โคโค่ ลี (Coco Lee) นักร้องและนักแต่งเพลงยุค 90 เสียชีวิตเมื่อวันพุธ (5 กรกฎาคม) ด้วยวัย 48 ปี หลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามาเป็นเวลานาน ซึ่งที่ผ่านมา Coco Lee ถือเป็นศิลปินแถวหน้าที่มีชื่อเสียงทั่วโลก
FEED จะพาผู้อ่านมาย้อนประวัติของนักร้องคนนี้ และการรับมือกับอาการที่เธอต้องเจอหากมันเกิดขึ้นกับคุณ
ประวัติ โคโค่ ลี
โคโค่ ลี เป็นศิลปินลูกครึ่งอินโดนีเซีย ฮ่องกง ที่เกิดในฮ่องกง และได้ย้ายมาใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1975 และในปี 1992 เธอได้เดินทางมาฮ่องกงเพื่อร่วมแข่งขัน New Talent Singing Awards และได้ตำแหน่งรองชนะเลิศ ก่อนได้เซ็นสัญญากับ Capital Artists มีอัลบั้มภาษาจีนกลาง Love from Now On และ Promise Me ในปี 1994 กับค่าย Fancy Pie Records และได้ทำอัลบั้มเพลงคัฟเวอร์สากลในปี 1996 Brave Enough to Love และอัลบั้มภาษาจีน Woman in Love
ผลงานที่ทำให้คุณคุ้นว่าเธอคือใคร
ตลอดเส้นทางเกือบ 30 ปี ในสายอาชีพนักดนตรีของเธอมีผลงานมากมาย แต่ผลงานที่เปลี่ยนชีวิต โคโค่ ลี คืออัลบั้ม Just No Other Way ที่มีเพลงดัง “Do You Want My Love” และ “Before I Fall in Love” ที่คนไทยรู้จักดี และถูกใช้ประกอบภาพยนตร์ Runaway Bride ซึ่งหลังจากนั้นเธอได้รับโอกาสร้องเพลง “A Love Before Time” ประกอบภาพยนตร์ Crouching Tiger, Hidden Dragon และในปี 2001 เธอกลายเป็นศิลปินเอเชียคนแรกๆ ที่ได้แสดงบนเวที Academy Awards ครั้งที่ 73 หรือ Oscars
โรคซึมเศร้าพรากเธอจากไป
โคโค่ ลี เผชิญกับโรคซึมเศร้ามานานหลายปี แม้ว่าอาการต่างๆ ของเธอที่ได้รับการเยียวยาจะมีท่าทีที่ดีขึ้น แต่จู่ๆ วันพุธที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ก็มีรายงานจากพี่สาวของเธอทั้งสองคน แครอล และแนนซี ลี ผ่านทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ว่าโรคซึมเศร้าของเธอแย่ลงอย่างมากในช่วง 2-3 เดือนมานี้ “แม้ว่า โคโค่จะหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญและพยายามอย่างดีที่สุดในการต่อสู้กับโรคซึมเศร้า แต่น่าเศร้าที่ปีศาจร้ายในตัวกลับเข้าครอบงำเธอ” และในที่สุดสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดก็ได้เกิดขึ้นในที่สุด โคโค่ ลี พยายามจบชีวิตตัวเอง แต่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและอยู่ในอาการโคม่าก่อนจะเสียชีวิตในที่สุด
ปี 2023 ครบรอบ 30 ปีที่ โคโค่ ลี แจ้งเกิดในวงการ
ปี 2023 นี้ จะครบรอบ 30 ปี และตลอดระยะเวลาการทำหน้าที่ศิลปิน เธอสามารถสร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับแฟนเพลงได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการร้อง การทำเพลง การเต้น ถือเป็นอีกหนึ่งคนบันเทิงที่เป็นความภาคภูมิใจและเป็นหน้าเป็นตาของคนเอเชียอย่างแท้จริง
ถอดบทเรียนจากเรื่องเศร้า
หากใครที่ได้อ่านข่าวนี้แน่นอนว่า โรคซึมเศร้า เป็นหนึ่งในโรคที่คนรุ่นใหม่ และเก่าในสังคมตอนนี้ต้องประสบพบเจอกันมากมายในสังคม วันนี้ขอนำหลักในการสังเกตเพื่อดูแลผู้ที่เป็นซึมเศร้ามาให้ดูกันครับ
สำหรับโรคซึมเศร้าหลายคนอาจไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเผชิญโรคนี้อยู่ ทำให้ไม่ได้มาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา บางคนที่รู้ตัวก็อาจจะรู้สึกกลัวว่าการมาพบจิตแพทย์แสดงว่าเป็นโรคจิตโรคประสาท ทำให้ขาดการช่วยเหลือ และจากการสำรวจพบว่า คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 100 คน มีเพียง 10 คน เท่านั้นที่พบแพทย์และได้รับการรักษาด้วยยาอย่างถูกต้อง
อาการของโรคมักเริ่มจากเป็นน้อยๆ มากขึ้นช้าๆ หรือรวดเร็ว แตกต่างกันไป อาจมีหรือไม่มีสาเหตุจากการสูญเสียหรือความเครียดทางจิตใจ ถ้ามีสาเหตุทางจิตใจ มักเป็นความเครียดในชีวิต เช่น ปัญหาการเรียน การทำงาน หรือความสูญเสียในชีวิต เช่น สอบตก อกหัก คนรักเสียชีวิต หย่าร้าง ตกงาน เป็นต้น
ส่วนคนที่คิดจะทำร้ายตัวเองมักจะเกิดอารมณ์ซึมเศร้านำมาก่อน อาการอาจมีน้อย เช่น เริ่มต้นจากอารมณ์เบื่อ ไม่สนุกสนาน ไม่ร่าเริงแจ่มใส ไม่ค่อยสนใจหรืออยากจะทำอะไร แม้แต่กิจกรรมที่เคยชอบทำหรือเคยเพลิดเพลิน เบื่องาน หรือ เบื่อการเรียน เบื่อคนที่อยู่รอบข้าง เบื่อโลก เบื่อทุกสิ่งทุกอย่าง อยากอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่อยากพูดคุยกับใคร ฉุนเฉียวง่าย หงุดหงิดง่าย กังวลง่าย อาการเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน
คนทั่วไปกลัวว่าการถามเรื่องการฆ่าตัวตาย จะเป็นการกระตุ้นหรือชักนำให้ผู้นั้นคิดกระทำหรือไม่ แต่ความจริงแล้ว การถามเรื่องการฆ่าตัวตาย จะช่วยให้ผู้ที่กำลังคิดจะทำอยู่แล้ว ได้ เปิดเผยเรื่องอารมณ์ซึมเศร้า และเรื่องการคิดอยากตาย เมื่อเปิดเผยแล้วความรู้สึกจะดีขึ้นจนไม่ฆ่าตัวตาย สำหรับคนที่ไม่ได้คิดเรื่องนี้ไม่เป็นการกระตุ้นให้คิดหรือกระทำแต่อย่างใด การสอบถามกันเรื่องนี้ยังสื่อให้ผู้นั้นเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ ที่มีคนสนใจเป็นห่วงใยเอื้ออาทร เกิดความรู้สึกดีต่อสังคมและการมีชีวิตอยู่ต่อไป และเมื่อทราบว่าใครกำลังคิดทำร้ายตัวเอง หรือซึมเศร้ามากๆ ควรพยายามชักจูงให้เขาได้มาพบจิตแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง