“ฉันจะไปประเทศไทยค่ะ ฉันจะไปผ่าตัดที่ประเทศไทย แล้วก็ซื้อบ้านหลังเล็กๆ แล้วก็เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นั่น”
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในเอเชียที่มีการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างจริงจัง โดยในปีที่ผ่านมาร่างพระราชบัญญัติ “สมรสเท่าเทียม” ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการยอมรับสิทธิของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของประเทศไทยที่จะสร้างสังคมที่ทุกคนมีสิทธิและโอกาสอย่างเท่าเทียม นี่คือสัญญาณที่ทำให้ผู้คนจากทั่วโลก มองประเทศไทยว่าเป็นสถานที่ที่พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจและได้รับการยอมรับ
ล่าสุดในซีรีส์ยอดนิยมของเกาหลี อย่าง “Squid Game 2 เล่นลุ้นตาย” ที่เริ่มฉายผ่านสตรีมมิงของ Netflix ไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา ในเนื้อหามีตัวละครหนึ่งกล่าวถึงประเทศไทย ว่าเป็นที่ที่เขาอยากมาอยู่ เพราะที่นี่เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ซึ่งที่เกาหลีอาจจะยังไม่ค่อยยอมรับในเรื่องเพศที่สาม เท่าที่ไทย
ในซีรีส์มีผู้เล่นเกมรายหนึ่งถามกับ ฮยอนจู หมายเลข 120 รับบทโดย พัคซองฮุน ว่า “คุณคิดว่าจะเอาเงินที่ได้จากเกมนี้ไปทำอะไร” เขาตอบว่า “ฉันจะไปประเทศไทยค่ะ ฉันจะไปผ่าตัดที่ประเทศไทย แล้วก็ซื้อบ้านหลังเล็กๆ แล้วก็เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นั่น”
บทพูดนี้เป็นการสะท้อนถึงภาพลักษณ์ที่ประเทศไทยสร้างขึ้นในสายตาชาวโลก เพราะเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย และความเป็นมิตรต่อกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นงาน Pride Parade ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ หรือความโดดเด่นของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ให้พื้นที่กับกลุ่ม LGBTQ+ เช่น ซีรีส์วายที่โด่งดังไกลถึงต่างประเทศ
ทำไมประเทศไทยถึงเป็นที่หมายปองของคนที่ต้องการความเท่าเทียม?
1. วัฒนธรรมที่ยอมรับความหลากหลาย
คนไทยส่วนใหญ่เปิดกว้างต่อเรื่องเพศสภาพและการแสดงออกของตัวตน ส่งผลให้หลายคนรู้สึกปลอดภัยและมีพื้นที่สำหรับการเป็นตัวของตัวเอง
2. การสนับสนุนสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม ประเทศไทยยังมีองค์กรและโครงการมากมายที่ช่วยส่งเสริมสิทธิและโอกาสของกลุ่ม LGBTQ+ เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความหลากหลายทางเพศ
3. ศูนย์กลางของกิจกรรม LGBTQ+ ระดับโลก
งานเทศกาล Pride ในประเทศไทย ไม่ได้เป็นเพียงงานเฉลิมฉลอง แต่ยังเป็นเวทีที่ส่งเสียงถึงความเท่าเทียมในระดับสากล
4. บทบาทของประเทศไทยในสื่อบันเทิง
ภาพยนตร์และซีรีส์ไทยหลายเรื่อง เป็นที่นิยมไปทั่วโลก และช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
การที่ Squid Game 2 เลือกกล่าวถึงประเทศไทยในประเด็นความเท่าเทียม เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายในภูมิภาคเอเชีย เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกประกาศใช้อย่างสมบูรณ์ ประเทศไทยจะยิ่งเป็นตัวอย่างสำคัญของการสร้างสังคมที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน
สำหรับ Squid Game 2 ภายใต้เกมใหม่ กติกาใหม่ ผู้เล่นใหม่ วันนี้ (27 ธันวาคม) ขึ้นอันดับ 1 ผู้ชมสูงสุดในไทยเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งซีซันนี้เป็นเรื่องราวต่อจากซีซันแรก ซอง กีฮุน ผู้เล่นหมายเลข 456 ที่ยอมทิ้งความตั้งใจที่จะได้พบกับลูกสาว ขอกลับมาเพื่อล้างแค้นเกมนรกแทน หลังจากที่เขาเคยเข้าร่วมเล่นเกมในสนามโหดนี้มาแล้วในซีซันแรก กับผู้เล่นคนอื่นๆ รวมทั้งหมด 456 คน และเป็นผู้รอดชีวิตออกมา
ครั้งนี้เขาต้องกลับเข้าเกมอีกครั้ง และจะต้องแข่งขันกับผู้เล่นหน้าใหม่ที่มารวมตัวกัน เพื่อหวังเงินรางวัล 45,600 ล้านวอน ความพิเศษของซีซันล่าสุดนี้ เราจะได้เห็นตัวละครใหม่ๆ คาดเดากันไม่ได้ว่าคนนี้มีตัวตนอะไรซ่อนอยู่ระหว่างที่เกมดำเนินไปหรือไม่ อีกทั้งยังมีกฎ กติกาใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ พาให้คนดูได้ลุ้นระทึก เอาใจช่วยไปตามๆ กัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : sentangsedtee – khaosod