“ในทางกลับกันพอญี่ปุ่นนำวายต้นฉบับจากไทยไปทำเวอร์ชั่นญี่ปุ่น เช่น เรื่อง Love in the Air ปรากฏว่าไม่ค่อยมีประเด็นทางสังคมของ LGBTQ+ แบบที่ฉบับไทยนั้นมีอยู่ ทำให้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะมีการลดทอนทั้งในเชิงเนื้อหาและเชิงอุดมการณ์ จนสื่อโซเชียลญี่ปุ่นดราม่าค่อนข้างเดือดว่า เรื่องนี้ทำสู้ของไทยไม่ได้”
เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2568 ณ ห้องประชุมและแสดงดนตรี ชั้น 2 อาคารจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิทยาการขั้นสูงแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ Faculty of Arts and Social Sciences, National University of Singapore; Faculty of Humanities and Social Sciences, Yamagata University; Global Education and Intercultural Advancement Center, Oita University, Harvard-Yenching Institute; Japan Foundation และ FEED จัดประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “Asian Boys Love Inter-references: From Japan to Thailand, Thailand to the World”
เวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า ผู้เข้าร่วมฟังประชุมวิชาการทยอยเดินทางมาลงทะเบียนอย่างคึกคัก ทั้งนักวิชาการไทยและต่างชาติ นิสิต นักศึกษา พร้อมเข้าห้องประชุมเพื่อร่วมฟังการประชุมวิชาการ
พร้อมด้วยวิทยากรอีกคับคั่ง อาทิ Prof. Kazumi Nagaike มหาวิทยาลัยโออิตะ (Oita University), รศ.ดร.อัมพร จิรัฐติกร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, Dr. Ying-kit Chan มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, Prof. Masao Imamura มหาวิทยาลัยยามากาตะ (Yamagata University) และ รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ
รศ.ดร.นัทธนัย กล่าวว่า งานประชุมเรื่องวายครั้งนี้จัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งเราใฝ่ฝันมานานที่จะทำให้เป็นการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ จนมีความพร้อมในปีนี้ ที่มีอาจารย์ Kazumi Nagaike มาจากญี่ปุ่น และ รศ.ดร.อัมพร จิรัฐติกร ที่เสนอให้เป็นผู้ร่วมจัดการประชุมในครั้งนี้ โดยความแตกต่างเมื่อครั้งที่แล้วกับครั้งนี้ คือ ครั้งก่อนเราให้ความสำคัญแก่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับชาติค่อนข้างมาก เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต รัฐ แฟนคลับ เป็นต้น ซึ่งเราได้อภิปรายกันไปบ้างแล้วในแง่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์
“แต่ครั้งนี้เราพบว่า การพัฒนาในมิติเหล่านั้น ไม่สามารถอยู่อย่างแยกขาดกับความเป็นไปที่เกิดขึ้นในระดับนานาชาติ ทั้งการส่งออกเนื้อหาวายไปสู่ประเทศอื่น เช่น จีน ญี่ปุ่น และประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาหรือ ปรากฏการณ์ของแฟนคลับ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์แบบข้ามชาติ เพราะฉะนั้นเราจึงจัดงานประชุมวิชาการครั้งนี้ขึ้นมา
ครั้งนี้มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากมีมุมมองจากนักวิชาการต่างชาติ หันมาศึกษาเรื่องวายไทย มีประเด็นที่เราอาจจะมองไม่เห็น หรือ คุ้นชินเกินไป หลายครั้งเราจึงพบว่า มุมมองของนักวิชาการต่างชาติเป็นมุมมองใหม่ และนักวิชาการมาจากหลากหลายสาขาวิชาทั้งนักสังคมวิทยา นักประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยา รวมทั้งคนที่ศึกษาวัฒนธรรมประชานิยม ฉะนั้นเวลาที่หยิบขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา ก็จะมีลักษณะที่สนทนากันได้ หรือ นำไปสู่การถกเถียงมากขึ้น”
รศ.ดร.นัทธนัย กล่าวอีกว่า การที่ประเทศไทยกลายเป็นดินแดนแห่งความหวังสำหรับ LGBTQ+ บนพื้นที่สื่อต่างประเทศแล้วนั้น สำหรับตนมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายลงโทษคนที่มีความหลากหลายทางเพศในขณะที่ในหลายประเทศมี และในหลายประเทศก็เคร่งครัดมากในแง่การคัดกรองเนื้อหาที่อ่อนไหวในประเด็นดังกล่าว
