หมอหมู เปิดภาพสุดสยอง เผย CDC เตือนชอบกินของดิบ – ว่ายน้ำ เสี่ยง “แบคทีเรียกินเนื้อ” พบในทะเลและน้ำเค็ม เข้าสู่ร่างกาย อันตรายถึงชีวิต พร้อมแนะป้องกัน วันนี้ FEED จะพาทุกคนไปดูในประเด็นนี้กันว่า อาการของโรคนี้มันเป็นยังไง
ทำเอาหลายคนตกใจกันไม่น้อย หลัง “รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี“ หรือ “หมอหมู” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้เผยข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC)
เตือนด้านสุขภาพระดับชาติเกี่ยวกับ “แบคทีเรียกินเนื้อ” (Vibrio vulnificus) ที่พบได้ตามน้ำทะเลและน้ำเค็ม พร้อมย้ำระวังอย่ากินอาหารทะเลแบบไม่ปรุงสุก อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ออกการแจ้งเตือนด้านสุขภาพระดับชาติเกี่ยวกับแบคทีเรียกินเนื้อ (flesh-eating bacteria) ที่เรียกว่า Vibrio vulnificus แบคทีเรียชนิดนี้พบได้ตามน้ำทะเลและน้ำเค็ม และสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือรับประทานอาหารทะเลดิบหรือปรุงไม่สุก
อาการของการติดเชื้อ Vibrio vulnificus มักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงถึง 3 วันหลังสัมผัสกับแบคทีเรีย อาการ เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน รอยแดงหรือบวมบริเวณที่สัมผัสกับแบคทีเรีย อาการรุนแรง เช่น ผิวหนังเน่าเปื่อย การติดเชื้อในกระแสเลือด ช็อก และเสียชีวิต
ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่มีโรคเบาหวาน โรคไต หรือโรคตับ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ Vibrio vulnificus ที่รุนแรงมากขึ้น
ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ Vibrio vulnificus:
1) ไม่ว่ายน้ำหรือดำน้ำในน้ำทะเลหรือน้ำเค็มที่มีน้ำขุ่นหรือมีสีผิดปกติ
2) หลีกเลี่ยงการกินหอยนางรม กุ้ง หอยแมลงภู่ และปลาดิบหรือปรุงไม่สุก
3) ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาทีก่อนและหลังสัมผัสกับอาหารทะเล
แหล่งที่มาและข้อมูล : หมอหมู