Indy Mania By พอล เฮง คอลัมน์ที่จะพาย้อนกลับไป ในช่วงการปะทุและระเบิดของเพลงไทยนอกกระแส ที่ฉีกไปจากกระแสหลักแบบเดิม ในช่วงทศวรรษที่ 90
ดนตรีสมัยนิยมพาณิชย์ศิลป์ เป็นธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งหลักใหญ่ใจความย่อมผูกติดอยู่กับการสร้างบทเพลงยอดนิยมเพื่อนำมาซึ่งยอดจำหน่ายที่สามารถสร้างกำไรสูงสุด
หลังจากผ่านพ้นยุคทศวรรษที่ 2520 (ประมาณยุคทศวรรษที่ 1980 ของตะวันตก) เข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 2530 หรือคืบคลานเข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 1990 ความเปลี่ยนแปลงในวงการเพลงไทยสมัยนิยมได้เกิดระลอกคลื่นลูกใหญ่ที่ซัดกระแทกเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเพลงไทยอย่างน่าตื่นเต้นในระดับปรากฏการณ์
ห้วงเวลาในปี 2531 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของประเทศไทย ในทางการเมืองเป็นปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งยาวนานต่อเนื่องมา 8 ปี ตั้งแต่ปี 2523 เปลี่ยนผ่านมาจากยุคประชาธิปไตยครึ่งใบมาสู่ยุคของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นับเป็นการเริ่มต้นตั้งไข่ของความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจในฐานะ เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ผ่านยุคนิคส์ (NICs – new industry country) ประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่จากฐานการผลิตรถยนต์ จนมีความฝันว่า ไทยจะเป็นดีทรอยต์ของเอเชีย ที่โน้มนำไปสู่ยุคฟองสบู่ในตอนสิ้นสุดยุคทศวรรษที่ 2530
ภาพรวมอุตสาหกรรมและวงการเพลงไทยสมัยนิยมสายพาณิชย์ศิลป์ในยุคทศวรรษที่ 2530 ก็ย่อมเบ่งบานเฟื่องฟูด้วยเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาอย่างมหาศาล จนทำให้บริษัทเพลงหรือค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดอย่าง แกรมมี่ หรือบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด สามารถจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทมหาชนได้ในปี 2537 หลังดำเนินงานมาได้ 11 ปี ตั้งแต่ปี 2526
ไม่นับค่ายเพลงที่ถือว่าอยู่ในระดับยักษ์ใหญ่อีก 2 ค่ายคือ อาร์เอส ซาวด์ และนิธิทัศน์ โปรโมชัน ซึ่งมีรากฐานมาจากบริษัทจัดจำหน่ายแบบนายห้างแล้วทำค่ายเพลงคู่ไปด้วยก็เติบโตอย่างพุ่งสูงในยุคที่เพลงไทยสมัยนิยมผลิตเพลงฮิตในตลาดเพลงที่เรียกว่า เพลงสตริง และการเติบโตอย่างเงียบๆ แต่มีมูลค่ามหาศาลของตลาดเพลงเพื่อชีวิต
ในยุคทศวรรษที่ 2530 ค่ายเพลงเล็กๆ ค่อนข้างจะมีน้อย ที่อยู่รอดในตลาดเพลงและมีบุคลิกเพลงของตัวเองก็มี รถไฟดนตรี ของ ระย้า ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร ที่มาก่อนใครตั้งแต่ปี 2522 ยุคแรกๆ ของคลื่นคณะดนตรีวัยรุ่นสตริงคลื่นลูกที่ 2 ต่อจาก ดิ อิมพอสซิเบิล
ครีเอเทีย อาร์ติสต์ ที่มาในปี 2528 โดย ชนินทร์ โปสาภิวัฒน์ ที่มาสร้างดนตรีทางเลือกที่สร้างสรรค์โดยคนดนตรีเบื้องหลัง แต่อยู่เพียง 4 ปีเท่านั้น ปิดตัวลงไปในปี 2532
คีตา หรือบริษัท คีตา แผ่นเสียงและเทป จำกัด ที่ตั้งขึ้นมาในปี 2529 โดยกลุ่มทุนเจเอสแอล และมีประภาส ชลศรานนท์ ร่วมหุ้นและเป็นแม่ทัพ และปิดยุครุ่งเรืองไปในปี 2532 มีการเปลี่ยนชื่อเป็นคีตา เรคคอร์ดส และอีกหลายชื่อตามกลุ่มทุนที่มาควบรวมกิจการ
ในทศวรรษนี้ จุดที่น่าสนใจก็คือ หลังจากประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างมากมายของ แกรมมี่ ที่ยกระดับวิชาชีพและอาชีพของคนดนตรีให้ก้าวข้ามพ้นจากความไม่มั่นคงในอาชีพที่มีคำเหน็บแนมเสียดเย้ยว่า ‘เต้นกินรำกิน’ ที่แต่ก่อนรวยเฉพาะนายทุนหรือนายห้าง แต่แกรมมี่สามารถทำให้คนในอุตสาหกรรมและธุรกิจนี้มีความมั่นคงทางการเงินจนถึงขั้นเศรษฐีได้ ไม่ว่านักร้อง คณะดนตรี หรือคนเบื้องหลังในสายการผลิตเพลง
ปรากฏการณ์เทปคาสเส็ตต์ที่มีอัลบัมขายเป็นล้านตลับ เกิดขึ้นถี่มาก แฟนเพลงรอซื้ออัลบัมจากนักร้องหรือคณะดนตรีในระดับตัวท็อปพ๊อพสตาร์จากแผงเทปหรือร้านขายเทปในวันแรกที่วางจำหน่ายจนไม่พอขาย แย่งกันสั่งจองจากยี่ปั๊วซาปั๊ว
นักร้องในระดับซูเปอร์สตาร์ในช่วงต้นยุคทศวรรษที่ 2530 มี แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ จากค่ายนิธิทัศน์ฯ ซึ่งสืบทอดต่อเนื่องจากยุคสตริงในนามคณะแกรนด์เอ็กซ์ ที่ต่อยอดมาเป็นนักร้องเดี่ยว และพุ่งสูงขึ้นจากความนิยมเดิมๆ

และนักร้องรุ่นใหม่จากเวทีประกวดระดับประเทศอย่าง เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ที่สร้างสกุลเพลงพ๊อพไทยแบบใหม่ขึ้นมา ผ่านมันสมองและการทำงานเป็นทีมผลิตเพลงตามรอยค่ายเพลงแบบตะวันตกของ เรวัต พุทธินันทน์ ซึ่งใช้แนวดนตรีพ๊อพกลิ่นอายอาร์แอนด์บีที่เขาถนัด ซึ่งฉีกออกไปจากยุคสตริงเก่าก่อนจนสถาปนาเพลงในแบบ ‘แกรมมี่ซาวด์’
นอกจากนี้การขยายตัวของตลาดเพลงเพื่อชีวิต ผ่านความเป็นซูเปอร์สตาร์ในฐานะนักแต่งเพลงที่มีเนื้อหาเข้มข้นกินใจ นั่นคือ ยืนยง โอภากุลหรือ แอ๊ด คาราบาว ที่ความโดดเด่นและชื่อเสียงของเขาสามารถครอบงำคณะดนตรีคาราบาวไว้ทั้งหมด และสามารถประสบความสำเร็จในตลาดเพลงยอดนิยมกระแสหลัก ทำให้บทเพลงเพื่อชีวิตหลุดออกจาบทเพลงนอกกระแสที่รับใช้ความคิดทางการเมืองในฐานะส่วนหนึ่งของศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน เข้าสู่โหมดบทเพลงประท้วงในตลาดเพลงยอดนิยมได้เป็นอย่างดี มียอดขายอัลบัมในแต่ละอัลบัมอย่างมหาศาล ว่ากันว่าอัลบัมชุดที่ 5 ‘เมด อิน ไทยแลนด์’ ที่ออกมาในปี 2527 มียอดขายมากกว่า 5 ล้านตลับ

ความเสื่อมถอยของอุตสาหกรรมเพลงไทย แต่ธุรกิจเพลงยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ฉายชัดในช่วงต้นยุคทศวรรษที่ 2530 ผู้คนหรือแฟนเพลงเริ่มเอือมระอาเบื่อหน่ายสูตรสำเร็จในการผลิตงานเพลงออกมาวางจำหน่ายของค่ายเพลงต่างๆ จุดที่เป็นวิกฤตที่สุดก็คือ การนำดารานายแบบมาร้องเพลงออกอัลบัม รวมถึงคนดังในทุกวงการมาร้องเพลงออกอัลบัมผ่านค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ (ช่วงนั้นยังไม่มีคำว่าเซเลบริตี หรือเซเลบฯ) ความเสื่อมศรัทธาจากคนฟังมีมากทวีคุณขึ้นเรื่อยๆ
จุดสำคัญคือ รุ่นคนเริ่มเปลี่ยน คนฟังยุคสตริงเติบโตและไม่ฟังเพลงอีกแล้ว คนเจนเนอรชัน ‘มานี-มานะ-ชูใจ-ปิติ’เติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นสมัยใหม่ เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย
ช่วงกลางยุคทศวรรษที่ 2530 จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างเงียบๆจากกระแสที่เรียกว่า เพลงใต้ดิน ผ่านวงการเพลงเพื่อชีวิต และช่วงปลายยุคจึงเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ของ ‘อินดี มาเนีย’….