เพจเฟซบุ๊กหมอแล็บแพนด้า ออกมาเตือนหลายคนให้ระวังท้องเสียจากเชื้อโรค ด้วยสภาพอากาศร้อนทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตในกับข้าวดี
โดยระบุว่าถ้าเชื้อโรคมันอยู่ในอาหารแล้วทำให้ท้องเสีย งั้นเราก็เอาไปต้มใหม่ หรือเอาไปอุ่นให้เชื้อมันตายก็จบแล้วสิ เอามากินใหม่ได้สบายใจ ที่จริงก็ไม่ผิดนะครับ แต่มันไม่ถูกทั้งหมด เพราะท้องเสียมันเกิดจากได้หลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจาก ‘อาหารเป็นพิษ’ และสาเหตุรองลงมาก็คือเชื้อโรค
ทำไมอาหารเป็นพิษได้ล่ะ ใครใส่สารพิษลงไปในอาหารของชั้น?
มันก็คือแบคทีเรียที่กำลังโตในอาหารนั่นแหละ แต่ในระหว่างมันเจริญเติบโตมันก็จะสร้างสารพิษไปด้วย สารพิษนี้เป็นสารประกอบประเภทโปรตีนที่มีพิษรุนแรงมาก
ยกตัวอย่างที่เจอบ่อยๆ เช่น เชื้อ S. aureus เชื้อพวกนี้ชอบอยู่ตามผิวหนัง เวลาที่แม่ครัวเอามือไปสัมผัสตอนทำอาหาร แม่ค้าเอามือหยิบอาหารให้เรา เราเอามือจับไก่มาฉีก มาแทะ หยิบขนมจีนใส่จาน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้แบคทีเรียมันไปปนเปื้อนในอาหารได้
พอมันอยู่ในอาหาร มันก็จะใช้อาหารเป็นแหล่งสร้างพลังงาน เจริญเติบโตแบ่งตัวเพิ่มขึ้น และสร้างสารพิษไปด้วย ยิ่งเอาอาหารตั้งทิ้งไว้นานๆ เชื้อโรคและสารพิษก็ถูกผลิตเยอะขึ้นไปเรื่อยๆ พอเราเอาอาหารค้างคืนมากิน ก็กินสารพิษเข้าไปด้วย แล้วสารพิษที่มันผลิตออกมา ‘ทนความร้อนสูงได้’
อย่างสารพิษชนิด A สามารถทนความร้อนของน้ำเดือดได้ แถมยังทนเอนไซม์ในกระเพาะอาหารและลำไส้อีกต่างหาก นี่ก็เลยเป็นสาเหตุว่าทำไม ทั้งอุ่น ทั้งต้มแล้วก็ยังท้องเสีย
เชื้อโรคน่ะตาย แต่สารพิษยังอยู่นะ
สารพิษของมันจะทำให้เรามีอาการค่อนข้างเร็ว ส่วนใหญ่ 2-4 ชั่วโมงก็เริ่มอาการออกแล้ว ลำไส้มีการบีบตัวอย่างรุนแรง บางคนคลื่นไส้ ปวดท้อง ถ่ายท้อง จนกว่าฤทธิ์ของสารพิษมันจางลงนั่นแหละ อาการถึงจะดีขึ้น ถ้าเอาอาหารที่กินเหลือไปแช่ในตู้เย็น มันก็ช่วยชะลอให้เชื้อโรคโตช้าลง โตช้า แต่โตนะ และผลิตสารพิษช้าลง
เพราะฉะนั้นอย่าเอามือไปหยิบจับอาหารที่จะเก็บไว้กินต่อ และอาหารค้างคืน หรือวางไว้บนโต๊ะนานมากๆ เลี่ยงได้ก็ดีครับ หรือรีบเก็บเข้าตู้เย็นก็จะพอช่วยได้
ขอคุณข้อมูลจาก : หมอแล็บ