เมื่อวันที่ 1 ต.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมการทำ “โพลมติชน X เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐา ควรแก้ปัญหาอะไร” โดยครั้งนี้เป็นการโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเครือมติชนและเดลินิวส์ เริ่มเปิดโหวตตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค. 2566 ก่อนหน้านี้โพลมติชน X เดลินิวส์ ได้ร่วมมือจัดทำโพลวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก สำหรับโพลครั้งใหม่จึงถือเป็นการทำโพลครั้งประวัติศาสตร์อีกครั้ง หลังจัดตั้งรัฐบาลเริ่มเดินหน้าทำงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยคำถามสะท้อนจากสังคมไทยว่า รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร เนื่องจากปัจจุบันก็มีหลากหลายปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศ
ดังนั้น ทั้งสองสื่อใหญ่ของประเทศ 5 กองบรรณาธิการ ประกอบด้วย กองบรรณาธิการมติชน กองบรรณาธิการข่าวสด กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ กองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ และกองบรรณาธิการเดลินิวส์ ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนทำหน้าที่รายงานข่าวในเกือบทุกแพลตฟอร์มครอบคลุมไปทั่วประเทศ จึงได้ร่วมกันประมวลชุดคำถามอะไรคือความคาดหวังที่แท้จริงของประชาชนได้ร่วมโหวตว่า “รัฐบาลเศรษฐา ควรแก้ปัญหาอะไร?” สามารถโหวตโพลได้ผ่านทาง “คิวอาร์โค้ด” ที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงโหวตผ่านคิวอาร์โค้ด และลิงก์ในช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก เอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ยูทูบ อินสตาแกรม และติ๊กต็อก ของสื่อในเครือมติชนและเดลินิวส์
ภายในโพลสำรวจแยกคำถามออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ คือ ข้อที่ 1.เร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูปโครงสร้างสังคม ประกอบด้วย 1.1 แก้รัฐธรรมนูญ, 1.2 ปฏิรูปกองทัพ, 1.3 กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, 1.4 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, 1.5 รัฐสวัสดิการ และ 1.6 ปัญหาอื่นๆ ข้อที่ 2.เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง ประกอบด้วย 2.1 แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท, 2.2 แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน-หนี้สาธารณะ, 2.3 แก้ปัญหาการเกษตร, 2.4 เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี, 2.5 ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน และ 2.6 ปัญหาอื่นๆ
หลังจากประชาชนโหวตโพลจนครบระยะเวลาตามกำหนดถึง วันที่ 31 ต.ค.แล้ว จะมีกิจกรรมเวทีใหญ่เจาะลึกเรื่องโพลของมติชน-เดลินิวส์ ในเดือนพ.ย. โดยเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองมาร่วมวิเคราะห์ผลโพล อย่างไรก็ดี ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเคยมาร่วมวิเคราะห์โพลตอนก่อนเลือกตั้งมาแล้ว ให้ความเห็นด้วยว่า การสำรวจครั้งนี้ ต้องการหาคำตอบในเรื่องที่เป็นข้อถกเถียงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ทั้งช่วงก่อนเลือกตั้งจนถึงช่วงระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล นั่นคือระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ อะไรมาก่อนกัน หรือบางครั้งก็ใช้คำว่า ระหว่างปัญหาเชิงโครงสร้าง และปากท้อง อะไรสำคัญหรืออะไรควรจะมาก่อน
“หากจะหวนกลับไปถามประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกครั้ง เพราะพวกเราทั้งหลายคงจำได้ว่า ฉันทามติที่ปรากฏในโพลก่อน วันเลือกตั้งเมื่อครั้งที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ซึ่งผลการเลือกตั้งก็สอดคล้องกันอย่างถล่มทลาย ปราศจากข้อสงสัย แต่ที่สุดท้ายผลการจัดตั้งรัฐบาลดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น การแก้ปัญหาปากท้องมาก่อนคือ ธงนำของการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ ซึ่งอาจจะถูกต้องหากพิจารณาบริบทภาวะเศรษฐกิจทั้งส่วนของรายได้-ภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สิน คือสิ่งรุมเร้าชีวิตคนไทยหนักหน่วง”
“การสำรวจครั้งนี้จึงต้องลงลึกมากขึ้น เป็นการตั้งคำถามถึงความรู้สึกว่าเมื่อมีรัฐบาลแล้ว อยากให้เร่งแก้เรื่องไหนมากที่สุดระหว่างการเมือง และเศรษฐกิจ โดยทั้งสองประเด็นใน “โพลมติชน X มติชน : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” จึงได้กำหนดหัวข้อย่อยให้เลือกระบุ เพื่อแจกแจงความเห็นให้ชัดเจน ยืนยันความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ไม่ใช่ตามที่ฝ่ายการเมืองหาเสียงเอาไว้ทางเดียว” ผศ.อัครพงษ์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ ในการแถลงข่าวความร่วมมือครั้งสำคัญ “โพลมติชน X เดลินิวส์ : รัฐบาลเศรษฐาควรแก้ปัญหาอะไร?” นับเป็นการทำโพลครั้งที่ 2 หลังจากร่วมทำ “มติชน X เดลินิวส์ โพลเลือกตั้ง’66” จนประสบความสำเร็จมาแล้วในช่วงก่อนการเลือกตั้ง
นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เราได้ทำโพลครั้งแรก จุดเด่นของโพลคือ ระบบหลังบ้าน ที่จะช่วยให้เก็บข้อมูลเชิงลึกของ ผู้ที่มาทำโพล ทำให้เราเห็นภูมิประชากรของประชาชน ครั้งนี้จะทำให้เห็นความสลับ ซับซ้อนและละเอียดของปัญหามากขึ้น ก่อนเลือกตั้งเป็นการสำรวจความนิยม ลักษณะจะคล้ายกับประชามติ คือให้ประชาชนตัดสินเรื่องใหญ่ๆ ด้วยคำถามที่เรียบง่าย โดยคำตอบ ประชาชนตอบได้คำตอบเดียว แต่ครั้งนี้เป็นโพลเชิงนโยบาย จะโน้มเอียงว่าเป็นประชาพิจารณ์มากกกว่าประชามติ คือ ผู้ที่ทำโพลและผู้ที่ตอบโพลจะต้องพิจารณาคำตอบและปัญหาด้วย ดังนั้นคำตอบจะหลากหลายตามโครงสร้างประชากร
ทั้งนี้ หลังจบการแถลงนโยบายของรัฐบาล เห็นสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เห็นความตั้งใจของรัฐบาลชุดใหม่ ที่มีความกระตือรือร้นและความปรารถนาของนายกฯ ใหม่ ที่อยากให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ สิ่งที่อยากเห็นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และความต้องการที่จะเปลี่ยนการเมือง ขณะเดียวกัน การประชุมสภามีฝ่ายค้านหน้าใหม่จำนวนมากที่พูดปัญหาในพื้นที่อย่างน่าสนใจ เช่น เรื่องน้ำ ฝุ่น การท่องเที่ยว บทสรุปคือ เชื่อว่าโพลครั้งนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยฉายภาพประชาชนนอกสภา ว่ามีทัศนะอย่างไรต่อรัฐบาลชุดนี้
ด้าน น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สาระสำคัญของแคมเปญนี้ที่มี 3 คีย์เวิร์ด คือ 1.รัฐบาล 2.ปัญหา และ 3.ประชาชน มันสะท้อนไปมา รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชนจึงจะแก้ไขปัญหาได้ และประชาชนต้องสะท้อนปัญหาอย่างถูกจุด หน้าที่นี้คือหน้าที่ของวันนี้ที่มติชนและเดลินิวส์จะร่วมกัน สร้างพื้นที่ในการสะท้อนความเห็นกลับไปสู่ผู้นำและรัฐบาลใหม่ โดยจะมีคณะทำงานที่เป็นส่วนร่วมในการทำโพลทั้งหมด 2 สำนัก คือ สำนักเศรษฐศาสตร์และสำนักรัฐศาสตร์ หลังจากนั้น วันที่ 1-31 ต.ค. เป็นระยะ 1 เดือนเต็ม จะเป็นช่วงเวลาของการทำโพล การนำเสนอตลอดทั้งเดือนจะทำให้ประชาชนมีความตื่นตัว และความตระหนักทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้ง และจะมีการสรุปโพลแบบเบรกกิ้งนิวส์ (Breaking News) ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ของมติชน และเดลินิวส์ ก่อนจะปิดท้ายแคมเปญนี้ คาดว่าเป็นกิจกรรมฟอรัมใหญ่
น.ส.ปานบัว กล่าวต่อว่าอย่างไรก็ตาม เรายังไม่รู้ว่าความเห็นจะออกมาแบบไหน แต่น่าจะเป็นกระดานสะท้อน เพื่อนำปัญหาที่อยู่ในโพลมาขยาย และหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป ตนมองว่าในตอนนี้ รัฐบาลเข้มแข็ง ฝ่ายค้านน่าจับตามอง ภาคประชาชนส่งเสียง ภาคสื่อทำงานอย่างเต็มที่เพื่อเป็นกระดานสะท้อนปัญหา สื่อจะอยู่กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความตื่นตัวอยู่เสมอ ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นความตื่นตัวสูงมาก ประชาชนตื่นตัวมาตลอดจนกระทั่งเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ความตื่นตัวนั้นกลับลดลง ซึ่งมองว่า การตื่นตัวทางการเมืองควรหล่อเลี้ยงไว้เสมอเพราะมันเป็นวิถีประชาธิปไตย สิทธิและเสียงเรายังอยู่เสมอ หากรวมปัญหาและสะท้อนความเห็นไปสู่รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลที่ดีจะต้องอ่านข้อมูลที่ถูกต้องจึงจะสามารถแก้ปัญหาให้ถูกจุด โดยรับฟังเสียงจากประชาชน แล้วนำปัญหาไปแก้ไข การสะท้อนปัญหาจึงเป็นผลดี และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายในที่สุด