เป็นประเด็นที่ถูกสังคมในโลกออนไลน์พูดถึงอย่างหนักเมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา หลัง “หมิว สิริลภัส กองตระการ” ส.ส. พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านทางแอปพลิเคชั่น X หรือชื่อเดิมทวิตเตอร์ ประกอบรูปจากไอจีสตอรี่ ที่มีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังถือถุงใส่อาหาร พร้อมข้อความประกอบในภาพว่า “พบเห็นอดีตดาราสาวลักลอบนำอาหารสภากลับบ้าน”
โดยหมิว สิริลภัส ได้แสดงตนว่าเป็นบุคคลในภาพที่ถูกแอบถ่าย พร้อมเขียนข้อความอธิบาย ระบุว่า
“น่าแปลกใจนะคะ เป็น สส.มา 2 สมัย ก็ไม่ทราบว่าได้เข้ามาห้องอาหารตอน “เลิกประชุมสภา” กี่ครั้ง ตั้งแต่มีประชุมสภามา หมิวกล้ายืนยันว่าหมิวอยู่จนจบประชุมสภา “ทุกครั้ง” พร้อมเพื่อนสส.ก้าวไกลอีกหลายคน หลังจบประชุม ที่ห้องอาหารก็จะมีอาหารที่เขาเตรียมไว้ให้ ตามจำนวน สส. คำถามคือ แล้วทำไมตอนเลิกประชุม อาหารถึงได้เหลือมากขนาดที่เขาต้องห่อใส่ถุงให้เอากลับบ้าน?? ถ้าจำนวน สส. ที่เหลืออยู่จนปิดประชุมมีมากพอ ก็ไม่มีอาหารที่เหลือแบบนี้หรอกมั้งคะ อาหารที่เหลือเหล่านี้ ถ้าไม่ห่อกลับ เจ้าหน้าที่ก็จะแจกจ่ายอยู่แล้ว และวันนี้ หมิวก็ใช้สิทธ์ตามที่มี ไม่ได้นั่งทานที่ห้องอาหาร แต่ห่อกลับมากินที่บ้าน การใช้คำว่า “ลักลอบ” นี่ไม่รู้ว่า อ่อนภาษาไทยหรือจงใจใส่ร้ายกันแน่
เข้ามาทำงานที่มีเกียรติแล้ว ก็ช่วย …ภูมิใจ… ที่ประชาชนคน…ไทย…. เขาเลือกมาของตัวเองหน่อยค่ะ มีหน้าที่ทำงานการเมืองก็ทำไป จะอภิปราย จะขับเคลื่อนประเด็นอะไรก็ว่าไป มัวแต่มานั่งถ่ายรูปจับผิดคนอื่น เอาเขาไปแขวน อย่าคิดว่าเจ้าตัวเค้าจะไม่เห็นนะคะ
มีสื่ออยู่ในมือก็หัดใช้ให้มันเป็น ถ้าใช้สื่อไม่เป็น เดินเข้ามาถามได้ ยินดีให้คำแนะนำ ถ้าอยากได้ยอดติดตามที่มากกว่าที่มีอยู่ 4000 กว่าคน ถ้าเจอกันครั้งหน้า ไม่มีเพื่อนสส.พรรคเดียวกันนั่งกินข้าวด้วยเพราะอยู่ไม่ถึงเลิกประชุม ก็มานั่งทานด้วยกันได้นะคะ จะได้มาคุยกันหน่อยว่าจุดประสงค์ที่ถ่ายรูป+แคปชั่นแบบนี้ จะสื่อว่าอะไร พร้อมจะรับฟังค่ะ”
ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมดังกล่าวของ ส.ส. ที่แอบถ่าย และนำมาซึ่งการตระหนักรู้ของสังคม ผ่าน 3 ประเด็น ได้แก่ ปัญหา Food Waste, งบประมาณค่าอาหาร ส.ส. และ การละเมิด PDPA ของคนอื่น
1. Food Waste ปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกเผชิญ
Food Waste หรือ ขยะอาหาร คืออาหารที่ถูกทิ้งด้วยหลายๆ เหตุผล ไม่ว่าจะด้วย การรับประทานไม่หมด ทิ้งเพราะรูปลักษณ์ไม่สวย หรือไม่ได้ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น อันนี้เป็นประเด็นในกรณีของภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันอาหารที่ถูกทิ้งทั่วโลกมีมากถึง 1,300 ล้านตัน คิดเป็น 1 ใน 3 ของอาหารทั้งโลก กลายเป็นอาหารขยะถูกที่ทิ้งอย่างไม่เห็นคุณค่า บางก็ถูกทิ้งรวมกันลงถังขยะหรือนำไปฝังกลบ ซึ่งอาหารที่ถูกนำไปฝังกลบหรือกองรวมกันไว้เป็นจำนวนมากนั้น เมื่อเกิดการเน่าสลายจะเกิดการสร้างแก๊สมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่รุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนถึง 20 เท่า ในขณะที่ประชากรอีก 870 ล้านชีวิตต้องเผชิญความหิวโหยจากสภาวะอดอยากขาดอาหาร
การนำอาหารกลับบ้านของหมิว สิริลภัส จึงเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่มองเห็นว่าเป็นการช่วยลดปัญหา Food Waste ที่เกิดขึ้นในสภาอันทรงเกียรติ เนื่องจากอาหารที่ถูกเตรียมไว้ในแต่ละวันให้ครบตามจำนวน ส.ส. 500 คน ซึ่งบางวันกว่าจะจบการประชุม จำนวน ส.ส. ก็เหลือไม่ถึงหลักร้อยด้วยซ้ำ จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิดร้ายแรงอะไร หากเทียบกับการต้องปล่อยให้อาหารให้เหลือ และเป็นปัญหาแม่บ้านที่จะต้องจัดการต่อ ทั้งนำกลับไปทานเอง แจกจ่ายให้เพื่อนร่วมงาน แต่ท้ายที่สุดหากอาหารที่ได้เตรียมไว้มากเกินจำนวนที่แม่บ้านจะต้องดำเนินการ การทิ้งก็กลายเป็นทางออกสุดท้าย ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหา Food Waste นั่นเอง
เรื่องนี้ “นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภา ได้พูดถึงเรื่องการที่ ส.ส. นำอาหารกลับบ้านได้ ในการประชุมสภา 7 กันยายน 2566 ว่าไม่ใช่เรื่องที่ถือว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด โดยกล่าวว่า
“เรื่องอาหาร ถือว่าไม่ผิดที่หลังจากเลิกประชุมแล้ว ส.ส. จะเอาหารกลับบ้าน และตอนนี้เรามีห้องส่วนตัวของ ส.ส. อาจจะมีผู้ติดตาม ผู้ช่วย ส.ส. มาช่วยทำงาน ถ้าจะเอาอาหารไปที่ห้องให้ ส.ส. ก็สามารถนำไปได้ ถ้าปิดประชุมก่อน ปิดประชุมกะทันหัน อาหารเหลือเยอะ ปกติจะเอาไปบริจาคตามหน่วยงานต่างๆ แต่บริจาคเท่าไหร่ก็เหลือเน่า เพราะรับประทานไม่ทัน ไม่มีที่เก็บ ผมจึงคิดว่าไม่มีกฎหมายห้ามรับประทานในสภาหรือเอากลับบ้าน ดังนั้นจากนี้ไปถ้าตอนเย็นอาหารเหลือ ทางเจ้าหน้าที่ก็เอาใส่ถุงแล้วเอากลับบ้านกัน ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส. ทั้งเจ้าหน้าที่ 3,000 คนเอาไปรับประทานที่บ้าน เพราะเหลือก็เสียของ”
2. งบประมาณค่าอาหาร ส.ส.
ประเด็นนี้ทำให้หลายคนต้องย้อนกลับไปตั้งคำถาม และหาข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณค่าอาหารของ ส.ส. โดยทางเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ได้รายงาน งบประมาณค่าอาหารของ ส.ส. ย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2562 ตามการจัดสรรในวันประชุมแต่ละสัปดาห์ พอดีกับจำนวน สส. ตามกติกาของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ 500 คน แต่ยังพบว่ามีเหลือจนต้องนำไปบริจาคหรือแจกจ่ายให้ข้าราชการ-แม่บ้านบ่อยครั้ง
โดยการจัดสรรงบประมาณเป็นค่าอาหารเพื่อรับรอง ส.ส. ในวันประชุม ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า
ปีงบประมาณ 2566 จัดสรรงบรวม 72,031,000 บาท
ปีงบประมาณ 2565 และ 2564 งบรวม 87,880,000 บาทเท่ากัน
ปีงบประมาณ 2563 จัดสรรงบรวม 96,928,000 บาท
และ ปีงบประมาณ 2562 จัดสรรงบรวม 9.7 ล้านบาท
นอกจากยังมีค่าอาหารรับรอง ในส่วนของกรรมาธิการสามัญ และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ถือว่าน้อยเลย
ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 “นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” ส.ส. จากพรรคก้าวไกล เคยอภิปรายเสนอให้มีการตัดลดงบประมาณของรัฐสภาลง 10% โดยส่วนหนึ่งของ 10% นั้น ก็คือค่าอาหารของสมาชิกรัฐสภาและผู้เกี่ยวข้อง ที่ต้องมาประชุมในแต่ละวัน เสนอให้หั่นลงครึ่งหนึ่ง จากงบประมาณในส่วนของรัฐสภา มีการจัดสรรงบประมาณที่เป็นค่าอาหารของสมาชิกรัฐสภาและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ รวมกันทั้งสิ้น 152,914,500 บาท ซึ่งแบ่งเป็นของค่าอาหาร ส.ส.ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร 87,880,000 บาท หรือตกมื้อละ 861 บาท ต่อ ส.ส. หนึ่งคน
เช่นเดียวกับ “น.ส. รังสิมา รอดรัศมี” อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกผู้ประกอบการร้านอาหารจัดเลี้ยง ส.ส.และ ส.ว. ที่เคยยื่นเรื่องต่อ “นายชวน หลีกภัย” อดีตประธานสภาฯ ในปี 2565 ให้สอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการล็อบบี้และจ่ายเงินประมูลร้านอาหารจัดเลี้ยง ส.ส. พร้อมเสนอให้เลิกระบบ จัดอาหารเลี้ยง ส.ส. เหตุใช้งบสูงถึง 5 แสนบาทต่อวัน
โดยระบุว่า ค่าอาหารของส.ส.ว่า ปกติแล้ว 1 วันประชุมจะได้คนละ 1,000 บาท รวมส.ส. 500 คน เป็นวันละ 500,000 บาท คิดเป็นงบประมาณต่อปีประมาณ 100 ล้านบาท ไม่ว่า ส.ส.จะมาครบหรือไม่ ค่าอาหารก็ต้องจ่าย 500,000 บาท หรือสภาฯล่ม อาหารมื้อเย็นก็ต้องเอาไปบริจาค ยิ่งปลายสมัยสภาฯ ก็จะล่มแทบทุกวัน เพราะใกล้หมดวาระ ซึ่งเป็นอาหารที่ทางร้านจัดมาให้ ส.ส.ไม่มีสิทธิ์เลือกรับประทาน
3. ผิดหลักกฎหมาย PDPA
มาต่อกันที่เรื่องแอบถ่าย ซึ่งเรื่องนี้เข้าข่ายผิด PDPA อย่างชัดเจน แม้จะมีการปิดบังใบหน้าของบุคคลในภาพ ด้วยสติ๊กเกอร์รูปส้ม คล้ายจะบอกใบ้ว่าเป็นคนจากพรรคไหนก็ตาม ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็น ส.ส. ด้วยแล้ว คงจะไม่ใช่เรื่องดีหากต้องถูกสังคมมองว่า ส.ส. ชายคนนี้แอบถ่ายรูป ส.ส. หญิงมาลงในโซเชียลมีเดียส่วนตัว
PDPA คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคน รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลและนำไปใช้โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน เป็นกฎหมายใหม่ที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เริ่มบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ รูปถ่าย บัญชีธนาคาร อีเมล ไอดีไลน์ บัญชีผู้ใช้ของเว็บไซต์ ลายนิ้วมือ ประวัติสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถระบุถึงตัวเจ้าของข้อมูลนั้นได้ อาจเป็นได้ทั้งข้อมูลในรูปแบบเอกสาร กระดาษ หนังสือ หรือจัดเก็บในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
PDPA สำคัญอย่างไร
ความสำคัญของ PDPA คือการทำให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิในข้อมูลส่วนตัวที่ถูกจัดเก็บไปแล้ว หรือกำลังจะถูกจัดเก็บมากขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวให้แก่เจ้าของข้อมูล โดยมีสิทธิที่สำคัญคือ สิทธิการรับทราบและยิมยอมการเก็บข้อมูลส่วนตัว และสิทธิในการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว คัดค้านและเพิกถอนการเก็บและนำข้อมูลไปใช้ และสิทธิขอให้ลบหรือทำลายข้อมูลส่วนตัว แม้ว่ากฎหมาย PDPA จะถูกใช้มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่บางคนก็ยังไม่ตระหนักในเรื่องนี้ ยังคงเห็นกรณีการแอบถ่ายบุคคลอื่นแล้วนำมาโพสต์ลงในโซเชียลมีเดียแล้ววิพากษ์วิจารณ์กันอยู่เรื่อยๆ
โดยบทลงโทษของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม PDPA มี 3 ประเภท ได้แก่
โทษทางแพ่ง
โทษทางแพ่งกำหนดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจริงให้กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิด และอาจจะต้องจ่ายบวกเพิ่มอีกเป็นค่าค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษเพิ่มเติมสูงสุดได้อีก 2 เท่าของค่าเสียหายจริง ตัวอย่าง หากศาลตัดสินว่าให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นจำนวน 1 แสนบาท ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดค่าสินไหมเพื่อการลงโทษเพิ่มอีก 2 เท่าของค่าเสียหายจริง เท่ากับว่าจะต้องจ่ายเป็นค่าปรับทั้งหมด เป็นจำนวนเงิน 3 แสนบาท
โทษทางอาญา
โทษทางอาญาจะมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ โดยมี โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยโทษสูงสุดดังกล่าวจะเกิดจากการไม่ปฏิบัติตาม PDPA ในส่วนการใช้ข้อมูล หรือเปิดเผยข้อมูล หรือส่งโอนข้อมูลไปยังต่างประเทศ ประเภทข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน(Sensitive Personal Data) ส่วนกรณีหากผู้กระทำความผิด คือ บริษัท(นิติบุคคล) ก็อาจจะสงสัยว่าใครจะเป็นผู้ถูกจำคุก เพราะบริษัทติดคุกไม่ได้ ในส่วนตรงนี้ก็อาจจะตกมาที่ ผู้บริหาร, กรรมการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนั้น ๆ ที่จะต้องได้รับการลงโทษจำคุกแทน
โทษทางปกครอง
โทษปรับ มี ตั้งแต่ 1 ล้านบาทจนถึงสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งโทษปรับสูงสุด 5 ล้านบาท จะเป็นกรณีของการไม่ปฏิบัติตาม PDPA ในส่วนการใช้ข้อมูล หรือเปิดเผยข้อมูล หรือส่งโอนข้อมูลไปยังต่างประเทศของประเภทข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน(Sensitive Personal Data) ซึ่งโทษทางปกครองนี้จะแยกต่างหากกับการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากโทษทางแพ่งและโทษทางอาญาด้วย
ส่วนกรณีมีผู้ไม่ประสงค์ดีนำรูปของบุคคลอื่นไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย PDPA มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีโทษสูงสุด คือ จำคุก 1 ปี ปรับ 3 ล้านบาท จ่ายค่าเสียหาย 2 เท่า
ซึ่งจากกรณีของ ส.ส.หมิว จะมีการจัดการกับคนที่แอบถ่ายเธอในครั้งนี้อย่างไร ก็เป็นสิทธิ์ที่เธอจะตัดสินใจเลือก แม้สังคมจะอยากให้เธอดำเนินการเพื่อเป็นตัวอย่างและปกป้องสิทธิ์ของตัวเองมากก็ตาม
ที่มาข้อมูล