“เอลนีโญ” ปรากฏการณ์สภาวะอากาศแปรปรวนฉับพลัน บริเวณที่เคยฝนตกชุกจะกลับแห้งแล้ง บริเวณที่แห้งแล้งกลับฝนตกชุกกว่าปกติ ซึ่งปรากฏการณ์เอลนีโญอาจทวีความรุนแรงขึ้น หากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ
ในเดือนกรกฎาคม 2566 มีการอัปเดตว่ามีมวลน้ำร้อนใหญ่ผิดปกติ “เอลนีโญ” เคลื่อนที่จ่อปากอ่าวไทยแล้ว ชี้ว่าหากน้ำยิ่งร้อนยิ่งถ่ายทอดพลังงานให้พายุหมุนได้มากขึ้น ซึ่งจะต้องจับตาดูไต้ฝุ่นปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat อธิบายสถานการณ์ และปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยวันนี้ โดยระบุว่า อุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอลนีโญ ภาพนี้แสดงน้ำร้อนผิดปกติที่เคลื่อนเข้ามาจ่อปากอ่าวไทยแล้ว
สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก NOAA แสดงกราฟอุณหภูมิน้ำทะเลที่ทำให้เราเห็นว่า ไทยทะลุเข้าเอลนีโญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเร่งตัวขึ้น

เอลนีโญจะแรงสุดช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม มีโอกาสที่น้ำทะเลร้อนเพิ่มขึ้นเกิน 1 องศา (80%) เกิน 1.5 องศา (50%) และเกิน 2 องศา (20%) ตัวเลข % อาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะแม่นยำเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้ขึ้น เมื่อดูกราฟในอดีตส่วนใหญ่เอลนีโญจะจบลงเดือนมีนาคม – พฤษภาคมปีหน้า แต่มีอยู่บ้างที่จะลากยาวไปไกลกว่านั้น กลายเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญ

การที่น้ำร้อนจะส่งผลกระทบ 3 เรื่อง
- ผลกระทบต่อปะการัง แม้เป็นช่วงฤดูฝนที่น้ำควรจะเย็น แต่ปะการังบางแห่งยังสีซีดไปจนถึงฟอกขาวน้อยๆ ไม่แข็งแรงอย่างที่ควรเป็น หากเอลนีโญลากยาวไปถึงฤดูร้อนปีหน้า มันเป็นเรื่องน่าสะพรึง
- ผลกระทบต่อแพลงก์ตอนบลูม/น้ำเปลี่ยนสี ช่วงนี้ฝนตกแดดออกสลับกันไป แพลงก์ตอนพืชชอบมาก เพราะมีทั้งธาตุอาหารทั้งแสงแดด จึงเกิดปรากฏการณ์น้ำเขียวเป็นระยะมวลน้ำที่ร้อนกว่าปกติ ทำให้น้ำแบ่งชั้น น้ำร้อนอยู่ข้างบน น้ำเย็นอยู่ข้างล่าง ออกซิเจนจากน้ำด้านบนมาไม่ถึงน้ำชั้นล่าง หากเกิดแพลงก์ตอนบลูม สัตว์น้ำตามพื้นจะตายง่าย
- ผลกระทบต่อพายุ อันนี้ต้องออกไปดูมวลน้ำร้อนในแปซิฟิก น้ำยิ่งร้อนยิ่งถ่ายทอดพลังงานให้พายุหมุนได้มากขึ้น ต้องจับตาดูไต้ฝุ่นปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่คนอยู่หนาแน่นและมีกิจกรรมทางทะเลมากสุดในไทย

ภาพจาก : Facebook Thon Thamrongnawasawat

ภาพจาก : Facebook Thon Thamrongnawasawat
การรับมือต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
- ยกระดับติดตามผลกระทบในทะเลอย่างจริงจัง เพิ่มการสำรวจคุณภาพน้ำ สมุทรศาสตร์ และระบบนิเวศให้ทันท่วงที
- ปรับตัวด้วยการลดผลกระทบจากมนุษย์ให้น้อยที่สุด อย่าซ้ำเติมทะเลตอนที่กำลังแย่ มองไปข้างหน้าหาทางหนีทีไล่ เช่น หากต้องปิดจุดดำน้ำในแนวปะการังหากฟอกขาวปีหน้า ต้องทำอย่างไรเมื่อการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว ปรับตัวกับโลกร้อนไม่ใช่อะไรที่จะทำได้ในพริบตา เพราะจะต้องคิดและวางแผนล่วงหน้า
อย่างที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกบอกไว้ โลกเปลี่ยนไป เอลนีโญ + โลกร้อน เป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องเผชิญอีกเรื่อยๆ ครั้งนี้เป็นแค่ชิมลางก่อนเข้าสู่ยุคธรรมชาติแปรปรวนอย่างแท้จริง
เราควรต้องเรียนรู้ให้มากที่สุด คิดหาหนทางไว้ในขณะที่ยังพอมีเวลา จะมารายงานเพื่อนธรณ์เรื่อยๆ ส่วนที่ว่าทำได้แค่ไหน ก็จะพยายามสุดแรง โดยมีความหวังเล็กๆ ว่าที่พูดไปจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้าง : ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ระบุทิ้งท้าย
