“คนหูหนวก ไม่ได้ยินเสียง แล้วจะฟังเพลงได้ยังไง”
ว่ากันตามตรง การเข้าถึงความบันเทิงถือเป็นเรื่องที่ง่ายดายสำหรับคนที่เกิดมาหูดีตาดีร่างกายสมบูรณ์ครบถ้วน ไม่ว่าจะฟังเพลง ดูซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์ เล่นกีฬา อ่านการ์ตูน ไปคอนเสิร์ต หรือแวะร้านนั่งชิลล์เสพดนตรีสดม่วนๆ แต่หากกล่าวถึงกลุ่มผู้พิการ เราแทบจะจินตนาการความบันเทิง หรือแหล่งเข้าถึงความบันเทิงของพวกเขาไม่ออกเลยแม้แต่น้อย
วันนี้ Feed เลยอยากชวนทุกคนมาแวะงานปาร์ตี้ ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในไนต์คลับที่ชื่อว่า BassBath สถานที่ที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องราตรี ที่ต่างก็ออกมาเต้นรำปลดปล่อยกันอย่างสุดเหวี่ยงไปกับแนวเพลงอิเล็กทรอนิกส์สุดมันส์ และเป็นสถานที่ที่เหล่า ‘คนหูหนวก’ ต่างปรารถนาที่จะมาร่วมปาร์ตี้สักครั้ง!
ความน่าสนใจของปาร์ตี้นี้ คือการออกแบบการแสดงและเสียงดนตรีเพื่อให้คนหูหนวกสามารถรับรู้และรู้สึกได้ถึงการมีอยู่ของเสียงและเพลิดเพลินไปกับดนตรี แถมภายในงาน ยังมีเจ้าหน้าที่ใช้ภาษามือคอยบริการหากต้องการสั่งอาหารและเครื่องดื่มอยู่ตลอดทั้งงาน
อลิซ ฮู (Alice Hu) ศิลปินผู้พิการทางการได้ยิน ในฐานะผู้ร่วมจัดงาน ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวของ AFP ว่า
“งานนี้จัดขึ้นเพื่อทำลายกำแพงที่ขวางกั้นระหว่างคนหูหนวกและคนปกติ BassBath ทำให้คนทั้งสองกลุ่มแลกเปลี่ยนและเข้าใจวัฒนธรรมซึ่งกันและกันผ่านภาษากายและการละเล่น มันนำไปสู่การผสมผสานอย่างแท้จริง”
นอกจากนี้ ภายในงานปาร์ตี้ ยังมีการจัดแสดงผลงานศิลปะอีกหลายอย่าง เช่น ศิลปะอักษรจีนที่นำเสนอข้อความว่าด้วย ‘ความฝัน’ และ ‘การเต้นรำ’ และยังมีนักเต้นผู้พิการคอยแสดงท่าทางให้ผู้พิการคนอื่นเข้าใจความหมายของบทเพลงภายในงาน
ด้านดีเจของงาน ก็ได้ออกแบบและเลือกเพลงที่มีการเน้นเสียงเบส (Deep Bass) ที่หนักแน่น เพื่อให้ผู้พิการได้รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน และสามารถเต้นล้อไปกับจังหวะดนตรีได้ไม่ต่างอะไรกับคนทั่วไป
ฮู จิ้งฉี (Hu Jingqi) หนึ่งในผู้พิการวัย 68 ปี ได้เล่าถึงประสบการณ์จากการร่วมงาน BassBath ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า
“มันเจ๋งมากๆ บรรยากาศมันยอดเยี่ยมและเร้าใจสุดๆ ฉันชอบกิจกรรมนี้มาก ณ ตอนนั้นฉันถึงกับลืมไปเลยว่าตัวเองมีความบกพร่องทางร่างกาย”
เจีย-หยู ดิง (Jia-yue Ding) หนึ่งในผู้จัดงานกล่าวว่า “สังคมของเราเลือกปฏิบัติและมีอคติต่อผู้พิการอย่างมาก แต่ความจริงแล้วถ้าคุณลองขยับถอยออกมาจากความคิดนั้น ทุกคนล้วนแล้วไม่แตกต่างกัน ทุกคนเป็นเพื่อนกันได้และสนุกไปด้วยกันได้”
“มันมีโอกาสที่น้อยมากสำหรับผู้พิการและคนปกติสามารถเชื่อมต่อกันอย่างลึกซึ้ง เราในฐานะผู้จัดงานหวังว่างานนี้จะช่วยให้ทุกคนได้มองเห็นและเข้าใจกันและกันมากขึ้น”
ปัจจุบัน ชุมชนผู้พิการทางการได้ยินทั่วโลกมีการเปิดพื้นที่สำหรับใช้ชีวิตในยามค่ำคืนมากขึ้น อย่างไรก็ตามความรื่นเริงในยามราตรีสำหรับผู้พิการยังคงหาได้ยากในประเทศจีน แม้จะมีการสร้างความเข้าใจเพื่อไม่ให้เกิดความแบ่งแยกในชีวิตประจำวันก็ตาม
ไม่ต่างกับประเทศไทย ที่แหล่งความบันเทิงของคนหูหนวกและผู้พิการกลุ่มๆ นั้น มีจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการ มากกว่านั้น ตัวเลขจากการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังพบว่า ประเทศไทยกำลังขาดล่ามภาษาในระดับวิกฤติ เนื่องจากปัจจุบัน ความต้องการล่ามภาษามือมีจำนวนอยู่ที่ 40,000 คน แต่ในความเป็นจริงกลับมีเพียง 178 คนเท่านั้น โดยเป็นล่ามภาษามือหูดี 170 คน และล่ามภาษามือหูหนวก 8 คน ซึ่งส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เสียส่วนใหญ่ และมีกระจายตัวอยู่บ้างใน 41 จังหวัด นั่นแปลว่า อีก 36 จังหวัดที่เหลือ ไม่มีล่ามมือแม้แต่คนเดียว
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันภาครัฐก็มีความพยายามในจัดบริการล่ามภาษามือข้ามจังหวัด และ ให้บริการออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน หรือ แท็ปเล็ต รวมทั้งพยายามสร้างจูงใจให้มีการฝึกทักษะภาษามือด้วยการเพิ่มอัตราค่าตอบแทนให้อาชีพ ‘ล่ามภาษามือ’ มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนหลักสูตรล่ามภาษามือระดับปริญญาตรี ให้กับผู้ที่สนใจทั้งคนพิการและไม่พิการเข้าไปเรียนรู้ และมีตำแหน่งงานรองรับในศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทั่วประเทศ
อีกทั้งในระยะยาว ภาครัฐอาจมีการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะบุคลากรของกระทรวง พม. ได้เรียนหลักสูตรล่ามภาษามือเพื่อรองรับการทำหน้าที่ในหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงพัฒนาล่ามภาษามือโดยใช้ AI หรือ เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาทดแทน
นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่คนหูหนวก กลุ่มผู้พิการอื่นๆ และคนทั่วไป จะได้เรียนรู้ทักษะล่ามภาษามือ ยกระดับอาชีพ และออกแบบพื้นที่แห่งความบันเทิงร่วมกันในอนาคตก็เป็นได้ หากการผลักดันนโยบาย มุ่งสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้พิการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ที่มา: Bass beats bring Shanghai’s deaf and hearing clubbers together