งานนี้วงการคนรัก “เนื้อ” ต้องสั่นสะเทือน หลัง “นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง “ชอบกินเนื้อ ถึงกับเสี่ยงตาย” วันนี้ FEED ได้นำทุกท่านมาไขคำถามที่ว่า การกินเนื้อ เสี่ยงมะเร็ง โรคหัวใจ โรคร้ายอื่น แม้ว่าจะออกกำลังกาย ความเสี่ยงเหล่านี้ก็มิได้ลดลงเรื่องราวจะเป็นอย่างไรไปติดตามชมกันครับ
ชอบกินเนื้อ..ถึงกับเสี่ยงตาย?
เป็นที่ทราบกันมานานพอสมควรแล้วว่าการกินเนื้อแดงอันประกอบไปด้วยเนื้อวัว หมู เนื้อแกะ เป็นต้น จะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคนานาชนิด ที่เป็นโรคเรื้อรังและอันตราย รวมทั้งการเกิดมะเร็งและการเกิดโรคเบาหวาน
ประเด็นที่จับตามองมากที่สุดจะเป็นเรื่องของความเสี่ยงของการเสียชีวิต โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคของเส้นเลือดไม่ว่าจะเป็นหัวใจ สมอง รวมทั้งเส้นเลือดทั่วร่างกาย (Cerebrovascular Diseases หรือ CVD) โดยรวมความผิดปกติของหัวใจ ทั้งหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ และโรคของเส้นเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) และโรคเส้นเลือดสมอง (Stroke)
มีข้อมูลที่ขัดแย้งกันในบางประเด็นในเวลาที่ผ่านมา ก็คือความเสี่ยงจะเกิดขึ้นมากเฉพาะกับการกินเนื้อแดงที่ผ่านการปรุงแต่ง (Processed meat) โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตต่างๆ เช่น การรมควัน การหมัก การใช้เกลือและวิธีอื่นๆ เพื่อเพิ่มรสชาติและยืดอายุของอาหาร ที่รู้จักกันดีคือ ฮอตด็อก ไส้กรอก เบคอน แฮม เนื้อบรรจุกระป๋องและเนื้อตากแห้ง ในขณะที่เนื้อแดงที่ไม่ปรุงแต่ง ไม่เป็นไร
นอกจากนั้นความเสี่ยงยังอาจเกิดขึ้นร่วมกับการใช้ชีวิตและพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การออกกำลัง และการกินพืชผักผลไม้กากใยมากหรือน้อยด้วยหรือไม่ และยังจะเกี่ยวข้องกับยีนที่กำหนดพันธุกรรม ที่ทำให้ตัวการที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่เรียกว่า TMAO มีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ TMAO เป็นผลจากการที่จุลินทรีย์ในลำไส้ทำการเปลี่ยนเนื้อแดงให้กลายเป็นสารอักเสบ และในปัจจุบันมีการพบว่ารหัสพันธุกรรมที่ผันแปร (SNP-Single Nucleotide Polymorphisms) และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับ TMAO มี 10 ตำแหน่งด้วยกัน จากการศึกษา Genome-Wide Association Study (GWAS) เป็น Genetic risk score ของ TMAO
ผลของการศึกษาที่มาจากการติดตามประชากรขนาดใหญ่ และเป็นเวลานาน จากคณะผู้วิจัยทั้งจากสหรัฐฯและจีน รายงานในวารสารทางด้านโภชนา การของยุโรป (European Journal of Nutrition) ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2022 พบว่า การกินเนื้อแดงที่ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งใดๆ มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นของการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคของเส้นเลือดทั้งหมด และโรคเส้นเลือดสมอง
ความเสี่ยงดังกล่าวไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ลดลงได้ จากการปรับพฤติกรรมและไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ในขณะเดียวกัน การหันมากินเนื้อไก่ สัตว์ปีก อาหารธัญพืช กลับช่วยให้ลดความเสี่ยงการตายอย่างมากมาย การศึกษานี้ควบรวมประชากร 180,642 คน ในระหว่างปี 2006 ถึง 2010 ที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวเกี่ยวข้องกับเส้นเลือดหรือมะเร็ง และทำการติดตามไปจนกระทั่งถึงปี 2018 โดยมีระยะเวลาโครงการติดตามเฉลี่ยอยู่ที่ 8.6 ปี
ผลของการศึกษา มีการเสียชีวิต 3,596 รายด้วยกัน โดย 655 ราย ตายจากโรคเส้นเลือดและหัวใจทั้งหมด 285 รายจากโรคเฉพาะของเส้นเลือดหัวใจ และ 149 รายจากโรคเส้นเลือดสมอง การศึกษานี้ยังเน้นย้ำถึงการกินเนื้อแดงที่แม้ไม่ได้มีการปรับหรือปรุงแต่งใดๆ ก็เสี่ยงตายอยู่ดี และแม้จะพยายามออกกำลัง ไม่สูบบุหรี่ก็ไม่ได้ช่วยให้ความเสี่ยงลดลง
แหล่งที่มาและข้อมูล : ข่าวสด