**บทความเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์**
มีภาพยนตร์บางเรื่องที่องค์ประกอบอันดีงามของมัน ฉุดดึงให้เราตกหลุมรักตั้งแต่เปิดซีนแรก (ภาพที่ 3 คนนั่งคุยกันในบาร์ หนุ่มเกาหลี สาวเกาหลี และหนุ่มอเมริกัน) และ Past Lives ในชื่อภาษาไทยว่า “ครั้งหนึ่ง ซึ่งคิดถึงตลอดไป” ก็น่าจะเป็น อีกเรื่องหนึ่งซึ่งอยู่ในข่ายนั้น
ถ้า 9 ตอนของซีรีส์สัญชาติญี่ปุ่น First Love คือภาพฝันอันงดงามของ “รักแรก” ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนห้วงเวลาหรือพลิกมัลติเวิร์สอย่างไร พรหมลิขิตก็ชักพาให้คน 2 คนโคจรกลับมาพบกันได้อีกครั้ง จะโดยโชคชะตาหรือคนลิขิตก็แล้วแต่ (อาจต้องนับรวมเอา ‘เถียน มี มี่ 3650 วันรักเธอคนเดียว’ Comrades, Almost a Love Story เข้าไปด้วย)
Past Lives ภาพยนตร์ที่กำกับการแสดงและ เขียนบท โดย เซลีน ซง (Celine Song) ก็พาผู้ชมก้าวเดินเลาะเส้นแบ่งระหว่าง ภาพฝัน กับ ชีวิตจริง ได้อย่างแหลมคม เรียงลำดับเหตุการณ์ 20 กว่าปีในช่วงชีวิตของหญิงสาวคนหนึ่ง แล้วเลือกมุมที่จะเล่าได้อย่างออกรสชาติเสียเหลือเกิน
Past Lives เป็นภาพยนตร์ที่มีผู้แสดงหลักอยู่แค่ 3 คนใช้ฉากหลังของมหานครนิวยอร์กเป็นหลัก และเส้นเรื่องว่ากันจริงๆ แล้ว ก็คือ เด็กหญิง “นายอง” -เด็กชาย “แฮซอง” ชาวเกาหลีมีรักแรกเพราะใกล้ชิดผูกพันกันในโรงเรียน ฉับพลันครอบครัวเด็กหญิงอพยพไปแคนาดา (ต่อมาเธอก็ย้ายไปนิวยอร์กเพื่อเดินตามฝัน) เด็กชายแฮซองเติบโต ร่ำเรียนทำงาน ต่างฝ่ายต่างหายไปจากชีวิตและความคิดของกันและกัน
ช่วงวัยหนึ่งทั้งคู่กลับมาติดต่อพูดคุยผ่านระบบสื่อสารสมัยใหม่ด้วยความพยายามตามหาของ แฮซอง (รับบทโดย โอ แทยู) จนเหมือนจะกลับมา “จุดติด” แต่จะเป็นเพราะรักแท้แพ้ระยะทาง หรือด้วยเหตุผล 108 หนุ่มเกาหลีในกรุงโซล กับ สาวนิวยอร์กเกอร์ ก็เลือกเส้นทางของตัวเอง “นายอง” ที่เปลี่ยนชื่อเป็น นอร์รา (รับบทโดย เกรตา ลี) ได้เป็นนักเขียนบทละคร แต่งงานใช้ชีวิตกับ อาเธอร์ (รับบทโดย จอห์น มากาโร) นักเขียนชาวอเมริกัน
เส้นเรื่องที่แสนปกติธรรมดาดังที่กล่าวมานั้น ถูกขมวดตึงชวนให้ผู้ชมแอบลุ้นตามไปด้วย ต่อเมื่อ แฮซอง ตัดสินใจบินมานิวยอร์ก เพื่อที่จะได้พบกับ นายอง-นอร์รา ตัวเป็นๆ สักครั้งหนึ่ง
เมื่อชายหนุ่มเชื้อชาติเดียวกันผู้เป็น “รักแรก” ของนอร์รา มายืนปรากฎตัวอยู่ตรงหน้า เขาและเธอคิดอะไร เกิดความรู้สึกแบบไหน … แล้ว อาเธอร์ ล่ะ??
ผู้เขียนรู้สึกสนุกไปกับความสัมพันธ์ 3 เส้านี้มากเสียกว่ามุมคิดในเรื่อง รักแรก,พรหมลิขิต ซึ่งในเรื่องอ้างถึงคำว่า “อินยอน” อันมีความหมายคล้ายบ่วงกรรมหรือลิขิตจากอดีตชาติว่าด้วยความสัมพันธ์ข้ามช่วงเวลาเสียอีก
Past Lives ชวนเรามองอยู่ห่างๆ ขณะเดียวกันก็สำรวจตรวจสอบความคิด จิตใจ อารมณ์ ของคน 3คน แฮซอง นักแสวงหา ผู้บินไกลมาสำรวจใจตัวเองให้หายคาใจว่าที่สุดแล้ว อินยอน มีจริงหรือไม่… เชื่อว่าก่อนหน้าที่จะบินมา เขาคงคิดวนเวียนกับการเลือกตัดสินใจ ว่า ถ้า…ในวัยหนุ่มเขากล้าทิ้งอะไรบางอย่างแล้วบินข้ามโลกมาเลย มันจะเป็นยังไง การกลับมาในคราวนี้ เขาจะได้เคลียร์ปมหรือขมวดมันให้ยุ่งเหยิงยิ่งกว่าเดิมแล้วอีก 8,000 ภพชาติ เขาจะหลุดพ้นวงจรเจ็บปวดแบบนี้ได้จริงหรือ
อาเธอร์ ชีวิตธรรมดาที่ลงตัว ไร้สีสัน แต่จริง ก็น่าจะแอบหวั่นไหวไปกับ “อินยอน” ที่นอร์ราเล่าให้ฟังแบบขำๆ ในช่วงแรกว่าเป็นแค่มุกที่คนเกาหลีใช้สำหรับจีบกัน เมื่ออยู่ดีๆ เขาก็มีตัวเปรียบเทียบ ซึ่งดูจะมีสีสัน มีเรื่องราวเชื่อมโยงอดีตจากวัยเด็ก รวมถึงมี “ความเกาหลี” ที่น่าจะเคมีเข้ากันได้ดีกว่าเสียด้วยซ้ำ ขณะที่ตัวเขาเองอาจแค่บังเอิญหมุนมาเจอกับนอร์ราในจังหวะที่คลิกพอดี
ผู้เขียนชอบซีนบาดใจที่ 3 คนนั่งในบาร์ จังหวะที่ นอร์ราคุยกันอย่างถูกคอเป็นภาษาเกาหลี แว่บนั้น อาเธอร์ กลับกลายเป็นเหมือน “คนนอก” ที่อยู่ผิดที่ผิดทางไปเสียอย่างนั้น (ใครเคยร่วมโต๊ะกับคนต่างภาษาที่เขาคุยกันแล้วเราฟังไม่รู้เรื่องจะเข้าใจอารมณ์อึดอัดแบบนี้เลย) ปมนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงจุดที่เขาเล่าว่าเวลาละเมอ นอร์รา ก็ยังละเมอเป็นภาษาเกาหลี นี่เป็นอีกแผลลึกๆ ที่อาเธอร์ก็ตระหนักว่า มีโลกบางส่วนของนอร์รา ที่จะอย่างไรเสียเขาก็เข้าไม่ถึง
สุดท้าย “นายอง” ผู้กลับกลายมาเป็น “นอร์รา” กลายเป็นแกนกลางของความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยคำถามและความสับสนในใจ ในอีกทิศทางหนึ่งซึ่งในบางแว่บความคิดเธออาจจะมีคำถามมากมาย …
ถ้าตอนนั้น ครอบครัวไม่อพยพมาอเมริกา… ถ้าในช่วงวัยของชีวิตที่มีโอกาสได้สานต่อความสัมพันธ์กับแฮซองไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ… ถ้าจังหวะหนึ่งของชีวิตเธอไม่เลือกที่จะเดินตามความมุ่งมั่นหรือความฝัน ฯลฯ
คำถามเหล่านั้นมีคำตอบในตัวของมันเองเสมอ บนข้อเท็จจริงที่ว่า เรากลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้หรอก…
