FEED Exclusive Interview 3 สมาชิก Street Funk Rollers วงดนตรี 3 ชิ้นแนว Vintage Rock ซึ่งก่อตั้งขึ้นในทศวรรษ 90 เจ้าของเพลงฮิตสุดไพเราะอย่าง ง่ายดาย, วาสนาน้อยๆ, เฝ้ารอ, และบ่ายวันนั้น นำทีมโดยฟรอนต์แมน-นักร้องนำ-นักแต่งเพลง-มือกีตาร์ของวง “โอ๊ด – อรรถพงศ์ บุญเสริมทรัพย์” ผู้ก่อตั้งวงที่หลายคนมองว่าเป็น “กีตาร์ฮีโร่ตัวจริง” คนท้ายๆ ของเมืองไทย มีมือเบสและมือกลองมากฝีมืออย่าง “นะ – ธนวิตร พงษ์เจริญ” และ“เอก – ชิตพันธุ์ อัตตนาถกุล” ซึ่งเป็นสมาชิกไลน์อัพปัจจุบันของวง ได้มาเล่าเรื่องราวทางดนตรีของ Street Funk Rollers ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวง และเบื้องหลังของบทเพลงในแต่ละอัลบั้มของพวกเขาอย่างละเอียดผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษนี้
ที่มาของชื่อวง Street Funk Rollers
โอ๊ด : จุดเริ่มต้น Street Funk Rollers เป็นแนว Hard Rock แบบ Old School Vintage คำว่า Old School มันค่อนข้างจะครอบคลุมยุคที่เป็นยุคเก่าทั้งหมด เพราะว่าพี่โอ๊ดโตมาจากรายการเพลงยุคนั้น ส่วนที่คนฟังอาจจะงงว่าเป็นเพลงแนวอะไรกันแน่น่าจะมาจากชื่อวง ก็ต้องบอกว่าชื่อวงเอามาจากวงที่พี่โอ๊ดชอบ 2-3 วงในยุคนั้น วงที่ชัดๆ เลยก็คือ Grand Funk Railroad ก็เอาชื่อกลางเขามา แล้วก็ Rollers มาจากบอยแบนด์ยุค 70 Bay City Rollers พี่โอ๊ดโตมากับโปสเตอร์ที่แปะฝาบ้าน พี่ๆ น้าๆ สมัยก่อนในครอบครัว ความเป็นขวัญใจวัยรุ่นของ Bay City Rollers ยุคนั้น เขาจะมีโปสเตอร์ของวงดนตรีวงนี้แปะฝาบ้านไว้ เก็เป็นควาามทรงจำวัยเด็ก เราก็เอามาเป็นนามสกุล ส่วน Street มาจากเพลงของ The Rolling Stones มันมีเพลงชื่อ Street Fighting Man ก็เลยเอาสามคำนี้มาเป็นชื่อวง ซึ่งหลักๆ แล้วเมนมันมาจากอยากเป็น Grand Funk Railroad เพราะชื่อเขามีสามคำในชื่อวง พี่โอ๊ดก็เลยอยากมีสามคำในชื่อวงบ้าง ฉะนั้น Street Funk Rollers เป็นวง Hard Rock ย้อนยุค ผมไม่ใช่วง Funk
นะ : ถ้าเกิดให้นิยาม Street Funk Rollers เป็นวงสามชิ้น ที่มาตาม Grand Funk Railroad เล่น Hard Rock หนักได้ แล้วก็มีความหลากหลาย
โอ๊ด : ก็คือวง Street Funk Rollers เป็น Hard Rock แต่ว่าความเป็น Hard Rock มันมีอะไรเล็กๆ น้อยๆ เข้ามา พวก 80 70 ใส่อยู่ในนั้น โดยที่ได้บรรยากาศความเป็นยุคใหม่เข้าไปด้วย เรื่องSound แล้วก็มีความป็น Heavy เข้าไปด้วย ในบางส่วนถ้าลองไปนั่งฟังดู และการที่ได้ทีมนี้มาอย่าง “นะ” จะมาจาก Rock แนว Contemporary กว่านี้เพราะเบสเขามาจาก Red Hot Chili Peppers มาจาก Rage Against Machine , Incubus ฉะนั้นวิธีเขาจะใหม่กว่าของพี่โอ๊ด แต่ “เอก” จะมาจากเมทัล ซึ่งเป็น Metal ยุค 80 90 พี่โอ๊ดก็ฟังแต่ว่าอัลบั้มชุดแรกของ Street Funk Rollers ไม่ได้มีอะไรแบบนั้นแต่เราชอบ เพราะฉะนั้นพอสองคนนี้มาอยู่ในวงตัวเราเราเป็น Old School เพลงขอ งStreet Funk Rollers ตั้งแต่ชุด 2 เป็นต้นมามันเลยค่อนข้างวาไรตี้ จะมีหลากหลายมากขึ้น สิ่งที่สมาชิกแต่ละคนนิยามไป มันเป็นนิยามของตัวพวกเขาเองเลย
นิยาม อัลบั้ม Street Funk Rollers (อัลบั้มที่ 1)
โอ๊ด : เคยคุยกับสมาชิกในวงในยุคนั้นนะ ว่าชุดแรกเราเรียกตัวเองว่าเป็น Neo 70 ซึ่งเราเป็นคนรุ่นใหม่ในเวลานั้น แต่ว่าเราเล่นเพลงย้อนยุค ซึ่งเพลงที่เราเล่น วัยรุ่นตอนนั้นไม่ค่อยมีใครเล่น ยุคนั้นทุกคนก็จะเล่น Nirvana ,Radiohead ,Soundgarden อะไรก็ว่าไป แต่เราโตมากับเสียงแบบนี้เราเป็นวัยรุ่นๆ เดียวกับเพื่อนๆ นะ เราเลยเรียกว่าเราเป็น Neo แล้วก็เป็น 70 ซึ่งเป็น 70 สมัยใหม่ซึ่งก็คงเรียกว่า Old School นั่นแหละครับคือชุดแรก
นิยาม อัลบั้ม Unidentified Funky Object (อัลบั้มที่ 2)
โอ๊ด : ชุดที่สองคนจะเรียกเล่นๆ ว่า UFO เพราะว่าชื่อเต็มยาวมาก ป๋าเต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) เป็นคนตั้ง ชุดที่สองมันเว้นระยะนานมากจากชุดแรก ประมาณ 5 ปี แล้วก็ตอนนั้นทีมหนึ่งตั้งแต่หมดเทอมกับร่องเสียงลำใย แล้วก็ไม่ได้มีใครไปต่อก็เหลือตัวพี่โอ๊ดอยู่คนเดียว แต่เรามีไอเดียที่จะทำต่อ เพราะว่าเราเรียนรู้จากอัลบั้มแรกมาแล้ว เราเรียนรู้จาก Feedbackเรียบร้อยแล้วว่ามันเป็นอย่างไร พี่โอ๊ดก็เลยเริ่มต้นสะสมไอเดียมาตั้งแต่ชุดแรก แล้วพอเราสะสมมาเรื่อยๆ ด้วยความที่เราไม่มีกรอบเวลา ไม่มีค่ายอะไรแล้ว เราก็พึ่งรู้ตัวว่าเราทำงานเป็นศิลปินมาก เป็น Artist จัด ก็คือค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ อะไรไม่ชอบก็ไม่ทำ ทำอะไรแล้วรู้สึกติดขัดก็วางแล้วไปเที่ยวไปทำนู่นทำนี่ จนกระทั่งเวลามันผ่านมาเกือบ 5 ปี สิ่งที่เราสะสมไว้มันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เราก็เลยเริ่มหาสมาชิก ในระหว่างที่ทำเพลงด้วยหาค่ายด้วย หาสมาชิกด้วยมาพร้อมกันตอนนั้นก็คือ Blacksheep ค่ายที่อยู่กับ Sony เริ่มต้นด้วยสองคน คนที่โทรมาชวนคนแรกคือป๋าเต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) ซึ่งเขาเป็นคนเริ่มต้น Blacksheep ไว้เหมือนกัน แล้วก็พี่เต็ดบอกว่าตอนนั้นมีพี่ชายที่เราสนิทอยู่แล้วก็คือพี่เบิร์ด กุลพงษ์ บุนนาค จากร่องเสียงลำใย มาเป็น MD ให้กับ Blacksheep ยุคแรก แล้วก็พี่เต็ด ก็จะดูฝ่ายโปรโมทประชาสัมพันธ์ เท่าที่ผมจำได้ ข้อมูลอาจจะตกหล่นเพราะว่านานมากแล้ว พี่เต็ดเป็นคนชวนเราก็เริ่มกลับมาอีกที มีความหวังแล้ว แต่อ้าวไม่มีวงเพราะว่าสมาชิกไปหมดแล้ว จากนั้นก็คือเริ่มต้นทำเพลงจริงจังลงรายละเอียดแล้วก็เริ่มต้นหาสมาชิกไปในตัว จนรวบรัดตัดความก็คือได้สองคนนี้มา
เอก : ต้องบอกว่าเป็นอัลบั้มแรกที่ผมได้ทำงานด้านดนตรี แต่เราก็ผ่านเวทีประกวดมาประมาณหนึ่ง จนมีรุ่นพี่แนะนำให้ผมรู้จักกับพี่โอ๊ด ก็เลยชวนมาคลุกคลี ไปมาหาสู่กันสักพัก แล้วก็มาเป็นอัลบั้มนี้ ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกที่ได้เข้าห้องอัด เป็นอัลบั้มแรกที่ลองเอาไอเดียมาใส่จากที่เราเล่นตามเขา ลองทำตามอะไรที่ในหัวเราอยากเล่นแบบนี้ โอเคมี Pattern มาอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรกับ Pattern นี้ ใส่ความเป็นตัวเราเข้าไปในอัลบั้มเป็นอะไรที่สดใหม่มาก ถ้าถามผมว่าตอนนี้ย้อนกลับไปฟังอัลบั้มนี้โอเคจะได้ความสดใหม่ แต่ก็แน่นอนมี Bug เพียบเลย ถ้าย้อนกลับไปฟัง นี่คือความรู้สึกของผมกับอัลบั้มนี้
นะ : สำหรับผม ผมก็เป็นเด็กคนหนึ่งเรียนจบมาแล้วพี่โอ๊ดชวนมาเล่นในวง แล้วก็มีส่วนร่วมในอัลบั้มนี้ แล้วก็เป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานในระดับ Professional ในห้องอัด มันเป็นประสบการณ์ที่จะจำไปอีกนาน แล้วก็ภูมิใจมากๆ ผมก็เอากลับมาฟังใหม่ เพลงของอัลบั้มนี้กลั่นมาอย่างดี ฟังได้ทั้งอัลบั้ม ฟังวนได้ด้วย แล้วก็ที่สำคัญคือสลับเพลงเร็วเพลงช้า ก็ต้องลองไปฟังดู
โอ๊ด : อย่างที่พี่โอ๊ดเล่าพอเราเรียนรู้ประสบการณ์จากอัลบั้มชุดแรกแล้ว แล้วเราก็ได้พาตัวเองเข้ามาสู่วงการดนตรีไทยเรียบร้อยแล้ว พอเราอยู่ในแวดวงเราเริ่มเห็น Color ที่มากไปน้อยไปจากอัลบั้มชุดแรก ชุดที่สองเราเลยหาทางว่าอย่างไรเพลงของเรามันถึงจะคมขึ้น หนึ่งคือตัวผมเองต้องทำให้เพลงมันสั้นลงจากอัลบั้มชุดแรก ถ้าใครตามอัลบั้มชุดแรกจะรู้ว่าไม่มีเพลงไหนต่ำกว่า 5 นาทีเลย ทุกเพลงเกิน 5 นาทีไปหมด ก็เลยต้องทำให้เพลงมันกระชับขึ้น และด้วยความสำเร็จจากง่ายดายในชุดแรก ผมก็รู้ว่ามันต้องมีเพลงที่ต้อนรับคนดูกลุ่มใหม่ๆ ด้วย ที่จะเข้ามาสู่อัลบั้มชุดใหม่ของเราให้ได้ ก็เลยเกิดเพลงเป็นสองโทนขึ้นมา โดยจะบอกว่าไม่ได้ตั้งใจก็ไม่เชิง แต่เราแต่งแบบนั้นไปแล้วคือเราตั้งไมค์ของเราไปว่าจะเป็นเพลงที่กระชับขึ้นจะเป็น Rock ของเรา จะมีเพลงที่ชวนคนฟังคนใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในอัลบั้มชุดนี้ มันก็เลยมีทั้งเพลงที่เป็น Hard Rock มีเพลงที่เป็น Old School แบบเพลงบนฟากฟ้า มีเพลงวาสนาน้อยๆ แต่เป็นเพลง Pop เข้ามาอยู่ในอัลบั้มชุดนี้ด้วยและส่วนตัวผมคิดว่าอัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จนะ แต่ในแง่ของความเป็นมหาชนหลายคนจะให้ชุดแรก ถ้าส่วนตัวผม ผมคิดว่าในแง่ของการเป็นที่ต้อนรับของคนวงกว้างชุด UFO ประสบความสำเร็จที่สุด
นิยามอัลบั้ม Mind ‘N’ Soul (อัลบั้มที่ 3)
โอ๊ด : Mind ‘N’ Soul เป็นช่วงที่ประสบการณ์วงเพิ่มขึ้นเรียบร้อยแล้ว กับทีมนี้ด้วยเพราะว่าหลังจากอัลบั้ม UFO เราก็มีการออกไปแสดงมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น แล้วก็เรียนรู้กันและกันมากขึ้น ว่าทางของเราแต่ละคนเป็นอย่างไร Mind ‘N’ Soul ผมคุยกับนะกับเอก ระหว่างที่ไปทัวร์ว่าเพลงชุดใหม่จะต้องเป็น Progressive Jazz สองคนนี้บอกมันเป็นยังไงวะ Progressive Jazz คือตอนนั้นผมก็เวอร์ผมก็พูดไปเรื่อย ด้วยความรู้สึกที่เราอยากพัฒนาตัวเองไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะว่าตอนนี้มันเหมือนกับว่าทุกอย่างมันถึงที่สุดของช่วงเวลานั้นที่เราได้ใช้ชีวิต หมายความว่า ได้มีโอกาส Create เพลงในแบบที่ชอบ ได้เล่นในที่ที่เราอยากเล่น พอเราจะทำชุดใหม่เราก็เลยอยากเอาประสบการณ์ในช่วงเวลานั้น แล้วก็ผลักตัวเองไปให้เคลียร์ขึ้นมาอีกเลเวลหนึ่ง ฉะนั้นเพลงใหม่ๆ มันเลยยังคงเป็นวาไรตี้เหมือนเดิม แต่ว่าอาจจะเพิ่มความเข้มของเพลง เพลงมันอาจจะดูถ้าใช้ภาษาง่ายๆ ม้ันจะดูดาร์กกว่าชุด UFO
นะ : สำหรับผมเรียกว่าเดือดครับ ใช้เวลากับเพลงกับการซักซ้อมมากเหมือนกัน เพราะว่ามีความซับซ้อนของเพลง มีความดุดันเยอะ
เอก : ผมเล่าประสบการณ์ครั้งหนึ่งให้ฟังดีกว่า คือมันมีเพลงอยู่เพลงหนึ่ง (เพลงอ่อนนอกแข็งใน) ซึ่งเป็นแทร็กต้นๆ ของอัลบั้มซึ่งเป็นเพลง Heavy พอสมควร ถ้ารู้จักเพลงเฝ้ารอ จากชุดที่แล้ว เพลงนี้เป็นความยากดับเบิ้ลขึ้นไป เป็นความรุนแรงดับเบิ้ลขึ้นไป แล้วมันมีอยู่งานหนึ่งที่ไปพบสื่อมวลชน ต้องแสดงสดบันทึกเทป ซึ่งเพลงนี้เล่นรอบเดียวก็ว่าเหนื่อยแล้ว บันทึกเทปวันนั้นเล่นไปสามรอบ
โอ๊ด : พออัดเทปรายการก็คือดีครับพี่ ขออีเทกๆ แต่นี่ (เอก) ควบสองกระเดื่อง นั่นคือความสุดของอัลบั้มชุดที่สาม คือทรงเพลงของเพลงแรก เพลงกระแสเปลี่ยน เป็นพลงก่อนเข้าไปสู่เพลงอ่อนนอกแข็งใน ซึ่งทรงเพลงในเวลานั้นที่พี่่บอกว่าเราขยับไปอีกขั้นหนึ่ง แต่ว่ามันดาร์คขึ้นเพราะว่าช่วงปีนั้น เป็นช่วงปีที่ Metal มันเฟื่องฟูมาก คือมันเฟื่องฟูไม่ใช่ในแง่ของวงดนตรีเยอะ วงดนตรีซับซ้อนแต่มันอยู่ในชาร์จเพลงด้วยในช่วงเวลานั้น เราเลยรู้สึกว่าเราอยากมีเพลงทรงแบบนี้ ซึ่งทรงเพลงเมทัลในยุคนั้นปลาย 90 ขึ้น 2000 มันจะเกริ่นด้วยเพลงนำมาก่อน มันจะมีเพลงโหมโรง แล้วเข้าเพลงหลัก ธีมหลักของเพลงนำ เราเลยอยากทำแบบนั้นบ้าง ก็เลยกลายเป็นกระแสเปลี่ยน แล้วก็อ่อนนอกแข็งในขึ้นมา
เอก : ผมเสริมให้อีกอย่างหนึ่ง คือวันนั้นก่อนที่จะไปบันทึกเทปจะเป็นพี่ต้น Dezember (ภัทร ชุมทอง) วันนั้นพอเราบันทึกเทปเสร็จก็เดินมาคุยกับพี่โอ๊ด ว่าพี่โอ๊ดเขาโกรธใครมา คือเพลงมันหนักขึ้น
โอ๊ด : ต้นเดินมาโหยพี่โกรธใครมา ตลกนะสมัยก่อน
นิยามอัลบั้ม IV (อัลบั้มที่ 4 )
โอ๊ด : โฟร์เนี่ยเป็นความรู้สึกส่วนตัวผมเอง ด้วยความที่ผมวางทิศทางของอัลบั้มทุกชุดของ Street Funk Rollers อยู่แล้ว ผมอยากกลับไปหาชุดแรก อยากกลับไปสู่บรรยากาศที่มันไม่ตึงเครียดเกินไป แต่มันยังโชว์ความเป็น Street Funk Rollers Skill ของพวกเราอยู่ ก็เลยตกลงว่าอยากทำให้มันเป็น Old School ของคนที่มีวัยวุฒิจากชุดแรกมาแล้ว เพราะว่าชุดแรกผมยัง 20 ต้นๆ อยู่เลย แต่ว่าพอมาเป็นชุดโฟร์ตอนนั้นคือเรามีประสบการณ์ในดนตรีมาเรียบร้อยแล้ว เหมือน Reunion กับเพื่อนฝูงในสมัยเรียนว่าเราอยากตีความชุดแรก แบบที่เราอายุมากขึ้น มันก็เลยกลายเป็นอัลบั้มชุดโฟร์แล้วก็ที่มันชื่อ 4 เพราะว่า base on จากสิ่งที่ผมโตมาก็คือถ้าสังเกตดีๆ ถ้าเป็นนักฟังเพลง คนฟังเพลง Hard Rock ยุค 70 จะรู้ว่าทุกๆ อัลบั้มที่ 4 ของวงที่ตัวเองชอบจะเป็นสุดยอดอัลบั้ม มีหลายวงที่ไม่ได้ใช้ชื่ออัลบั้มด้วยซ้ำ เขาใช้ชื่อ 4 เลย ซึ่งเราอยากได้ความขลังแบบนั้นบ้างก็เลยตั้งชื่อชุดว่า โฟร์
ทำไม Street Funk Rollers ไม่ออกอัลบั้มที่ 5
โอ๊ด : หนึ่งอิ่มตัวสองคือมันเป็น Turning Point ของกระแสโลก กระแสเพลง โซเชียลเน็ตเวิร์กกำลังเริ่มต้นในช่วงชุดโฟร์มันมา คนไม่ได้สนใจจะซื้อเทปซีดีและไวนิลแล้ว ยุคนั้นไวนิลยังไม่ค่อยมีคนเล่นด้วยซ้ำไป พอทุกอย่างมันเทิร์น รวมถึงวิธีการนำเสนอวงดนตรีมันก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นกระแสปัจจุบันมากขึ้นอย่างที่เราเห็นกันอยู่ แต่เรายังเป็นแบบเดิมอยู่ เราไม่สามารถจะฝึกวิธีใหม่ๆ จริงๆ จะทำก็คงได้แต่ก็คงเสียเวลาพวกเรา เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ ก็เลยไม่ได้ออกอะไรใหม่ที่เป็นชิ้นเป็นอัน จะมีแค่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จะเป็นซิงเกิลบ้าง เป็นงานเดี่ยวบ้าง ไซด์โปรเจกต์ของแต่ละคนบ้างประมาณนั้น เลยไม่ได้ทำอะไรที่เป็นเรื่องของ Street Funk Rollers ในขณะที่วงยังไม่แตก วงยังอยู่
สเน่ห์ของการเล่นสดกับเครื่องดนตรี 3 ชิ้น
โอ๊ด : ถ้าถามพี่โอ๊ดเอง พี่โอ๊ดว่าถ้าฟังดีๆ เพลงของ Street Funk Rollers ทุกเพลงไม่ว่าเรียบเรียงซับซ้อนแค่ไหนในสตูดิโออัลบั้ม มันสามารถนำมาเล่นสามชิ้นได้ อย่างเพลงบนฟากฟ้าที่มีเครื่องเป่าเต็ม มี Percussionsมีอะไรเต็ม แต่เราก็เอามาเล่นได้ และแฟนเพลงก็ติดตามเสมอมา ในความหมายที่พี่โอ๊ดอธิบายก็คือ พี่โอ๊ดจะเผื่อการเรียบเรียงเสียงประสานจากในสตูดิโออัลบั้มให้มันสามารถ เล่นสามคนได้ และถ้าสังเกตวิธีการเรียบเรียงดนตรีของพี่โอ๊ดดีๆ พี่โอ๊ดจะมีท่อนเกริ่นนำก่อนที่จะเปลี่ยนท่อนเสมอ อย่างเช่นเพลงโอลาลาลา เพลงที่เราเล่นแทบทุกโชว์ มันมีท่อนหลัก แต่พอจะเข้าท่อนโซโล่ที่ต้องเล่นสามชิ้น และไม่มีคอร์ดรองรับ พี่โอ๊ดจะเปลี่ยน Pattern ไปเลย หรือเปลี่ยนวิธีคิดลิฟต์อะไร เพื่อที่จะเตรียมหูคนฟังให้ได้ยินท่อนโซโล่ที่เล่นสามคน เราเตรียมตัวไว้อยู่แล้วว่าเวลาเราเล่นสดเราจะประมาณนี้นะ ซึ่งก็เลยพอจะเอาอยู่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
เอก : ในพาร์ทกลองโดยปกติสตูดิโออัลบั้มก็อย่างหนึ่ง แต่เวลาเล่นสดผมจะฟังทั้งหมดเลยว่าใครจะเล่นอะไรพี่นะจะเล่นอะไร ใครเล่นโดดเด่นจากในสตูลูกเล่นอะไร บางทีเราก็จะบอกว่าเล่นด้วยสิ เช่นอยู่ๆ พี่นะเล่นเบสขึ้นมา ผมก็จะหาลูกอะไรต่างๆ เสริมเข้าไป กลายเป็นแบบว่าเหมือนแกมเคสชั่นไปในตัวอย่างนั้นมากกว่า
นะ : เอาจริงๆ ตั้งแต่เริ่มก่อนเข้า Street Funk Rollers พี่โอ๊ดจะส่งวงอย่าง Jimi Hendrix วงที่เป็นต้นแบบทั้งหลาย ที่เขาแจมกันหนักๆ มาก่อน เราก็เลยซึมซับกับเรื่องพวกนี้มา ด้วยความที่พาร์ทเล่นสามชิ้น เราเป็นมือเบสต้องเป็นกำแพงข้างหลังไว้ให้ คือซ้อมกับวงมากๆ และซ้อมกับตัวเองมากๆ เหมือนกัน เราต้องทำให้เพลงแน่น แล้วก็ดี มีจังหวะจะโคนที่ดี แล้วก็เล่นร่วมกันกับพี่เอก พี่โอ๊ดได้ ซึ่งก็ใช้เวลาเหมือนกัน ในการฝึกตรงนี้
โอ๊ด : ประเด็นที่นะพูดน่าสนใจเพราะว่าอยากรู้ว่า Street Funk Rollers เป็นอย่างไร แล้วทำไมเราถึงเล่นแบบนี้ ไปฟังต้นแบบพวกเรา ไปฟัง Jimi Hendrix ไปฟัง Grand Funk Railroad ไปฟังวงสามชิ้นยุคนั้น ยุค Hard Rock ยุค 70 จะรู้วิธีที่เรา Apply มาใช้เพราะว่าวงดนตรีเหล่านั้น หรือวงดนตรีที่มีนักร้อง เอาวง 4 คนที่มีนักร้องนำยืนตรงกลาง แต่เขาก็เล่นสามชิ้นอยู่ดี เวลาเขาเล่นสดเขาก็ไม่เหมือนสตูดิโออัลบั้ม เขาก็จะมีวิธีมี Gimmick ของเขาที่ท่อนแบบนี้ในสตูมันมีเครื่องสายแต่เวลาเขาเล่นสดเขาเล่นอย่างไรให้ 3 ชิ้นให้ได้ เราก็เอาวิธีนั้นมา มันเป็นวิธีแนวทางเดียวกันกับที่ Street Funk Rollers เป็น
เรื่องราวในความทรงจำตลอด 27 ปีที่ผ่านมา ของ Street Funk Rollers
โอ๊ด : ก็เป็นเรื่องตลกมากกว่าส่วนแรกคือการออดิชั่นนักดนตรีเข้ามาในวงยุคแรกเลย พี่โอ๊ดจะไปติดป้ายประกาศ เมื่อก่อนจะไม่มีโซเชียลมีเดียต้องไปติดป้ายประกาศตามร้านเทปบ้าง พันธุ์ทิพย์บ้าง แปะตามร้านว่าเราต้องการนักดนตรีประมาณนี้นะ ต้องปริ้นต์กระดาษแล้วไปแปะตามร้านเทป ตามร้านอะไรต่างๆ ห้องซ้อมดนตรี แต่ปรากฏว่ามันไม่มีใครมาออดิชั่นกับเราเลย ด้วยความที่ชื่อเพลงกับชื่อวงเขาไม่รู้จักเลย แล้วต้องเล่นเพลงแนวนี้ได้ เล่นเพลงของวงนี้ได้ บางคนโทรมาถาม พี่ผมหาฟังเพลงนี้ได้จากที่ไหน อันนั้นคืออันแรกที่ประทับใจ พอเป็นวงแล้วไปเล่นบางที่ที่เราประทับใจยกตัวอย่างเช่นทีมโปรโมทของค่ายเขาก็อยากให้วงเป็นที่รู้จักเยอะสุด เขาก็ส่งโชว์ไปทุกที่ในประเทศไทยที่คนจะจ้างได้เลย ทีนี้มันมีอยู่ที่หนึ่งเป็นดิสโก้เธค นึกถึงบรรยากาศดิสโก้เธคได้ไหม สมัยก่อนที่คนมาเต้นกัน ไม่ได้มาดูเล่นดนตรีสดหรอก เราก็เตรียมตัวจะไปโชว์ ดีเจก็บอกว่าเดี๋ยวช่วงต่อไปพบกับวงดนตรีน้องใหม่ Street Funk Rollers พวกนั้นเขาก็เต้นกันอยู่ ไม่รู้มันฟังหรือเปล่า มันก็เต้นๆ พอเราเตรียมเครื่องดนตรีเสร็จแล้ว เราอยู่บนเสตจแล้วเตรียมโชว์ ดีเจก็ดันเฟเดอร์ลงบอกพบกับ Street Funk Rollers พอเราเริ่มบรรเลง ทุกคนที่อยู่บนฟลอร์ที่กำลังเต้นมันๆ หยุดนิ่งๆ แล้วก็ยืนมองเรา เราก็ซัดกระหน่ำเราก็พยายามทุกวิถีทาง เขาก็ยืนนิ่งๆ มองเรา เหมือนหุ่นพิพิธภัณฑ์จีน เหมือนหุ่นยืนนิ่งๆ แล้วก็ดูเราเล่น จนผ่านไปครึ่งชั่วโมง พอเราบอกพบกันใหม่โอกาสหน้าสวัสดีครับ ดีเจขึ้นมาเขาเต้นกันต่อ เราก็โอ้โฮ นี่กูมาทำร้ายพวกมึงใช่ไหมเนี่ย ซึ่งจริงๆ เราอยากเล่นมากกว่าครึ่งชั่วโมง แต่เราไม่ไหวแล้วเพราะปฏิกริยาคนดูเขาแข็งมาก อันนี้ก็ประทับใจ ตลกด้วย แต่ตอนนั้นเครียดนะ พอผ่านไปหลายปีก็มานั่งขำกับเพื่อนๆ ว่าตลกดีว่ะสมัยนั้น
นะ : นะเอาเป็นประสบการณ์เรื่องการทัวร์ดีกว่า คือตั้งแต่โตขึ้นมาจนถึงตอนที่เข้าวง Street Funk Rollers แล้วก็โปรโมทอัลบั้มก็ได้นั่งรถตู้กันไปเป็นเดือน มันจะล่องไปตามคลื่นวิทยุ เขาก็จะวางแผนว่าให้เราเข้าคลื่นไหน เข้าไปคุยพอเสร็จแล้วถึงเวลาก็ไปเล่น ตามจังหวัดต่างๆ ก็จะมีคนที่เขาตามมาจากคลื่นวิทยุตามมาดูด้วยก็รู้สึกประทับใจ แล้วก็ชื่นใจ จนทุกวันนี้เราเล่นก็จะมีแฟนเพลงเก่าๆ ที่เขายังรักเราอยู่ก็ยังตามไปดู ผมประทับใจกับเรื่องอย่างนี้จริงๆ
เอก : จำที่พี่โอ๊ดบอกว่าเพลงของ Street Funk Rollers มันจะมีเครื่องเป่า แล้วเราก็ Adapt มาให้เล่นสามคนได้ ของผมจะยิ่งกว่านั้นเพราะพาร์ทกลองทำไว้แบบไหนเราก็เล่นไป แต่มีอยู่ทัวร์หนึ่งจำได้ว่าไปเล่นที่เชียงใหม่ ร้านๆ หนึ่ง เราไปถึงช่วงบ่ายๆ ไป Soundcheck พอไปถึงเราก็ไม่ได้มีต้นทุนอะไรมาก ไม่ได้มีกลองเซ็ทใหญ่อะไรมาเป็นทัวร์ตามสไตล์อินดี้ ไม่ได้ยกกลองมา เราก็แค่มีสแนร์ กระเดื่อง พอไปถึงร้าน ร้านส่วนใหญ่เขาจะมีให้ในระดับหนึ่ง แต่อันนี้ผิดคาดคือเขาจะมีตัวถังที่เหยียบให้หนึ่งอัน แล้วก็มีควอดทอมหนึ่งอัน แล้วก็มีขาตั้งให้อันหนึ่งมีแค่นั้น แล้วพอผมไปตั้งเสร็จ ผมไม่มีควอดทอมอะไรข้างหน้าเลย มีแต่ข้างๆ แล้ว Street Funk Rollers ก็คือส่งยับ เราก็บอกพี่เอาไงดีวะก็ต้องไปอย่างนั้น เปลี่ยนลูกส่งทุกอย่างเปลี่ยนหมดเลย ให้มันอยู่แค่สองใบนี้ สามใบกับกระเดื่องแค่นั้นให้ได้ ด้วยความเป็นของเรา เราไม่ได้มีเงินร่ำรวยอะไร เราไปทัวร์ เราก็ต้องไปอย่างนี้ให้ได้ มันเป็นอะไรที่แบบจำ
โอ๊ด : อันนี้ผมตลกเพราะว่าเวลาเราโทรหาที่ร้านถามมีอะไรบ้าง บอกมีครบค่ะ มีกลองชุด มีแอมป์ มีอย่างที่พี่ระบุไว้เลย แต่ว่าแต่ละที่ที่มันระทึก เพราะเราไม่รู้ว่ากลองชุดที่เขาบอกมีค่ะมันมีอะไรบ้าง อย่างที่เอกเล่าให้ฟังเมื่อกี้ตลกดี
แนะนำเพลงของ Street Funk Rollers
โอ๊ด : พี่โอ๊ดเลือกมาอย่างละชุดแล้วกัน 1 เพลง ใน 1 ชุดนั้น อัลบั้มชุดแรกที่คนคุ้นเคยก็ง่ายดายอยู่แล้ว ถ้าพี่โอ๊ดเลือกพี่โอ๊ดจะเลือกเพลงลมหายใจแห่งดอกไม้ ถ้าเป็นเทปก็คือพลงแรกหน้าบี ลมหายใจแห่งดอกไม้ ในยุคที่ผมอายุ 20 ต้นๆ เนี่ย พี่โอ๊ดรู้สึกว่ามันคือคอนเซ็ปต์ของอัลบั้มชุดนั้น ลมหายใจของดอกไม้เป็นเพลง Hard Rock Medium อาจจะไม่ใช่เพลงเร็ว แต่เป็น Hard Rock แบบ 70 ชัดเจน แบบ Old School ชัดเจน ก็คือจะมีเสียงออร์แกน มีเสียงกีตาร์ที่ไม่ได้แตกสนั่นมาก แล้วก็ไม่ได้เล่นพาวเวอร์คอร์ดอะไรเยอะแยะ แต่ว่าแล้วก็มีเมโลดี้เพราะๆ มันเป็นช่วงเวลาที่ตัวผมกับเพื่อนๆ ในวงยุคนั้นเกิดขึ้นมา แล้วก็มันเป็นเหมือนสรุปภาพรวมของยุคแรกของเรา
ชุดสองพี่โอ๊ดแนะนำเพลงสุดท้ายคือเพลงเรือเหาะ ตอนนั้นเรามาอยู่ Blacksheep เรียบร้อยแล้ว เรามีเดโม่เพลงอื่นๆ มาแล้ว แต่ว่าเรือเหาะมันขึ้นมาแค่กีตาร์โปร่ง ในหัวพี่โอ๊ดมันยังไม่มีเนื้อเพลง ยังไม่มีเมโลดี้อะไรเลย แต่ว่าท่อนกีตาร์มันมาแล้ว มันเป็นความคาราวะ Led Zeppelin ที่พี่โอ๊ดชอบมาก ชอบแบบสุดๆ พอเราเอามาแล้วก็เริ่มต้นทำเรื่อยๆ พอไอเดียมันมามันก็ไปของมันเรื่อยๆ เพลงมันเลยเป็นทรงเดียวกับยุค 70 แล้วก็เป็น 70 ที่ไม่เหมือนอัลบั้มชุดแรกของ Street Funk Rollers มันเป็นคัลเลอร์ที่เรามีประสบการณ์ถูกผิดจากชุดแรกแล้ว เราเลยเอามาเรียบเรียงให้มันกระชับขึ้น และเราได้นักดนตรีที่ดีที่มารวมอยู่ในวงเราก็เลยมีโอกาสที่เราได้ทำคัลเลอร์แบบนี้
ชุดที่สามเป็นของเธอเสมอ ที่เลือกเพลงนี้เพราะว่าเป็นคนชอบมือกีตาร์ที่หลากหลายมาก และหนึ่งในคนที่ชอบคือ Eddie Van Halen ซึ่งไอ้ความที่เราเข้าใจว่าตั้งแต่วัยรุ่นเลย คือเราชอบเขาแต่คงเล่นไม่ได้ เพราะว่าหนึ่งเราไม่ใช่แนวนั้น และเราไม่ใช่คน Tapping โดยธรรมชาติ แต่พอเราได้ฟังโดยละเอียดๆ เราก็เฮ้ย Eddie Van Halen เขาไม่ได้มีแค่สองอย่างนี้นี่หว่า โครงสร้างของลิฟต์กีตาร์ โครงสร้างของเพลง วิธีการทำอย่างไรให้เพลงสามคอร์ด Rock ‘n’ roll มันมีคัลเลอร์เยอะขนาดนั้นก็เลยชอบ ทีนี้ชอบวิธีคิดของ Eddie Van Halen เราก็เอาวิธีนั้นมาใช้กับเพลงของเราบ้าง เป็นของเธอเสมอคือภาพสะท้อนความชอบ Eddie Van Halen ของพี่โอ๊ด
ชุดที่ 4 มีให้แนะนำเยอะมาก จริงๆ แนะนำให้ฟังทั้งอัลบั้ม เพราะว่าคนไม่ค่อยรู้จัก แต่ถ้าจะแนะนำจริงๆ ก็คงเป็นเพลงทางลัด เนื้อหามันพูดเรื่องคนยุคปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่าคนยุคปัจจุบันนี้มันจะเป็นอย่างไร แต่ว่าพอมาฟังแล้วมันสะท้อนยุคสมัยนั่นแปลว่าผมรู้สึกว่าบรรยากาศแบบนี้มันมีมาตั้งแต่สมัยนานมาแล้ว ก็คือคนหลายคนมองภาพความสำเร็จของคนอื่นแล้วอยากเป็นเลย แต่เขาไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคนคนนั้นกว่าจะสำเร็จ และมาออกสื่อว่าเขาสำเร็จมันหกล้มมากี่ครั้ง หน้ามันไถดินมากี่ที มันเจ๊งบ๊งมากี่ทีเขาไม่รู้ เขารู้ว่าภาพสำเร็จมันเป็นอย่างนั้นแล้วจะเอาเลย พอไม่เรียนรู้ด้วยระยะเวลายาวนาน มันก็เหลืออย่างเดียวคือ Shortcut ทำอย่างไรให้ดิฉันเป็นอย่างนั้นได้ ทำอย่างไรให้ผมเป็นอย่างนี้ได้ นั่นคือเนื้อหาของเพลงทางลัด อยากให้ลองฟัง
นะ : ของผมโอลาลาลา ในอัลบั้ม UFO เอาจริงๆ เพลงนี้ผมได้อัดเบสด้วย น่าจะเป็นเพลงแรกที่ผมได้อัดได้ทำงานสตูดิโอ แล้วก็จริงๆ อันนี้ประทับใจเลยคือเพลงนี้ พี่โอ๊ด ยังไม่มีเนื้อเพลงนี้จนถึงวันที่มานัดกันอยู่หน้าห้องอัดร้อง พี่โอ๊ดเขียนภายในเวลาแค่แป๊ปเดียว แล้วก็เข้าไปอัดเลย
โอ๊ด : มันได้แรงบันดาลใจใน 10 นาทีนั้นด้วยนะ คือเป็นคนเขียนเพลงชอบท้าทายตัวเองแต่งเป็นปรัชญาแต่งเป็นข้อคิดคำคมแต่ 10 นาทีก่อนเข้าห้องอัด เวลาก็เดิน เงินก็เดินไปตามเวลาด้วย ทำไงดีวะ มันเลยมีท่อนที่บอกว่าลึกเกินไปก็ไม่มีใครเข้าใจ ล้ำเกินไปก็ไม่เข้าที ซึ่งก็ล้อเลียนตัวเองกลับมาอีกที มึงชอบคิดอะไรปรัชญาใช่ไหม คราวนี้มึงไม่ต้องคิดเยอะแล้ว คิด 10 นาทีแล้วไปเข้าห้องอัดให้ได้ก็พอ ก็เลยกลายเป็นโอลาลาลาขึ้นมา
เอก : ก็แน่นอนที่พี่โอ๊ดเกริ่นมาแล้ว จริงๆ เป็นเพลงโปรดของผมเลย คือเพลงเรือเหาะ มันมีเหตุการณ์อะไรหลายๆ อย่าง ที่หลายๆ คนไม่รู้เยอะ หนึ่งเป็นเพลงแรกที่ผมอัด สองคือตอนที่อัดผมแทบไม่มีอะไรเลยที่เป็นของตัวเอง มีกระเดื่องอยู่มั้งเป็นรุ่นเก่าแล้ว ทีนี้ไปถึงโชคดีมากที่ห้องอัดมีสะเนร์ของเชษฐ์ สไมล์บัฟฟาโล่อยู่ที่ห้อง เราก็ยืมใช้เลยแล้วเสียงก็เพราะมาก แต่ก็จะเป็นซาวด์แบบ Heavy เก่าๆ มันจะไม่เหมือนรุ่นใหม่นี่เรื่องหนึ่ง เรื่องที่สองก็คือมีเสียงผู้หญิงอยู่คนหนึ่งในเพลงนั้น อยู่ช่วงท้ายของเพลง ซึ่งผู้หญิงคนนี้ชื่อคุณก้อย ด้วยที่ว่าพี่โอ๊ดอยากได้เสียงผู้หญิงมา Adlib ให้ตอนท้าย เลยเรียกก้อยมาช่วย Adlib ท่อนนี้
โอ๊ด : อย่างที่ผมเล่าตอนแรกว่าผมชอบเรือเหาะ เหมือนกันที่เอกเล่าแต่แล้วก็เพิ่งจำได้ในมุมมของเอกว่านั่นคือสะแนร์ของเชษฐ์ คือสะแนร์ของพี่เชษฐ์ใช้อยู่ 2 เพลง เพลงนี้กับเพลงไม่มีจุดหมาย ไม่มีจุดหมายก็ชอบเนื้อเพลงเหมือนกัน ค่าของคนอยู่ที่ผลของเงิน จิตวิญญาณมีไว้วางขาย คมจริงๆ ส่วนท้ายเพลงเรือเหาะมันจะมีท่อนที่ผู้หญิงร้อง Adlib ซึ่งเมื่อกี้เอกเล่าให้ฟังแล้วว่าคือก้อย ด้วยความที่ท่อนแรกของเพลงมันเป็น Led Zeppelinซึ่งเราชอบ แต่ด้วยความที่เราโตมาจากยุค 70 ผมก็ชอบ Pink Floyd ด้วย ทีนี้จะทำเพลงที่เป็น Pink Floyd อีกมันก็ยาวเกินอัลบั้มนี้ไปแล้ว ผมเลยทำอย่างไรก็ได้ให้ Pink Floyd มันมาอยู่ใยนเพลงเรือเหาะให้ได้ พอเราได้คนเก่งในการ Adlib มาแล้ว ผมเลยส่งโจทย์นี้ให้ก้อยคือ ผมส่งเพลง The Great Gig In The Sky ของ Pink Floyd จาก The Dark Side Of The Moon ให้ก้อยฟัง บอกก้อยครับร้องแบบนี้ มารู้ทีหลังก้อยเล่าให้ฟังว่าพี่โอ๊ด อันนี้นะแม่งโคตรยาก ยากโคตรๆ แล้วตอนนั้นเพิ่งรู้จักกัน แต่เขาก็ทำได้ ถ้าใครกลับไปฟังเพลงเรือเหาะก็จะได้ยิน สิ่งที่ก้อยตอบโจทย์ สิ่งที่ผมให้โจทย์ไว้ ซึ่งเขาทำแบบนั้นเลย มันเจ๋งมาก เรือเหาะ ลองฟังดู
Street Funk Rollers ยังยืนหยัดในวงการเพลงไทย
โอ๊ด : วงเราไม่ได้แตก แยกย้ายเพราะว่าหนึ่งคือวงการเพลงสำหรับเรามันพ้นไปแล้ว ช่วงนั้นคือช่วงเปลี่ยน สองคือโซเชียลมันมาแล้วการซื้อขายมันจะไม่เหมือนกัน มันแตกต่างไป วิทยุ ทีวี เริ่มมีบทบาทน้อยกว่าโซเชียลของแต่ละคน การฟังเพลงมันเลยเปลี่ยนไป พวกเราเองยังมีโอกาสได้เล่น ยังมีโอกาสได้ทำเพลงใหม่เป็นชิ้นๆ แม้ไม่ได้ทำอัลบั้มตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ว่าก็มีตั้งเป้าเหมือนกันว่าอยากทำอัลบั้ม แต่ยังไม่สบโอกาส เราก็เลยอยู่ของเราแบบนี้แต่ละคนก็มีโปรเจกส่วนตัว พี่โอ๊ดก็ทำงานเดี่ยวของพี่โอ๊ด มีสอน มีอะไรก็ว่ากันไปเต่ละคน ก็ไม่ได้หันมองดูาฬิกา เวลามันผ่านไปเรื่อยๆ อย่างไว มันก็อเมซิ่งเมื่อกี้คุยกันต้นชั่วโมง ก่อนถ่ายคลิปก็คือ Street Funk Rollers อยู่บนยูทูบเยอะมาก เยอะแบบว่าไม่ใช่แค่ช่องทางการ Vevo ก็มี Sony ก็มา ช่องของพี่โอ๊ดก็มี ใช่แล้วคนอื่นๆ มากันเต็มไปหมด มันเลยทำให้เราไม่ได้หายไปไหน ในความรู้สึกของพี่โอ๊ดมันยังอยู่ แล้วเราก็มาสู่โลกใหม่ของวงการเพลงก็คือโซเชียลเหมือนกัน
กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ Street Funk Rollers ฝึกหนักขนาดไหน
โอ๊ด : ต้องใช้คำว่าฝึกหนักมาก นึกถึงตอนพี่โอ๊ดวัยรุ่นแล้วก็ตอนทำอัลบั้มชุดแรก พี่โอ๊ดซ้อม 5 วันต่อสัปดาห์ มันอาจจะไม่ใช่จันทร์ถึงศุกร์นะ แต่ว่าในสัปดาห์นั้นต้อง 5 วัน เพราะว่าหนึ่งเพลงของเราไม่ง่ายในการเล่นสามคน แล้วสองคือถ้าเราไม่ทำให้มันอยู่ตัว แม้จะเป็นวัยรุ่นก็จริงแต่ถ้าไม่อยู่ตัวมันพลาดได้เสมอ พี่โอ๊ดเลยเคี่ยวตัวเองกับการซ้อมกับวงค่อนข้างหนักหน่วง ในส่วนการซ้อมกีตาร์พี่โอ๊ดทำบ้าง แต่ว่าไม่ได้หนักเท่าเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนที่เป็นกีตาร์ฮีโร่นะ แต่ว่าพี่เอาเวลามาใช้กับการซ้อมวงค่อนข้างเยอะ เพราะว่าเวลาอยู่กับวงมันจะทำให้เราได้ยินว่าเราควรจะโผล่ตรงไหนเราควรจะผ่อนตรงไหน เราควรจะ Adapt ตรงไหน และในวงจะไปในทิศทางไหนมันจะเห็นภาพนั้นชัดเจนก็เลยใช้เวลาในการฝึกฝนหนักหน่วงในช่วงวัยรุ่น ในช่วงเริ่มต้นวง พอหลังจากนั้นมันเป็นประโยชน์กับเรา ในเรื่องของพอเราเข้ามาอยู่ในวงการดนตรีเพลงไทยแล้ว สิ่งที่เราทำคือเสต็ปถัดมาของเราคือนักดนตรีห้องอัด เราสามารถนำไปใช้ในการบันทึกเสียงช่วงที่เราทำงานห้องัดสมัยก่อนได้
นะ : เริ่มแรกเหมือนเข้าถ้ำคือหายตัวไปจากสังคมหายไปจากเพื่อน 3-4 ปี หายไปเลยโดยที่เราไม่ได้สนใจเรื่องใดๆ ทั้งสิ้นเลย จากเล่นเบสฝึกเบสวันละ 5 ชั่วโมง คือเล่นจนวันหนึ่งเราออกมาเหมือนออกมาจากถ้ำ เราก็โอ้โฮเราไปได้ เรามาได้ถึงขนาดนี้เลยนะ ประมาณนั้นเลย ก็ฝึกมาหนักจนมาวันนี้ก็ยังฝึกอยู่ก็ยังเล่นทุกวันๆ อยู่เหมือนเดิม
เอก : จะเรียกว่าหนักไหม ไม่เชิงหนักมาก เพราะว่าผมจะเน้นแกะเพลงยากๆ อาจจะไม่เหมือนยุคใหม่ที่เด็กมีแบบฝึกหัดอะไรเยอะแยะ สมัยนู้นหากคุณไม่ได้เรียนมันก็แทบจะไม่มีตำรา หรือวิดีโออะไรให้คุณได้ฝึกเลยในยุคนั้น มีทางเดียวคือคุณต้องไปหาเพลงฟังแล้วมาแกะ แกะลูกนั้นลูกนี้ บางทีแกะถูกบ้างผิดบ้างก็แล้วแต่ อย่างเช่นถ้าได้โน๊ตกลอง ของอัลบั้มใดอัลบั้มหนึ่งมานี่คือตำราทอง เพราะยุคนั้นคือคุณไม่รู้จะไปหาจากไหนเพื่อเอามาฝึกยิ่งเป็นสาย Metal ยิ่งยากเลย เดี๋ยวนี้คุณคลิกก็มาแล้วแป๊ปเดียว มีคนเล่นให้ดู มีคน Cover ให้ดู สามารถทำอะไรได้หมด เป็นการพัฒนาที่ดี
อาทิตย์ที่ 8 ธันวานี้ พบกับโชว์เต็มๆ จาก Street Funk Rollers
โอ๊ด : แฟนดั้งเดิมหลายคนก็เริ่มรู้แล้ว พี่โอ๊ดเริ่มส่งข่าวในเพจแล้ว ก็มาเจอกันวันที่ 8 ธันวาคม นี้ เรียกว่าเป็นโชว์เต็มโชว์หนึ่งโชว์ของ Street Funk Rollers ในรอบปีนี้เพราะว่าเราไม่ได้เจอแฟนเพลงดั้งเดิมนานแล้ว แล้วเขาก็อยากดูเราด้วย และถ้าทันเพลงใหม่จะได้ฟังในโชว์นี้ มาดู Street Funk Rollers ในช่วงวัยแบบนี้ เล่นเพลงในยุคที่เรารุ่งเรืองมาก็มาดูกัน สำหรับแฟนเพลงใหม่ที่พึ่งเคยติดตาม หรือเพิ่งเคยได้ชื่อวงเราก็สวัสดีครับ แฟนเพลงใหม่ๆ ใครแสวงหาเพลงแนว Old School หรือว่าอยากดูคนเก่าๆ เขาทำงานกันเป็นอย่างไรในแวดวงร็อกหรือว่าสมัยนั้นเขาทำอย่างไรก็มาดูได้ จะนำเสนอให้ดู ติดตามกันนะครับ
นะ : บรรยากาศดีๆ ที่มิวเซียมสยาม วงเราก็เล่นเพลงร็อก แล้วก็เล่นเพลงที่เพราะๆ ให้ฟัง อยากจะให้ทั้งแฟนเพลงใหม่แฟนเพลงเก่าแวะเข้ามาเจอกันนะครับ
เอก : มาดื่มด่ำแล้วก็มาระลึกความหลังกับพวกเรากันนะครับ Street Funk Rollers เจอกันวันที่ 8 ธันวาคมนี้ครับ
มารอลุ้นไปด้วยกันว่า ตั้งแต่อัลบั้มแรก มาจนถึงอัลบั้ม IV เราจะได้ฟังเพลงไหนกันบ้าง พบกับ Street Funk Rollers กับโชว์แบบจัดเต็มในรอบปีนี้ ที่งาน FEED MUSIC 2024 : GREEN FEST งานดนตรีในสวนท่ามกลางลมหนาว 🍃ได้เลย
🗓️ พบกับ Street Funk Rollers วันที่ 8 ธ.ค.67 เวลา 18.00 – 19.00 น.
🎪 มิวเซียมสยาม
🎉 เข้าร่วมงานฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย