ภาพสะเทือนใจช้างและวัวออกหาอาหารกินบนกองขยะพลาสติกขนาดใหญ่ในประเทศศรีลังกา ส่งผลให้เกิดแรงกระตุ้นไปยังนักการเมืองในการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีรายงานช้างเกือบ 20 ตัวและสัตว์ป่าอีกนับไม่ถ้วนต้องตายลงเนื่องจากกินพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าไป
ด้านเจ้าหน้าที่ระบุว่า กฎหมายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น ถุงพลาสติก, ขวดน้ำ และพลาสติกสำหรับห่อบรรจุภัณฑ์
ผลกระทบจากขยะพลาสติกเหล่านี้ไม่ใช่แค่ทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ป่า แต่ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ท่อน้ำอุดตันและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกเพราะขยะพลาสติกเป็นแหล่งวางไข่ของยุงลายอีกด้วย
“Anil Jasinghe” เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมระดับสูงของศรีลังกา กล่าวกับผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีว่า “เราต้องการสร้างการตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบในการใช้พลาสติกพวกนี้ กฎหมายที่จะประกาศในเร็วๆ นี้ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ช้อนส้อม, แก้วน้ำ , หลอดดูดน้ำ และพลาสติกห่อดอกไม้ จะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย”
อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ความพยายามในการจัดการกับขยะพลาสติกครั้งแรกของศรีลังกา ย้อนกลับไปเมื่อปี 2006 เคยมีการห้ามไม่ให้ใช้พลาสติกแบบบางมากและพลาสติกห่ออาหาร แต่กลับถูกเพิกเฉยโดยผู้ประกอบการ
“แน่นอนว่าเราออกมาตรการหลายต่อหลายครั้ง แต่นั่นไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่แท้จริง เราจำเป็นต้องส่งเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนาสายการผลิตให้ดียิ่งขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” Jasinghe กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อปี 2017 เคยเกิดกรณีฉาวโฉ่ครั้งใหญ่เมื่อกองขยะขนาดมหึมาในโคลัมโบเมืองหลวงของศรีลังกาถล่มลงมาทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 คน และสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนหลายร้อยหลัง นับตั้งแต่เหตุการณ์นั้นศรีลังกามีคำสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติกสำหรับซื้อสินค้าทุกชนิด แต่ข้อบังคับดังกล่าวกลับไม่ได้บังคับใช้อย่างเข้มงวดเท่าที่ควร
ขณะที่องค์การสหประชาติ (UN) รายงานว่า ศรีลังกาสามารถรีไซเคิลพลาสติกได้เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพลาสติกทั้งหมดที่มีการใช้ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 7.2 เปอร์เซ็นต์
ผลการศึกษาของศูนย์ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นเมื่อปี 2020 ชี้ว่า พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถุงพลาสติก, ที่ห่ออาหาร, หลอดดูด, แก้วน้ำ และช้อนส้อม คิดเป็นเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะในเมือง โดยประเทศศรีลังกามีประชากรประมาณ 22 ล้านคน สร้างขยะพลาสติกกว่า 1.5 ล้านตันต่อปี และส่วนใหญ่ลงเอยด้วยการถูกทิ้งลงในลำคลอง แม่น้ำ หรือแม้แต่มหาสมุทรอินเดีย
ขยะพลาสติกเยอะ โรคไข้เลือดออกพุ่ง
การทำความสะอาดและลดการใช้พลาสติกยังส่งผลดีต่อสุขภาพของประชากรด้วย เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกพุ่งสูงขึ้นจากจำนวนผู้ป่วย 35,000 คน และผู้เสียชีวิต 26 คนในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็นผู้ป่วย 76,600 คน และผู้เสียชีวิต 72 คน เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า “การระบาดของโรคไข้เลือดออกสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติก”
“Nishshanka de Silva” ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ZeroPlastic Movement บอกว่า “นี่คือการขับเคลื่อนที่ดี แต่ฉันยังกังวลใจว่าพวกเขาจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่”
ไม่ว่าเป้าหมายเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นหรือเพื่อลดมลภาวะสิ่งแวดล้อม กุญแจสำคัญคือการลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
แหล่งที่มาข้อมูล