แว่บหนึ่งนอร์รามั่นคงกับเส้นทางที่เธอเลือกและก้าวออกจาก “เกาหลี” ที่เล็กเกินไป แต่ในบางจังหวะก็อดหวั่นไหว เสียดาย โมเมนต์ ความรู้สึกดีๆ (ที่อาจเป็นพรมลิขิตจากอดีตชาติ) โดยเฉพาะเมื่อได้รู้ว่ามีใครคนหนึ่ง ตามหา เฝ้ารอเธอมาตลอด 20 กว่าปี ทั้งที่เธอก็ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงลงตัวแล้ว
ยังมีความดีงามอีกมากมายในรายละเอียดที่ต้องชื่นชมผู้กำกับหน้าใหม่อย่าง เซลีน ซง (Celine Song) ที่ปั้นเรื่องเล่าของเธอออกมางดงามได้ดังใจ ไม่ว่าจะเป็นซาวด์, เพลงประกอบ, (โดยเฉพาะการเลือกใช้ช่วงเงียบงัน) มุมภาพ, การลำดับภาพ, จังหวะตัด/รับ ในแต่ละภาพแต่ละเฟรม , มูทแอนด์โทน ที่คุมได้อย่างอยู่มือ งานกำกับศิลป์ที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป
มีฉากที่มืด ทิ้งไว้แต่เสียงสนทนา, มีฉากตัดสลับใบหน้าที่ลงตัวเป๊ะๆ แน่นอนว่า 2-3 นาทีแห่งความเงียบอันน่าอึดอัด ในตอนท้ายเรื่อง คือความเก่งในการเลือกวิธีเล่าอย่างแท้จริง
ในพาร์ทของนักแสดงนั้น เกรตา ลี คือคนที่อาจจะเป็นทั้งตัวแทนของนอร์ราและตัวจริงของ เซลีน ซง ที่มีรูปลักษณ์ดึงดูด ถ่ายทอดความเป็น เกาหลีกึ่งอเมริกัน ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ชวนให้ผู้ชมเชื่อว่าเธอนั้น เก่งฉลาด เด็ดขาด ทว่าก็มีจุดเปราะบางซ่อนอยู่
โอ แทยู ถ่ายทอดความเป็นหนุ่มเกาหลีที่แสนจะ เกาหลี ภาษากายและสายตาที่ประหม่าเขินอาย ไม่ค่อยมั่นใจนั้นทำได้เป็นธรรมชาติมาก พอๆ กับการส่งความรู้สึกภายในที่ตื่นเต้นและเจ็บปวดมาถึงผู้ชมได้ครบทุกจังหวะ
และจอห์น มากาโร คนที่มีบทน้อยแต่ผมกลับประทับใจกับการใส่ความรู้สึกของเขาในทุกๆ ช่วงที่ปรากฎตัว เป็นการแสดงที่น้อยแต่ได้ผลลัพธ์ที่เหลือเชื่อ ชวนให้สัมผัสได้ถึงความหวั่นไหว สายตามองต่ำคล้ายๆ จะน้อยใจ (แต่ยังไม่ถึงกับอิจฉา) ในสิ่งที่เขาไม่มี จนเขากลายเป็นตัวเชื่อมที่ทำให้เรื่องราวสมบูรณ์ ลงตัวอย่างแท้จริง
นี่น่าจะเป็นอีก 1 ที่สุดของบทอวยแห่งปีสำหรับภาพยนตร์ที่ทำให้เราตกหลุมรักมันไปเสียทุกสิ่งอย่าง และไม่อยากให้พลาด โดยเฉพาะผู้ชมที่ อยู่ในช่วงวัยเกิน 45 ไปแล้วน่าจะยิ่งดูได้อย่างรื่นรมย์และขมปร่าไปพร้อมกัน
PAST LIVES ได้คะแนนจากเว็บไซต์ถึง 98% ได้รับเสียงชื่นชมสูงตั้งแต่ฉายครั้งแรกที่เทศกาล Sundance Film Festival, ได้เข้าชิงบนเวที Berlin International Film Festival สาขา Golden Bear , คว้า 3 รางวัลจากทั้งหมด 7 รางวัลที่มีชื่อเข้าชิงบนเวที Hollywood Critics Association Midseason Film Awards
PAST LIVES ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ Out of the Box by GDH เปิดตัวในฐานะเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ต่างประเทศอย่างเป็นทางการด้วยการเลือกเรื่องนี้มาฉายเป็นเรื่องแรก