“แม้จะมีนักวิชาการเสนอว่า การที่เรามองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองสวรรค์ของเกย์นั้นเป็นมายาภาพก็ตาม แต่ว่าในแง่หนึ่งสังคมไทยก็ยังถือว่าเป็นสังคมที่มีความอดกลั้นมากกว่าในหลายสังคม ส่วนสื่อที่ออกไปก็มีส่วนในการเผยแพร่ภาพลักษณ์เชิงบวก ในสื่อของชาติอื่นในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี ก็กล่าวถึงประเทศไทยว่าเป็นสังคมที่โอบรับความหลากหลายทางเพศ ส่วนซีรีส์วาย ถ้าเราดูซีรีส์ที่สร้างกันมาตั้งแต่ปี 2557 ก็คือ ในกรอบโรมานซ์ ความรักระหว่างผู้ชายก็ยังเปี่ยมหวัง แม้จะมีแรงกดดันของพ่อแม่ จากระบบคุณค่าแบบเอเชีย เมื่อเทียบกับสื่อ LGBTQ+ จากตะวันตกแล้ว พ่อแม่จะมีบทบาทน้อยกว่า กรณีซีรีส์วายของไทย เราจะเห็นว่าปัญหาจากการที่พ่อแม่ไม่ยอมรับ จะสามารถถูกไกล่เกลี่ยได้”
รศ.ดร.นัทธนัย กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้มีปรากฏการณ์เกิดขึ้นแล้วในโลกวิชาการ โดยมีงานวิชาการจำนวนหนึ่ง เช่น ข้อเสนอของ Thomas Baudinette นักวิชาการออสเตรเลียที่บอกว่า ศูนย์กลางของการผลิตวัฒนธรรม BL (Boys Love) ย้ายจากญี่ปุ่นมาไทยแล้ว เพราะในแง่ของจำนวน เรายังคงผลิตมาที่สุดในโลกอยู่ แล้วจำนวนดารา ซีรีส์ที่เราผลิตส่งออกไป หรือ จำนวนพื้นที่สื่อที่เราได้ในวัฒนธรรมดิจิทัลก็มีมากกว่างานที่ผลิตจากประเทศอื่น
“ประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยก็เป็นศูนย์กลางการศึกษาวัฒนธรรมและอุตสาหกรรม BL เช่นกัน เมื่อมีการศึกษาวายไทยอย่างกว้างขวาง ย่อมส่งผลให้นักวิชาการต่างชาติสนใจจะทำงานร่วมกับนักวิชาการไทยมากขึ้น การแลกเปลี่ยนของอุตสาหกรรม BL แบบข้ามวัฒนธรรมจึงเกิดควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อค้นพบทางวิชาการด้าน BL แบบข้ามวัฒนธรรมด้วย” รศ.ดร.นัทธนัยชี้
ด้าน ศ.ดร.คาซุมิ นากาอิเกะ จาก Global Education and Intercultural Advancement Center มหาวิทยาลัยโออิตะ (Oita University) กล่าวว่า วันนี้ตนนำเสนองานวิจัยที่ทำร่วมกับ รศ.ดร.นัทธนัย และทีมวิจัยเกี่ยวกับ business model ของวายไทย ว่าเป็นอย่างไร และโมเดลนั้นอุตสาหกรรม BL ญี่ปุ่นหยิบยืมไป เพราะการสร้าง BL ญี่ปุ่นจะไม่มีการจิ้นหรือการแสดงความชิดใกล้นอกฉากกัน แต่เมื่อผู้ผลิตของญี่ปุ่นเห็นความสำเร็จของการจิ้นใน BL ไทย ทำให้ทดลองต่อยอดแฟนเซอร์วิส จิ้นนอกจอกันด้วย กันจึงกลายมาเป็นการศึกษาบทสนทนาข้ามวัฒนธรรมระหว่าง BL ไทย กับ BL ญี่ปุ่น
“อีกส่วนหนึ่งคือ การศึกษา BL ญี่ปุ่นที่นำมาดัดแปลงเป็น BL ไทย โดยนำมาเปรียบเทียบกันเช่น เรื่อง Cherry Magic และ My Love Mix-Up! ผลการศึกษาพบว่า ซีรีส์ต้นฉบับญี่ปุ่น ที่พูดถึงความรักระหว่างตัวละครสองคน ก็จบด้วยตัวละครคนสองคน แต่เมื่อไทยนำมารีเมกแล้ว กลายเป็นว่า ฉบับไทยมีฉากแต่งงาน มีฉาก Coming out แสดงให้เห็นว่า ฉบับไทยให้ความสำคัญเรื่อง LGBTQ+ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยอมรับทางสังคม หรือ ในแง่กฎหมาย ซึ่งมีส่วนในการผลักดันให้เกิดการรับรู้ และการยอมรับทางสังคมมากขึ้น
นอกจากนั้น เมื่อนำ BL ญี่ปุ่นมาทำเป็นฉบับไทยแล้ว ฝั่งไทยจะยังคงกลิ่นความเป็นญี่ปุ่นอยู่ เช่นสำนวนที่ชมว่าพระจันทร์คืนนี้สวยจัง ซึ่งเป็นคำใช้จีบกันของญี่ปุ่น หรือ ในเรื่องก็มีการไปร้านอาหารอิซากายะแบบญี่ปุ่น แต่ในทางกลับกันพอญี่ปุ่นนำวายต้นฉบับจากไทยไปทำเวอร์ชั่นญี่ปุ่น เช่น เรื่อง Love in the Air ปรากฏว่าไม่ค่อยมีประเด็นทางสังคมของ LGBTQ+ แบบที่ฉบับไทยนั้นมีอยู่ ทำให้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะมีการลดทอนทั้งในเชิงเนื้อหาและเชิงอุดมการณ์ จนสื่อโซเชียลญี่ปุ่นดราม่าค่อนข้างเดือดว่า เรื่องนี้ทำสู้ของไทยไม่ได้” ศ.ดร.นากาอิเกะระบุ