ชายฝั่งขึ้นมาอย่างช้าๆ ทว่าแน่นอน เมืองชายฝั่งซึ่งอยู่ต่ำต้องเจอกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ ขณะที่เมืองอื่นก็ค่อยๆ ทรุดตัวลงเพราะสูบน้ำบาดาลมาใช้มากเกินไปจนพื้นดินรับน้ำหนักไม่ไหว
หลายคนอาจจะรู้คิดว่าเป็นปัญหาที่ไกลตัว แต่เปล่าเลยภัยธรรมชาตินี้ (ส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากฝีมือของมนุษย์เอง) กำลังเป็นโจทย์หลักที่รัฐบาลหลายประเทศเร่งหาทางรับมือก่อนที่จะสายเกินแก้ จากข้อมูลของ World Economic Forum ที่เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 2019 แสดงให้เห็นว่ามีเมืองขนาดใหญ่ 11 แห่งทั่วโลกที่มีความเสี่ยงจะหายไปจากแผนที่โลกกลายเป็นเมืองบาดาลภายในปี ค.ศ. 2100 หรือในปี 76 ปีข้างหน้า
จาการ์ตา, อินโดนีเซีย
กรุงจาการ์ตาค่อยๆ จมลง 6.7 นิ้วต่อปี สาเหตุจากการดูดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้จำนวนมหาศาล พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองอาจจะจมบาดาลในปี ค.ศ. 2050 ล่าสุดรัฐบาลสั่งอนุมัติโครงการก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ชื่อว่า ‘นูซันตารา’ ทางตะวันออกของเกาะบอร์เนียว ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 มูลค่าการก่อสร้างกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อย้ายประชากรราว 10 ล้านคนหนีน้ำท่วม คาดว่าการขนย้ายจะเสร็จสิ้นใน 10 ปี
ลากอส, ไนจีเรีย
ลากอส อดีตเมืองหลวงของไนจีเรียที่ถูกกัดเซาะชายฝั่ง และระดับน้ำทะเลยังคงเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน งานวิจัยของมหาวิทยาลัยพลิมัทพบว่า ระดับน้ำที่สูงขึ้นทุกๆ 3–9 ฟุตจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในดินแดนนี้
ฮิวสตัน, รัฐเท็กซัส
อีกหนึ่งเมืองที่ค่อยๆ จมลง 2 นิ้วต่อปี เพราะสูบน้ำบาดาลมาใช้เช่นเดียวกับอีกหลายเมืองทั่วโลก ทุกๆ การจมลงของเมืองนี้นำมาซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ เช่น พายุเฮอริเคนฮาร์เวย์ ที่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนไปเกือบ 135,000 ครัวเรือน ชาวเมืองกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยราว 30,000 คน
ธากา, บังกลาเทศ
จากข้อมูลของนิวยอร์กไทม์สบอกว่าแม้บังกลาเทศจะปล่อยมลพิษเพียง 0.3% ของปริมาณที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ แต่ประเทศนี้กลับต้องเผชิญกับผลที่ตามมาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ภายในปี ค.ศ. 2050 มหาสมุทรอาจจะกลืนกินดินแดนนี้ 17% และนั่นจะนำมาซึ่งปัญหาคนไร้บ้านมากถึง 18 ล้านคน
เวนิส, อิตาลี
อิตาลีมีแผนที่จะรับมือกับน้ำท่วมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 กับโครงการที่ชื่อว่า ‘MOSE’ (Modulo Sperimentale Electromeccanico) โครงการป้องกันน้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยการสร้างประตูบานพับ 78 ประตู หลังจากใช้เวลาก่อสร้างนานเกือบ 2 ทศวรรษ แม้วันนี้จะเริ่มใช้งานอย่างเต็มรูปแบบแต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ว่าอาจจะไม่เพียงพอที่จะรับมือกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อนซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 13-43 นิ้ว ภายในปี ค.ศ. 2100
เวอร์จิเนียบีช, รัฐเวอร์จิเนีย
หนึ่งในเมืองชายฝั่งตะวันออกที่เผชิญกับระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและการยุบตัวของพื้นดิน องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration) คาดว่าเวอร์จิเนียบีชอาจต้องเผชิญกับระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเกือบ 12 ฟุตภายในปี ค.ศ. 2100
กรุงเทพมหานคร, ไทย
กรุงเทพมหานครกำลังจมลงมากกว่า 1 เซนติเมตรต่อเนื่องทุกปี และจะต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อป้องกันน้ำท่วมโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนทีมสถาปนิกได้ออกแบบพื้นที่ขนาด 30 ไร่ สร้างสวนสาธารณะที่รองรับปริมาณน้ำได้มากถึง 1 ล้านแกลลอนหรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘อุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’
นิวออร์ลีนส์, รัฐลุยเซียนา
ผลการศึกษาขององค์การ NASA เมื่อปี ค.ศ. 2016 บอกว่า บางส่วนของนิวออร์ลีนส์กำลังจมลง 2 นิ้วต่อปีและอาจจะจมน้ำทั้งหมดในปี ค.ศ. 2100 เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่บนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทำให้ความเสี่ยงน้ำท่วมสูงขึ้น
รอตเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์
พื้นที่ประมาณ 90% ของเมืองรอตเตอร์ดัมต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ชาวดัตช์ได้สร้างสวนขนาดใหญ่เพื่อเป็นอ่างรับน้ำในโครงการชื่อว่า ‘ห้องเก็บน้ำ’ และยังเป็นกำแพงยักษ์ที่ช่วยป้องกันคลื่นลมแรงได้ด้วย
อเล็กซานเดรีย, อียิปต์
ตอนนี้ชายหาดอเล็กซานเดรียค่อยๆ หายไปทีละน้อยทุกครั้งที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ซึ่งระดับน้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอาจสูงขึ้นถึง 2 ฟุตภายในปี ค.ศ. 2100
ไมอามี, รัฐฟลอริดา
‘เจฟ กู๊ดเดล’ นักเขียนด้านสิ่งแวดล้อมเคยบอกกับสำนักข่าว Business Insider ว่า “คุณไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าไมอามีจะอยู่รอดจนถึงสิ้นศตวรรษนี้ได้อย่างไร มันเหมือนกับตัวอย่างชั้นดีของเมืองที่กำลังเผชิญกับปัญหาขนาดใหญ่” เนื่องจากระดับน้ำทะเลไมอามีเพิ่มขึ้นเร็วมากกว่าพื้นที่อื่นในโลก ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น น้ำท่วม, น้ำดื่มปนเปื้อน และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับถนนและบ้านเรือน ในไม่ช้านี้ต้องมีการปรับโครงสร้างต่างๆ ของเมืองขึ้นเพื่อให้อยู่เหนือน้ำ
แหล่งที่มาข้อมูล