น้ำมันเครื่อง คือ ของเหลวที่อยู่ในเครื่องยนต์ที่มีหน้าที่ช่วยในการหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายใน เพื่อไม่ให้ชิ้นส่วนเหล่านั้นเกิดการเสียดสี หรือสัมผัสกันโดยตรง นอกจากนี้ยังช่วยลดความร้อนที่เกิดขึ้น และป้องกันการเกิดสนิมได้อีกด้วย แน่นอนว่าน้ำมันเครื่องก็มีอายุการใช้งานฉะนั้นหากไม่ได้มีการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีอาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ ผู้ขับขี่รถยนต์หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบว่า การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องต้องทำเมื่อไหร่ เปลี่ยนทุกกี่เดือน หรือเปลี่ยนทุกกี่กิโลเมตร ซึ่งประเด็นนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่ในแต่ละกรณีไปวันนี้ FEED จะมาพูดคุยถึงเรื่องนี้กันครับ
น้ำมันเครื่องเปลี่ยนเมื่อไหร่
สำหรับกำหนดเวลาในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องนั้น เบื้องต้นควรพิจารณาจากข้อมูลในหนังสือคู่มือรถแต่ละคันเป็นหลัก และส่วนสำคัญอยู่ที่ประเภทของน้ำมันเครื่องที่เลือกใช้ด้วย เนื่องจากน้ำมันเครื่องนั้นมีทั้งแบบ น้ำมันเครื่องธรรมดา (Synthetic), น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi Synthetic) และน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Fully Synthetic) ซึ่งมีอายุการใช้งานและระยะเวลาที่แตกต่างกัน
- น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ หรือที่เรียกว่า น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ 100% จะใช้งานได้ในระยะทางประมาณ 10,000 กิโลเมตร
- น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ จะใช้งานได้ระยะทางประมาณ 5,000-7,000 กิโลเมตร
- น้ำมันเครื่องแบบธรรมดา ก็จะมีอายุการใช้งานที่น้อยลงอีกอยู่ที่ 3,000-5,000 กิโลเมตร
โดยมากแล้วน้ำมันเครื่องทุกประเภทก็จะมีการระบุไว้ว่า ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุก 6 เดือน ขึ้นอยู่กับว่าอย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อนกัน
รถขับน้อยต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องหรือไม่
ส่วนใครที่มีรถยนต์แต่ไม่ค่อยได้ใช้งานสักเท่าไรนัก ก็ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่กำหนดในคู่มือรถหรือตามประเภทของน้ำมันเครื่องที่ใช้งาน โดยส่วนใหญ่แล้วจะกำหนดระยะเวลาอยู่ที่ 6 เดือน
เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องแม้ไม่ค่อยได้ใช้รถเพราะว่าน้ำมันเครื่องจะมีการเสื่อมประสิทธิภาพลงตามเวลา และการที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมของเครื่องยนต์ที่ไม่ได้สตาร์ตมาเป็นเวลานานอาจเกิดความชื้นขึ้นภายในเครื่องยนต์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสนิมหรือคราบเขม่าตามมาได้หากฝืนใช้งาน
ในบางกรณีไม่จำเป็นต้องรอจนครบระยะทางหรือระยะเวลาที่กำหนด หากเราตรวจเช็กรถในเบื้องต้นแล้วพบว่าน้ำมันเครื่องมีปริมาณที่ลดลง หรือน้ำมันเครื่องมีสีที่ดำมากกว่าปกติ ควรที่จะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องในทันที นอกจากนี้ยังต้องนำรถเข้าตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะน้ำมันเครื่องที่มีลักษณะแบบนี้หมายความว่ารถของเราเริ่มมีอาการผิดปกตินั่นเอง
แหล่งที่มาและข้อมูล : Driving.ca