ใกล้ช่วงปีใหม่แบบนี้ หากย้อนกลับไปในช่วงยุค 90’s ลงไป ช่วงเวลานั้นหลายคนนิยมส่งมอบคำอวยพรผ่าน ส.ค.ส. หรือบัตรอวยพรใบเล็กๆ ที่มีลวดลายน่ารักๆ โรยกากเพชรวิบวับ เรียกว่าเป็นไอเท็มสุดฮิตตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ในยุคนั้น เมื่อหยิบขึ้นมาอ่านก็จะพบกับความทรงจำอันอบอุ่น และสเน่ห์ของการส่งการ์ดอวยพรแบบวัยเก๋า
สำหรับ ส.ค.ส. ย่อมาจาก “ส่งความสุข” เป็นบัตรอวยพรที่ส่งให้กันเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ส่วนการส่ง ส.ค.ส. ในประเทศไทย เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การส่ง “ส.ค.ส.” หรือ ส่งความสุข เริ่มครั้งแรกในประเทศไทย คือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์คัดลอกเพื่อที่จะพระราชทานแก่ข้าราชบริพาร และชาวต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน โดยมีการค้นพบ ส.ค.ส. ที่เก่าแก่ที่สุดคือฉบับปี พ.ศ. 2409
ผู้ที่ค้นพบ ส.ค.ส. ฉบับที่เก่าแก่ที่สุดคือ คุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ซึ่งค้นพบที่ประเทศอังกฤษ เป็นฉบับที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้แก่ กัปตันจอห์น บุช หรือหลวงวิสูตรสาครดิษฐ ที่ดูแลกรมเจ้าท่าในขณะนั้น
คุณธวัชชัย ได้อธิบายลักษณะเกี่ยวกับ ส.ค.ส. ฉบับนี้ในบทความ ส.ค.ส.ฉบับแรกของสยาม ว่า “ส.ค.ส. ฉบับนี้ไม่เป็นรูปแบบบัตรอวยพรพร้อมลวดลายวิจิตรอย่างเช่นในปัจจุบัน แต่เป็นกระดาษสมุดฝรั่งสีครีมพับครึ่ง ไม่ต่างจากกระดาษจดหมายทั่วไป ส.ค.ส. ฉบับนี้ เมื่อคลี่ออกมาจะมีขนาดความกว้าง 18 เซนติเมตร ยาว 23 เซนติเมตร ซองมีขนาดความกว้าง 8.1 เซนติเมตร ยาว 13.9 เซนติเมตร พระราชสาสน์อวยพรมีความยาวทั้งสิ้น 4 หน้า และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลายเซ็นพระนามลงบน ส.ค.ส. ฉบับนี้ด้วย”
แสดงให้เห็นว่า ส.ค.ส. เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น กว่าศตวรรษแล้ว เป็นที่น่าเสียดายถ้าปัจจุบัน การส่งความสุขผ่าน ส.ค.ส. เริ่มหายไปจากเมืองไทย อาจเป็นเพราะความเจริญด้านเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ตาม ส.ค.ส. ยังคงมีคุณค่าในตัวเอง เพราะว่าผู้ส่งมีความพิถีพิถันในการเขียนและประดับตกแต่งให้ดูสวยงามก่อนส่งให้คนที่รัก
ปีใหม่ปีนี้หากใครยังคิดไม่ออกว่าจะส่งมอบคำอวยพรในรูปแบบใด อาจจะลองย้อนวันวานนำไอเดียส่ง ส.ค.ส.น่ารักๆ สักใบ ให้กับคนที่คุณรัก ก็น่าจะสร้างความประทับใจให้กับผู้รับได้ไม่น้อย
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศิลปวัฒนธรรม