Indy Mania  By พอล เฮง คอลัมน์ที่จะพาย้อนกลับไปในช่วงการปะทุและระเบิดของเพลงไทยนอกกระแส ในช่วงทศวรรษที่ 90s

‘Indy Mania  ไม่ได้อยู่ดีๆ แล้วเกิดการปะทุระเบิดทางดนตรีขึ้นมาทันทีในยุค 90s แต่มีมูลฐานหลายอย่างหลายปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบในการวางรากฐานอย่างไม่ได้ตั้งใจ ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการรายการประกวดดนตรีระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อว่า ‘โค้ก มิวสิค อวอร์ดส’ (Coke Music Awards) นักร้อง และคณะดนตรีจากรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ผ่านเวทีนี้ เติบโตออกอัลบั้มผันผ่านจากมือสมัครเล่นสู่มืออาชีพในตลาดเพลง และได้เป็นส่วนหนึ่งของการวิวัฒน์ทางดนตรีและพัฒนาการของธุรกิจและอุตสาหกรรมดนตรีพาณิชย์ศิลป์มาถึงวันนี้’

‘ยุคมานีมานะ’ สิ้นสุดลงในปี 2537 เมื่อมีการประกาศเลิกใช้ชุดแบบเรียนภาษาไทย ระดับประถมศึกษาปีที่ 1–6 รวม 12 เล่ม ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนระดับพื้นฐานในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ

ทว่าคนรุ่นนี้ได้เบิกฤกษ์ปักหมุดกับกระแสดนตรีและบทเพลงยุคใหม่ให้เกิดขึ้นในปี 2537 ผ่านบทเพลงลำดับที่ 4 ที่ชื่อ ‘มานี’ (Manee) ซึ่งบรรจุอยู่ในสตูดิโออัลบั้ม ‘โมเดิร์นด็อก’ หรือรู้จักกันโดยทั่วไปว่า ‘โมเดิร์นด็อก – เสริมสุขภาพ’ นับเป็นอัลบัมชุดแรกเปิดตัวคณะดนตรีโมเดิร์นด็อก

นักการตลาดดนตรีสมัยนิยมของโลกตะวันตกตั้งแต่ยุค 80s เป็นต้นมา ได้เคยวิเคราะห์ไว้ว่า เทรนด์ดนตรีใหม่ๆ และเหล่านักร้องหรือคณะดนตรีของกลุ่มคนหนุ่มสาววัยรุ่นยุคใหม่ เมื่อสามารถผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นกระแสหลัก หรือแฟชันการดูและฟังเพลงในวงกว้างแล้วนั้น จะมีอายุการใช้งาน 3-5 ปี แล้วค่อยๆ ตกลงไป และมีรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่เมื่อคนเปลี่ยนรุ่น

คนทุกรุ่นต่างสร้างยุคสมัยของตัวเองผ่านดนตรีและบทเพลง

เช่นกันปรากฏการณ์นี้เริ่มเด่นชัดในวงการเพลงเมืองไทยในยุค 90s หรือกลางยุคทศวรรษที่ 2530 เมื่อเทรนด์ดนตรีถูกเปลี่ยนมือมาขับเคลื่อนโดยนักร้อง คณะดนตรี และคนฟังที่เติบโตขึ้นมาในยุคมานีมานะ  หรือแบบเรียนปี 2521–2537 เขียนเรื่องโดยรัชนี ศรีไพรวรรณ และมีรูปภาพประกอบ ซึ่งวาดขึ้นโดย เตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนและนิยายภาพ จากชัยพฤกษ์การ์ตูน, โอม รัชเวทย์ และปฐม พัวพิมล รวมเวลาถึง 16 ปีเต็ม ที่เป็นฐานของคนรุ่นนี้

เพราะฉะนั้น บทเพลง ‘มานี’ จึงคล้ายการประกาศก้องของคนยุค 90s ที่สถาปนายุคของดนตรีสมัยนิยมในแบบของตัวเอง นั่นคือ ‘อัลเทอร์เนทีฟร็อก’

ยุค Indy Mania ในตอนนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า โมเดิร์นด็อก คณะดนตรีที่มีใบการันตีจากเวทีประกวด ‘โค้ก มิวสิค อวอร์ดส’ ( Coke Music Awards) ที่ได้รางวัลชนะเลิศในปี 2535 คือหัวหอกทะลวงบุกเบิกวงการเพลงไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง

โปสเตอร์เวทีประกวด Coke Music Awards 2013

‘โค้ก มิวสิค อวอร์ดส’ จึงเปรียบเสมือนเวทีคัดกรองบ่มเพาะกลุ่มคณะดนตรีในแนวคอลเลจ ซาวด์ ของเมืองไทย ให้มีความมั่นใจในฝีมือและทักษะทางดนตรีของพวกเขาให้ออกไปสู่โลกกว้างของความเป็นมืออาชีพ

ใครจะไปเชื่อหรือพยากรณ์ได้ในตอนนั้นว่า เวทีประกวดดนตรีของน้ำอัดลมแบรนด์หนึ่งในยุคต้น 90s’ ที่เป็น ‘มิวสิค มาร์เก็ตติง’ เจาะกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เป็นนิสิตนักศึกษาจะเปลี่ยนวงการเพลงไทยสมัยนิยมไปตลอดกาล พิสูจน์ให้เห็นว่า ดนตรีและบทเพลงได้ก้าวข้ามผ่านจากแค่เป็นสื่อบันเทิงไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภค ซึ่งในมิติการตลาด เพลงเป็นอาวุธที่มีพลัง ช่วยภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในห้วงเวลาของยุค 90s

ประสบการณ์ด้านดนตรีที่สามารถเจาะเข้าไปที่ไลฟ์สไตล์ความชอบของกลุ่มวัยรุ่นที่มีความแตกต่างกันออกไปและมีจิตวิญญาณขบถได้เป็นอย่างดี 

คนรุ่นมานีมานะเติบโตเป็นวัยรุ่นและมาสบช่องมีโอกาสได้เข้าร่วมประกวดดนตรีระดับมหาวิทยาลัย ‘โค้ก มิวสิค อวอร์ดส’ กันถ้วนหน้าทั้งในฐานะนักร้องหรือคณะดนตรี หรือในฐานะคนดูก็ตาม ความสามารถทางดนตรีของคนรุ่นนี้ถูกกระตุ้นเร้าเร่งให้กล้าแสดงออกและพัฒนาทักษะทางดนตรีของตนเองเพื่อหนทางสู่เส้นทางดนตรีสมัยนิยมในอนาคตอันใกล้ของพวกเขาเอง

วัยรุ่นยุค 90s และ 2000s ที่เล่นดนตรีและขับร้องต่างมีความใฝ่ฝันที่จะขึ้นประกวดแข่งขันประชันประลองเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ทำให้เวทีนี้มีประวัติยาวนานและเป็นที่รู้จักในฐานะเวทีที่สร้างนักร้องและคณะดนตรีอันเปี่ยมคุณภาพมากมายให้กับวงการเพลงไทย 

เกร็ดความทรงจำที่น่าสนใจของรางวัลนี้ที่เกี่ยวพันเชื่อมโยงโดยตรงในการสร้างคณะดนตรีร็อกยุคใหม่ขึ้นมาจากรั้วมหาวิทยาลัย นั่นคือเวทีประกวดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาคณะดนตรีคณะนี้กลายเป็นคณะชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศไทยในปีนั้น แล้วกลายเป็นหัวหอกบุกเบิกสร้างปรากฏการณ์ Indy Mania รวมถึงเป็นซาวด์แรกที่ออกมาจากเบเกอรี มิวสิค

ย้อนกลับในปี 2535 ขวบปีแห่งความสับสนอลหม่านของสังคมไทย เนื่องด้วยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ความวุ่นวายในสังคมค่อยๆ จางหายและจัดระบบใหม่ที่แข็งแรงขึ้น ปีนั้นเป็นปีที่มีการประกวดแล้วถูกเล่าขานเป็นตำนานหนึ่งของ โค้ก มิวสิค อวอร์ดส

โมเดิร์นด็อก ซึ่งนำทีมโดย “ธนชัย อุชชิน” (ป๊อด) ตำแหน่ง ร้องนำ-คนเขียนเพลง ได้ระดมเพื่อนฝูงมาฟอร์มคณะก่อนที่การประกวดระดับมหาวิทยาลัยของพวกเขาคือ จุฬาฯ จะมีขึ้น เพียงแค่ 3 วันเท่านั้น สมาชิกประกอบด้วย “เมธี น้อยจินดา” (เมธี) ตำแหน่ง มือกีต้าร์ , “ปวีณ สุวรรณชีพ” (โป้ง) ตำแหน่ง มือกลอง , “สมอัตถ์ บุณยะรัตเวช” (บ๊อบ) ตำแหน่งมือเบส และ “สราวุธ เลิศปัญญานุช” (แน่น) ตำแหน่งมือคีย์บอร์ด รวมเป็น 5 คน

ปีนั้นเป็นโค้ก มิวสิค อวอร์ดส ครั้งที่ 3 โดยมีการเขียนเล่าเรื่องจากปากคำของ ป๊อด โมเดิร์นด็อก ที่รำลึกเรื่องราวในคราวนั้นไว้อย่างละเอียดว่า

‘…ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ซึ่งถือว่าเลทจากเวลาจริงไปมาก ทางคณะกรรมการจึงให้แต่ละวงที่ยังไม่ได้เล่น ลดจำนวนเพลงที่จะโชว์จาก 4 เพลงเหลือวงละ 2 เพลง เมื่อป๊อดได้ยินดังนั้น จึงหันไปกระซิบกับเพื่อนร่วมวงทันทีว่า “เดี๋ยวพอถึงคิววงเราเล่น ไม่ต้องตั้งเสียงเครื่องดนตรีนะ ให้ทุกคนขึ้นไปซัดเลย 4 เพลงรวด​ และไม่ต้องหยุดเมื่อจบแต่ละเพลงนะ”

เมื่อถึงคิวของวงโมเดิร์นด็อก เพื่อนสมาชิกทุกคนก็ทำตามที่ป๊อดพูดจริงๆ พอจบเพลงแรก พวกเขาก็ซัดเพลงที่ 2 ต่อทันที พอจบเพลงที่ 2 เพลงที่ 3 ก็ถูกเล่นต่อโดยเร็ว และเมื่อจบเพลงที่ 3 ขณะที่ป๊อดเริ่มร้องเพลงที่ 4 ไปได้ไม่เท่าไหร่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สมาชิกทุกคนในวงตอนนั้นได้ยินแต่เสียงกลอง เพราะเครื่องดนตรีชนิดอื่นที่ต้องใช้ไฟฟ้าโดนปิดสวิตซ์ดับไฟหมด 

ในช่วงเวลานั้น ทุกคนคิดในใจว่าจะต้องโดนจับแพ้ฟาล์วแน่นอน แต่ผลปรากฎว่า วงโมเดิร์นด็อกก็สามารถผ่านรอบแรก จนได้เข้าไปเล่นในรอบต่อๆ ไป และก็คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้เป็นตัวแทนของจุฬาฯ ไปแข่งขัน ณ เวทีใหญ่ระดับประเทศได้สำเร็จ จนท้ายที่สุด พวกเขาชนะเลิศโค้ก มิวสิค อวอร์ดส ครั้งที่ 3 ไปได้อย่างเหลือเชื่อ โดยคะแนนเบียดรองชนะเลิศครั้งนั้นไปแค่คะแนนเดียว​…’ 

คนที่เป็นตัวช่วยทำให้คณะโมเดิร์นด็อกหลุดออกจากสถานการณ์เลวร้ายในการประกวดครั้งนั้นก็คือ “นีโน่-เมทนี บูรณศิริ” ซึ่งโด่งดังอย่างมากในช่วงเวลานั้นจากบทเพลง ‘คนขี้เหงา’ ที่บรรจุอยู่ในอัลบั้ม ‘ขอเป็นพระเอก’ ซึ่งออกกับค่ายคีตา เรคคอร์ดส เป็นเพลงยอดนิยมประจำปี 2534 และเขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการประกวดของเวทีจุฬาฯ ซึ่งนีโน่เป็นศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ในความทรงจำของป๊อด หลังเหตุการณ์ผ่านไปหลายปี จนวันหนึ่งเขามีโอกาสได้เจอกับนีโน่ เขาก็ได้ถามถึงการตัดสินใจของนีโน่ในครั้งนั้น โดยนีโน่บอกกับป๊อดว่า

“วันนั้นที่วงโมเดิร์นด็อกเล่นรอบแรกใต้หอพักชายและทำผิดกติกา ตอนนั้นพี่ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วยนะ ซึ่งตั้งแต่ตอนที่โมเดิร์นด็อกเล่นจบเพลง 2 และต่อเพลง 3 ทันที ตอนนั้นก็มีกรรมการบางคนยกมือประท้วงแล้ว แต่พี่ก็เป็นคนบอกว่าไม่เป็นไร ให้น้องๆ เล่นกันไปก่อน และเมื่อถึงเพลงที่ 4 ที่โดนปิดไฟไล่ ตอนนั้นคณะกรรมการส่วนใหญ่ก็จะปรับให้โมเดิร์นด็อกแพ้ฟาล์ว เพราะทำผิดกติกาไปแล้ว แต่เป็นพี่นี่ล่ะ ที่ยืนกรานกับทางคณะกรรมการว่า การประกวดวงดนตรี เขาดูกันที่ฝีมือไม่ใช่เหรอครับ ถ้าวงนี้ฝีมือดีจริง ก็ควรต้องให้ชนะ แม้เขาจะทำผิดกติกาก็ตาม” 

ต่อมาเมื่อ เข้าสู่เวทีใหญ่การประกวดระดับประเทศ โมเดิร์นด็อก ก็ฝ่าฟันจนได้รางวัลชนะเลิศไปแบบหวุดหวิดเส้นยาแดงผ่าแปด ส่วนคณะดนตรีที่ได้รางวัลรองชนะเลิศคือ ไฟว์ โรซซ์ (Five Rozz) ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 

ในเวลาต่อมา คณะไฟว์ โรซซ์ ได้แยกออกเป็น 2 คณะ และเป็นคณะดนตรีที่พุ่งทะลุร่วมบุกเบิกยุคอินดี มาเนีย นั่นคือคณะสไมล์ บัฟฟาโล ที่มีสมาชิกจากครั้งประกวดในนามมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย “วรเชษฐ์ เอมเปีย” (กลอง) , “ประดิษฐ์ วรสุทธิพิศิษฎ์”  (ร้องนำ / กีตาร์เบส) , “พนัส อภิชาติพงศ์บุตร” (คีย์บอร์ด) ส่วนมือกีตาร์ “อภิสิทธิ์ พงศ์ชัยสิริกุล” ได้ถูกดึงตัวจากสายดนตรีเฮฟวีเมทัล ร่วมคณะสโนไวท์ก่อน แล้วจึงไปเป็นคณะบิ๊กกัน แล้วมาร่วมสร้างคณะแบล็คเฮด จนกลายเป็น ‘เอก แบล็คเฮด’ มือกีตาร์แสนโด่งดังด้วยทักษะฝีมือในยุคอัลเทอร์เนทีฟร็อก 90s

สำหรับคณะไฟว์ โรซซ์ ก็มีเกร็ดน่าตื่นเต้นให้ลุ้นกันก็คือ เมื่อชนะเลิศได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เข้าไปแข่งขันในรอบสุดท้าย แต่เกือบโดนตัดสิทธิ์การแข่งขัน ด้วยเหตุผลว่าสมาชิกทั้งหมดไว้ผมยาว แล้วระหว่างเล่นก็ยังปลดกระดุมเสื้อ ซึ่งทำให้ดูไม่เรียบร้อย คณะกรรมการมองว่าเสียภาพลักษณ์ที่ดีของคณะดนตรีระดับมหาวิทยาลัย

วินิจ เลิศรัตนชัย ซึ่งเป็นพิธีกรในงานประกวดเวทีรอบสุดท้ายนี้ไม่เห็นด้วย และเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าไปคุยกับคณะกรรมการว่า แม้พวกเขาจะแต่งตัวไม่เรียบร้อย แต่นั่นเป็นการแสดงออกบนเวทีเท่านั้น ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะมีพฤติกรรมไม่เรียบร้อยแต่อย่างใด ท้ายสุดเหล่าคณะกรรมการวันนั้นจึงกลับคำตัดสิน และให้คณะไฟว์ โรซซ์ ได้ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศต่อไป  

นั่นคือรอยความทรงจำของการประกวดปี 2535 อันน่าตื่นเต้นและเล่ากล่าวขานมาจนถึงปัจจุบัน 

ว่าไปแล้วการประกวด ‘โค้ก มิวสิค อวอร์ดส’ น่าจะมีมาตั้งแต่ปี 2532 แต่ประกวดในลักษณะของโฟล์คซองและการขับร้องเป็นหลัก ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นการประกวดเป็นคณะดนตรีเข้ามา และเป็นจุดสำคัญในการสร้างความมั่นใจของคณะดนตรีร็อกในยุค 90s ที่จะพาพวกเขาไปสู่ระดับอาชีพและออกอัลบั้ม รวมถึงเป็นเวทีที่แมวมองจากค่ายเพลงต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่มาทำการค้นหายอดฝีมือเพื่อเอาไปปั้นต่อในวงการเพลงสมัยนิยม

เวทีโค้ก มิวสิค อวอร์ดส ได้แสดงให้เห็นว่า เป็นหนึ่งในตัวตั้งต้นทางเสียงดนตรี นับเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนร่วมยุคสมัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความผูกพันและประสบความสำเร็จของคนในรุ่นเดียวกัน ผ่านฉากทัศน์การเคลื่อนไหวทางดนตรีที่น่าจดจำที่สุดของยุค 90s

อ่านคอลัมน์ Indy Mania By พอล เฮง https://feedforfuture.co/?s=%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%A5+%E0%B9%80%E0%B8%AE%E0%B8%87

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก