“อาหารติดคอ” หลายคนอาจฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ความจริงแล้วส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 อลิส หรือ อริศรา กาพย์เดโช เน็ตไอดอลที่โด่งดังอย่างมากในช่วงหนึ่ง ก็ได้จากไปเนื่องจากรับประทานอาหารแล้วติดหลอดลม ทำให้หายใจไม่ออกขาดออกซิเจน ต้องนอนเป็นเจ้าหญิงนิทราก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ล่าสุดได้อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู ได้รับแจ้งเหตุมีผู้รับประทานอาหารติดคอ ที่บ้านพักหลังหนึ่งในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2566 ที่เกิดเหตุภายในบ้านพักพบชายอายุ 27 ปี สภาพหายใจไม่ออกหมดสติ เจ้าหน้าที่เร่งให้การช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นและเร่งนำส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียชีวิตพร้อมกับครอบครัวนั่งรับประทานชาบูกันปกติ โดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุสลดขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำร่างส่งชันสูตรสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างละเอียด
กรณีอาหารติดคอ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยผศ. พญ.วิจิตรา เลี้ยงสว่างวงศ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ให้ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ไว้เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ว่าอาหารติดคอหรือการสำลักอาหารเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลได้อย่างทันท่วงที
หากมีอาการเหมือนอาหารติดคอ ให้ลองสังเกตอาการดูว่ายังสามารถไอหรือพูดได้อยู่ไหม หากยังไอหรือพูดได้ อาหารอาจไปอุดกั้นทางเดินหายใจบางส่วน แต่หากมีอาการหายใจไม่ออก พูดหรือร้องไม่มีเสียง มีอาการหน้าเขียว ปลายมือเท้าเขียว ต้องรีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือหากไม่แน่ใจวิธีปฐมพยาบาลให้รีบแจ้งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทร 1669
การปฐมพยาบาลเมื่ออาหารติดคอ
-เด็กโตและผู้ใหญ่ ใช้วิธีรัดกระตุกหน้าท้อง
-เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ตบหลัง 5 ครั้ง แล้วกดหน้าอก 5 ครั้ง
คำเตือน! ห้ามใช้วิธีรัดกระตุกที่หน้าท้องของเด็กทารกโดยเด็ดขาด
กรณีผู้ป่วยหมดสติหรือไม่รู้สึกตัว ให้จับผู้ป่วยนอนหงาย กดหน้าอกนวดหัวใจ ช่วยหายใจ เปิดปากนำสิ่งแปลกปลอมออกมา

มหาวิทยาลัยมหิดล
ขณะที่โรงพยาบาลเปาโล ได้ให้ข้อมูลเตรียมพร้อมรับมือ 24 ชม. เมื่อลูก “อาหารติดคอ” ผ่านเว็บไซต์โรงพยาบาลเปาโล เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2565 ว่าการเสียชีวิตจาก “ภาวะทางเดินหายใจ” หรือ “หลอดอาหารถูกอุดกั้น” จากสิ่งแปลกปลอม (choking) เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยในเด็กเล็ก แต่หากคุณพ่อคุณแม่มีความพร้อม ความรู้ความเข้าใจ ในการรับมือและป้องกันเบื้องต้น ก็จะช่วยให้เด็กมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น หรือหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เด็กก็จะได้รับการดูแลและช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
อาการเตือน เมื่อลูก “อาหารติดคอ”
-สำลัก หรือมีอาการไออย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
-หายใจไม่ออก หรือหายใจเสียงดังเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด
-พูดไม่มีเสียงออกมา หรือพูดได้ลำบาก
-หายใจเร็วผิดปกติ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น…เมื่อลูกอาหารติดคอ
- ให้รีบช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยใช้วิธีจับเด็กนอนคว่ำและตบแรงๆ บริเวณทรวงอกด้านหลังระหว่างกระดูกสะบัก จนอาหารกระเด็นหลุดออกมา ห้ามใช้นิ้วมือล้วงช่องปาก หรือจับเด็กห้อยศีรษะและตบหลังเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เศษอาหารตกมาอุดที่กล่องเสียงจนขาดอากาศหายใจได้
- ในกรณีที่สำลักแล้วหายใจไม่ออก ริมฝีปากเขียว ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน อาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ควรรีบใช้วิธีช่วยเหลือแบบ Heimlich โดยให้ลูกนั่งหรือยืนโน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย คุณแม่ยืนทางด้านหลัง ใช้แขนสอดสองข้างโอบลำตัว กำมือวางไว้ที่ใต้ลิ้นปี่ ดันมือลงตรงตำแหน่งลิ้นปี่อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดแรงดันในช่องท้องดันให้อาหารหลุดออกมา
- สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยลูกจากภาวะฉุกเฉินดังกล่าวนั้น คุณแม่จะต้องตั้งสติให้ดีๆ รีบช่วยเหลือลูกโดยเร็วที่สุดอย่างถูกวิธี เพราะหากสมองของลูกขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที ก็อาจทำให้กลายเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทราตลอดไป
วิธีป้องกัน…ไม่ให้อาหารติดคอ
-เก็บอาหารชิ้นเล็กๆ เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด ลูกอม ข้าวโพดคั่ว องุ่น ลูกเกด ขนมเยลลี่ ฯลฯ ให้พ้นมือเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการที่เด็กอาจจะหยิบกินโดยที่ไม่ได้อยู่ในสายตาและความดูแลของพ่อแม่
-ควรสอนให้เด็กเคี้ยวอาหารช้าๆ ให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่กินอาหารขณะนอนราบ รวมถึงไม่ให้พูดหัวเราะ หรือวิ่งเล่นขณะที่มีอาหารอยู่ในปาก
-ไม่ควรให้เด็กเล็กกินอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น มีขนาดกลม ลื่นและแข็ง เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก รวมไปถึงปลาที่มีก้าง เนื้อสัตว์ที่ติดกระดูก และผลไม้ที่มีเม็ดขนาดเล็ก ควรเอาเม็ดออกพร้อมตัดแบ่งเป็นคำเล็กพอที่เด็กจะสามารถเคี้ยวได้ เนื่องจากเม็ดของผลไม้มีความลื่นและมีโอกาสหลุดเข้าหลอดลมได้ง่าย
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารติดคอ ผ่านเว็บไซต์กรมอนามัยไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ว่าเหตุการณ์สิ่งแปลกปลอมที่อุดกั้นทางเดินหายใจเกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เช่น กระดุม เหรียญ น็อต ลูกอม ติดคอ สำหรับในกลุ่มผู้ใหญ่มักเกิดจากการกินอาหารชิ้นใหญ่ หรือเคี้ยวไม่ละเอียด จึงเกิดการติดคอ และปิดกั้นหลอดลม จนขาดอากาศหายใจได้
เมื่อพบเด็กหรือผู้ใหญ่มีอาการสำลัก หรือสิ่งแปลกปลอมติดคอ ถ้ายังไอแรง ๆ ได้ พูดได้ และหายใจเป็นปกติไม่ต้องทำอะไร แต่ควรรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอทันที อย่าพยายามใช้นิ้วล้วงคอ เพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออก เพราะอาจดันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจ จนเกิดอันตรายได้
ส่วนกรณีรุนแรง หายใจไม่ได้ ไอไม่ได้ หรือผู้ป่วยหมดสติ ให้แจ้ง 1669 และรีบปฐมพยาบาล โดยให้ผู้ช่วยปฐมพยาบาลยืนด้านหลังผู้ป่วยโอบรอบใต้รักแร้ มือข้างหนึ่งกำ โดยหันกำปั้นด้านนิ้วหัวแม่มือเข้าไปด้านในหน้าท้องผู้ป่วย แล้ววางไว้ เหนือบริเวณสะดือแต่ใต้ลิ้นปี่ มืออีกข้างโอบกำปั้นไว้ และรัดกระตุกที่หน้าท้องขึ้นและเข้าพร้อม ๆ กัน แรง ๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออก หรือจนกว่าผู้ป่วยจะพูดหรือร้องออกมาได้ จากนั้นนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
ทั้งนี้ การป้องกันอาหารติดคอขณะกินอาหาร มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
- นั่งตัวตรงขณะกินอาหารและหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที ควรนั่งพักหรือเดินย่อยสัก 15 – 20 นาที
- กินอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด
- อย่ากินอาหารขณะเหนื่อยหรือรีบเร่ง ควรพักก่อนสัก 30 นาที
- อาหารที่กินควรแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไป
- ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การพูดคุย การเดิน
- กินอาหารคำละ 1 ชนิด อาหารที่มีเนื้อสัตว์หลากหลายชนิดใน 1 คำ อาจสำลักได้ง่าย
- ควรกินอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว เพื่อให้กลืนอาหารง่ายไม่ฝืดคอ
และ 8. หากอาหารที่กินแข็งหรือแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปช่วยให้เนื้ออาหารชุ่มและนุ่มขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมอนามัย