ปลายเดือนพฤศจิกายน กรุงเทพฯ คงเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว แม้อากาศอาจไม่ได้หนาวมาก แต่ปริมาณฝนน่าจะซาลงหรือจางหายไปแล้ว
ในบรรยากาศแบบนั้น จึงอยากเชิญชวนทุกท่านไปร่วมกิจกรรมดนตรีในสวนยามเย็นถึงค่ำ ที่สนามหญ้าข้างมิวเซียมสยาม (MRT สนามไชย) ภายในงาน FEED RETRO Music •Talk • Food • Book • Trip #90ไม่นานมานี้ ระหว่างวันศุกร์ที่ 24 จนถึงวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน ณ มิวเซียมสยาม
ธีมของงานครั้งนี้คือการพาผู้ร่วมกิจกรรมย้อนไปฟังเพลงเพราะๆ ใน “ยุค 90” ผ่านศิลปินระดับ “ไอคอน” ตัวจริง ที่เคยออกผลงาน ณ ห้วงเวลาดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ขอบเขตการทำงานของแต่ละคน/วงกลับมีลักษณะที่แผ่ขยาย-ยาวนานกว่านั้น กล่าวคือ ศิลปินบางรายได้เริ่มต้นทำงานตั้งแต่กลางทศวรรษ 80 และหลายรายก็ยังมีสตูดิโออัลบั้มของตนเองจนถึงหลังทศวรรษ 2000
ที่สำคัญ ศิลปินทั้งหมดที่จะมาร่วมร้องบรรเลงบทเพลงแห่งความทรงจำในงาน FEED RETRO ล้วนยังรับงานแสดงสดมาจนถึงปัจจุบัน โดยเราสามารถแบ่งศิลปินที่จะมาร่วมโชว์ครั้งนี้ออกได้เป็น 3 หมวดหมู่ใหญ่ๆ
ปั่นและวิยะดา
“ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” และ “ตุ๊ก-วิยะดา โกมารกุล ณ นคร” มีจุดเริ่มต้นที่คล้ายคลึงกัน เพราะทั้งคู่ต่างออกเทปชุดแรกในยุคปลาย 2520 หรือกลาง 1980 ผ่านการชักนำเชิญชวนให้เข้าสู่วงการเพลงของ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” และ “ชรัส เฟื่องอารมย์”
จนถึงปัจจุบัน ในวัย 70 ต้นๆ และ 60 ปลายๆ ทั้งปั่นและตุ๊กต่างยังเป็นนักร้องที่มีพลังในการแสดงสด เป็นผู้สร้างความบันเทิงชั้นดี และเป็นนักแสดงสมทบที่เรายังพบเห็นได้ตามจอโทรทัศน์ (หรือจอภาพเคลื่อนไหวอื่นๆ)
กระนั้นก็ตาม เส้นทางในวิชาชีพสายดนตรีภายหลังจุดสตาร์ตแรกของไพบูลย์เกียรติและวิยะดากลับมีความผิดแผกกันพอสมควร เพราะในขณะที่ปั่นยังปักหลักทำงานกับโปรดิวเซอร์-เพื่อนคู่ใจอย่างพนเทพเป็นส่วนใหญ่ (แม้กระทั่งเมื่อมาทำวงดนตรี “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” ร่วมกับพนเทพและชรัส ในช่วงไม่ถึงหนึ่งทศวรรษหลัง)
วิยะดากลับนำพาเสียงร้องของตัวเองออกไปผจญภัยอย่างโลดโผนกว่านั้น จากการร่วมงานกับทีมทำเพลงของพนเทพ-ชรัส เธอยังมีงานอีกสองชุดกับทีมทำเพลงอื่นๆ ของแกรมมี่ แล้วข้ามไปร่วมงานกับค่าย “มูเซอร์-วอร์นเนอร์” ภายใต้การดูแลของ “ประภาส ชลศรานนท์” จนมีเพลงคลาสสิคอย่าง “ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน”
ในงาน FEED RETRO ที่มิวเซียมสยามปลายเดือนนี้ วิยะดาจะมีคิวขึ้นแสดงในเวลาประมาณ 17.20 น. ของวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน ส่วนปั่นจะขึ้นแสดงในเวลาประมาณ 17.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน
เบิร์ดกะฮาร์ท
“เบิร์ดกะฮาร์ท” หรือ “กุลพงษ์ บุนนาค” และ “สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล” ก็ไม่ต่างจากไพบูลย์เกียรติและวิยะดา ตรงที่พวกเขาเริ่มต้นออกเทปชุดแรกใน พ.ศ.2528 หรือกลางทศวรรษ 1980 เมื่อครั้งที่ทั้งสองคนยังเป็นหนุ่มนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา
จากนั้น เบิร์ดกะฮาร์ทก็มีผลงานอัลบั้มอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายทศวรรษ 90
ขณะที่ไพบูลย์เกียรติและวิยะดาเคยออกผลงานดังๆ กับแกรมมี่ หนึ่งในสองยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมเพลงไทยยุค 90 แต่ผลงานในจุดพีกของเบิร์ดกะฮาร์ทกลับผลิตภายใต้สังกัด “ไนท์สปอต” “คีตา” และ “ร่องเสียงลำไย” (ค่ายเพลงของพวกเขาเอง) มีแค่อัลบั้มชุดท้ายๆ เท่านั้น ที่ทั้งสองคนมีโอกาสร่วมงานกับแกรมมี่
ส่งผลให้กุลพงษ์และสุทธิพงศ์ มีสถานะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ “เพลงฮิต” ของตนเอง
แม้จะไม่ได้ผลิตผลงานใหม่ๆ มานานมากแล้ว แต่ศิลปินดูโอ้ ซึ่งกำลังมีวัยเข้าเลข “6” คู่นี้ ยังคงมีพลังและอารมณ์ขันล้นเหลือกับการแสดงดนตรีผ่านระบบไลฟ์สดในโซเชียลมีเดีย รวมถึงการจัดทัวร์เพื่อเซอร์วิสบรรดาแฟนเพลงขนานแท้ของตนเอง
เบิร์ดกะฮาร์ทจะขึ้นแสดงในงาน FEED RETRO ในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 18.30 น. (หลังโชว์ของ “ตุ๊ก วิยะดา”)
ทีโบนและธีร์ ไชยเดช
แม้ดูเผินๆ “ทีโบน” และ “ธีร์ ไชยเดช” จะไม่น่ามีจุดร่วมกันในทางดนตรี เพราะวงแรกโดดเด่นด้วยจังหวะคึกคักฉึกฉักในแบบ “เร็กเก้-สกา” ผิดกับคนหลังที่จริงจังกับเพลงอะคูสติกสวยๆ หม่นๆ ซึ้งๆ และเซื่องซึมในหลายครั้ง (จนเจ้าตัวชอบแซวคนฟังว่าอย่าเพิ่งหลับไปเสียก่อน ระหว่างนั่งฟังการเล่นดนตรีของเขา)
ทว่า ทั้งทีโบนและธีร์ต่างเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยการเป็น “คนดนตรีกลางคืน” คล้ายๆ กัน แถมยังเคยแสดงสดร่วมกันที่ “แซ็กโซโฟนผับ”
ทีโบนได้ออกเทปก่อน ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2530 ในสังกัด “มูเซอร์-วอร์นเนอร์” ที่ดูแลโดย “จิก ประภาส” ณ จุดเริ่มต้น พวกเขาทำงานในแบบที่มีทีมแต่งเพลงคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ก่อนจะได้โอกาสสร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่มาสเตอร์พีซอย่างอัลบั้ม “กอด” ที่ออกกับสังกัด “โซนี่ มิวสิค ประเทศไทย” เมื่อปี 2540
หลังทศวรรษ 2000 ทีโบนก้าวหน้าไปอีกขั้น ด้วยการได้รับเชิญไปเล่นดนตรีในเทศกาล “แกลสตันบิวรี” อันโด่งดังของประเทศอังกฤษ ตลอดจนเทศกาลดนตรีนานาชาติอื่นๆ
จากการทำเพลงเร็กเก้มาสู่ดนตรีสกา ที่สนุกสนานมากขึ้นและมีรายละเอียดทางดนตรีซับซ้อนขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ทุกคนต่างตระหนักว่าทีโบนก็มี “เพลงฟังเพราะๆ” อยู่ไม่น้อย ที่เหมาะกับการเล่นในบรรยากาศชิลๆ สบายๆ ทั้งเพลงที่คนอื่นแต่งให้พวกเขา เพลงที่พวกเขาเขียนเอง และเพลงที่พวกเขาแต่งให้ศิลปินรายอื่น
หลังการแพร่ระบาดของโควิด “กอล์ฟ-นครินทร์ ธีระภินันท์” (กีตาร์) และ “แก๊ป-เจษฎา ธีระภินันท์” (ร้องนำ-กีตาร์) สองสมาชิกแกนหลักของทีโบน ร่วมกับเพื่อนๆ นักดนตรีรุ่นหลัง ได้ทำโปรเจ็กต์การแสดงดนตรีอะคูสติกในชื่อ “ทีโบน อรูทสติก” โดยนำเพลงช้าๆ ของพวกตนมาร้องบรรเลงแบบฟังเพลินๆ แต่ยังมีลีลาดนตรีที่ซับซ้อนแพรวพราวเช่นเดิม
“ทีโบน อรูทสติก” จะมาร่วมโชว์เปิดงาน FEED RETRO ในวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน เวลา 19.30 น.
แฟนพันธุ์แท้หลายคนคงทราบว่านอกจากเล่นดนตรีแล้ว ธีร์ ไชยเดช ยังมีงานหลักที่บริษัทวิทยุการบิน (เขาเพิ่งเกษียณอายุเมื่อปีก่อน) ธีร์เริ่มมีอัลบั้มของตนเองเมื่อ พ.ศ.2541 หรือปลายทศวรรษ 1990 โดยร่วมงานกับค่าย “เบเกอรี่มิวสิค” และ “เลิฟอีส” เป็นหลัก
แม้จะโด่งดังจากการนำเพลงของศิลปินรายอื่นมาคัฟเวอร์ แต่ธีร์ก็มีบทเพลงเพราะๆ ของตัวเองอยู่ไม่น้อย ซึ่งโดดเด่นด้วยท่วงทำนองเนิบๆ แต่ไพเราะ รวมถึงสำเนียงกีตาร์ วิธีการร้องเพลง และการเขียนคำร้องอันเป็นเอกลักษณ์
แม้เมื่อฟังเฉพาะเพลงของเขา ธีร์จะดูเป็นหนุ่มใหญ่ผู้หงอยเหงาและโดดเดี่ยว แต่เขามักทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ได้ดีเสมอ ไม่ว่าจะในฐานะโปรดิวเซอร์อัลบั้มชุด “Mild” ของวง “พอส” โปรดิวเซอร์อัลบั้มเดี่ยวของ “โจ้ พอส” ผู้ล่วงลับ และการไปร้องเพลงที่แต่งโดย “วงนั่งเล่น” อาทิ “เพราะเธอ”
ในยุคเริ่มต้นการทำงานของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ธีร์และวงนั่งเล่นเคยสร้างปรากฏการณ์ “คนล้นมิวเซียมสยาม” มาแล้วครั้งหนึ่ง คราวนี้ เขาจะกลับมาที่นี่อีกหน เพื่อขึ้นโชว์ปิดท้ายงาน FEED RETRO ในเวลา 19.30 น. ของวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน (หลังการแสดง “ปั่น ไพบูลย์เกียรติ”)
สำหรับแฟนเพลงยุค 80-2000 คุณสามารถเข้าชมการแสดงดนตรีทั้งหมดนี้ ได้โดย “ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” แถมยังมีอาหารอร่อยๆ และเครื่องดื่มเย็นๆ มาจำหน่ายตลอดงานอีกด้วย