วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำกลางเดือน 3 หรือประมาณราวเดือน กุมภาพันธ์ แต่หากเป็นปีอธิกมาส (ปีที่มีเดือน 8 สองหน) วันมาฆบูชาจะเลื่อนไปเป็น วันขึ้น 15 ค่ำกลางเดือน 4 หรือ ประมาณเดือนมีนาคม และถือเป็นวันหยุดราชการของประเทศไทย

ปีนี้ วันมาฆบูชา ตรงกับวันจันทร์ ที่ 6 มีนาคม 2566 โดยพุทธศาสนิกชนส่วนมาก นิยมประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา

แต่น้อยคนที่จะนึกออกว่า ณ ห้วงเวลาหนึ่งของ วันขึ้น 15 ค่ำกลางเดือน 3 ในครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตั้งพระทัยปลงพระชนมายุสังขาร โดยกล่าวว่า “ต่อแต่นี้ไปอีก 3 เดือน เราจักเสด็จดับขันธ ปรินิพพาน” โดยการปลงอายุสังขารนี้ ตรงกับวันมาฆบูชา ในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พระชันษา

สำหรับใครที่ได้ศึกษาหรืออ่านพระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ได้กล่าวไว้ว่า

ครั้งนั้น มารผู้มีบาป เมื่อท่านพระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ดูกรมารผู้มีบาป ภิกษุสาวกของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรัปวาทที่บังเกิดขึ้น ให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้ เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพาน เพียงนั้น ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุสาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว ได้รับแนะนำแล้ว แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรัปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคทรงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค.

….. (ย่อความ)…

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ไว้ว่า ดูกรมาร ผู้มีบาป พรหมจรรย์ของเรานี้ จักยังไม่สมบูรณ์ แพร่หลาย กว้างขวาง รู้กันโดยมาก แน่นหนา (มั่นคง) จนกระทั่งพวกเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคสมบูรณ์แล้ว แพร่หลายกว้างขวาง รู้กันโดยมาก แน่นหนา (มั่นคง) จนกระทั่งพวกเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค.

เมื่อมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า ดูกรมารผู้มีบาป ท่านจงมีความขวนขวายน้อยเถิด การปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีในไม่ช้า แต่นี้ล่วงไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจักปรินิพพาน.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ และเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขารแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ และเกิดขนพองสยองเกล้าน่าสะพรึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือลั่น.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้น ความว่า

                          มุนี เมื่อเทียบเคียงนิพพานและภพ ได้ปลงเสียแล้วซึ่ง

                          ธรรมอันปรุงแต่งภพ ยินดีแล้วในภายใน มีจิตตั้งมั่นแล้ว

                          ได้ทำลายแล้วซึ่งข่าย คือกิเลสอันเกิดในตนเปรียบดังเกาะ.

จบ สูตรที่ ๑๐
จบ ปาวาลวรรคที่ ๑

กล่าวได้ว่า ในคราวนั้นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเผยแผ่พระธรรมเป็นเวลานานถึง 45 พรรษา ทรงพระประชวรอาพาธหนัก จวนเจียนจะเสด็จปรินิพพานนี้เอง ทำให้เหล่าพระสงฆ์สาวก และพระอานนท์ องค์อุปฎฐากต่างก็หวั่นไหว แต่เมื่อทรงหายจากอาพาธคราวนี้แล้ว วันขึ้น 15 ค่ำกลางเดือน 3 รอบนั้น ทรงเสด็จไปประทับในบริวเณปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี ทรงแสดงโอกาสนิมิจตแก่พระอานนท์ถึง “อิทธิบาทสี่” โดยเน้นกล่าวแก่พระอานนท์โดยพยายามบอกใบ้ให้พระอานนท์กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุยืนยาวต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่พระอานนท์ท่านกลับนึกไม่ออก ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าทรงบอกใบ้ถึง 3 หน!

เมื่อพระอานนท์นึกไม่ออก (ตำนานพระปฐมสมโพธิบอกว่า พญามารใช้เล่ห์มนต์ใส่พระอานนท์) พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกให้พระอานนท์ออกไปนั่งใต้ร่มไม้ที่อื่น แล้วพญามารก็ได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าให้เสด็จพระนิพพาน

ท้ายที่สุด พระพุทธเจ้าทรงรับคำ แล้วทรงปลงพระชนมายุสังขารในวันนั้นเอง…

การปลงพระชนมายุสังขารของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาจจะถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับวันมาฆบูชา ที่ชาวพุทธทุกๆคนควรระลึกถึง อย่างน้อยก็เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งที่เสนอให้เราได้เห็นว่า แม้จะเกิดมาบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว สุดท้ายก็ไม่มีใครเอาชนะความตายได้นั่นเอง.

อ้างอิงข้อมูล

พระไตรปิฎก / สมุดภาพพุทธประวัติ: เหม เวชกร เขียนภาพพุทธประวัติประกอบเรื่อง , วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พิมพ์แจกเป็นธรรมทานถวายเป็นพระราชกุศลมหามงคลวโรกาส ปีกาญจนาภิเษก มิถุนายน 2539

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก