นอกจากธุรกิจชุดเจ้าสาวที่ทำเป็นงานประจำ งานเสริมอย่างการดีไซน์และตัดเย็บ “ชุดราตรีเพื่อนางงาม” ก็ไปได้สวยและประสบความสำเร็จมากอีกทาง สำหรับ “โอ๊ต กานต์ กาฬภักดี” เจ้าของแบรนด์ “OAT COUTURE” ผู้รังสรรค์ชุดราตรีให้เหล่านางงามหลายๆ เวที และมีหลายชุดที่สาวงามสวมใส่พร้อมคว้ามงกุฎได้สำเร็จอีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งรางวัลความสำเร็จที่เจ้าตัวได้รับกลับมา
FEED มีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับโอ๊ต เจ้าของแบรนด์ OAT COUTURE ถึงชุดราตรีเพื่อนางงามที่เจ้าตัวทำอยู่ และทำมาแล้วหลายเวทีประกวดนางงาม พร้อมเผยมุมมองชุดราตรีแต่ละชุดก็มีบริบทที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละเวที รวมถึงมุมมองธุรกิจชุดราตรีกับเวทีนางงาม จะไปได้ไกลแค่ไหนในอนาคต โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีเวทีประกวดนางงามเกิดขึ้นมามากมายหลายเวที
สวัสดีครับ โอ๊ตนะครับ โอ๊ตชื่อจริงชื่อกานต์ กาฬภักดี นะครับ ตอนนี้ก็เป็นไดเรคเตอร์ของห้องเสื้อ OAT COUTURE ครับ
ก่อนหน้านี้เราเป็นสไตลิสต์ในวงการบันเทิง ทำเกี่ยวกับโฆษณา ถ่ายแบบ เราก็จะมีคอนเน็คชั่นกับพวกสไตลิสต์ในวงการต่างๆ แล้วพี่เต๋า ทีวีพูล ได้มาปรึกษาว่าจะส่งนางงามท่านหนึ่ง คือน้องปลา ปรภัสสร ลงมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2014 คราวนี้เราได้โจทย์มาว่าต้องทำนางงามเวทีมิสแกรนด์ซึ่งเป็นเวทีที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ตัวนางงามก็จะมีศักยภาพ เราก็จะใช้วิธีคิดค่อนข้างเยอะนิดนึงกับนางงาม เพราะจะมีความแตกต่างกันกับชุดแต่งงาน
เริ่มแรกเราจะดูก่อนว่าเราจะทำชุดให้ใคร แล้วพอเราทำชุดให้คนไหนเสร็จปุ๊บ เราจะต้องพูดคุยกับเขา การทำชุดราตรีเพื่อประกวดนางงาม ไม่เหมือนกับการทำชุดราตรีเพื่อไปร่วมงานหรือทำเพื่อสวมใส่ในโอกาสพิเศษ มันจะค่อนข้างต่าง เพราะการประกวดส่วนใหญ่จะเป็นเวทีระดับแบบนานาชาติหรือระดับประเทศ มันก็จะมีความคาดหวังว่าชุดราตรีชุดนี้ จะไปส่งเสริมอะไรในตัวของผู้เข้าประกวด ตัวโอ๊ตเองได้แรงบันดาลใจจะมาจากการพูดคุยมากกว่า ว่าเขาอยากได้อะไร อยากวางคาแรคเตอร์แบบไหน แล้วเราก็เอาการที่เคยเป็นสไตลิสต์มาก่อนมาหาสไตล์ต่อว่ามันจะต้องไปในทิศทางไหน จะไปเสริมหรือไปอำพรางจุดที่ควรจะต้องอำพรางตรงไหน ประมาณนั้นครับ
ผลงานชุดราตรีนางงาม ของ “OAT COUTURE”
โอ๊ต : แรกเริ่มเดิมทีพี่เต๋าทีวีพลู แนะนำมาให้ “ปลา ปรภัสสร วรสิรินดา” มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2014 ต่อมา “วีณา ปวีณา ซิงค์” ตอนชุดสีทอง มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2018, “อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม” มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2020 ชุดสีแดง แล้วก็ได้มีโอกาสไปทำชุดสีฟ้า ให้กับอแมนด้า บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2020, “เทเรน่า โบเทส” รองอันดับ 1 มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2021 แล้วกลับมาทำให้ “ไฮดี้ อมันดา อแมนด้า เจนเซ่น” รองอันดับ 1 มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022, “อิงฟ้า วราหะ” ตอนประกวดมิสแกรนด์กรุงเทพ 2022, “มานิต้า ดวงคำ ฟาร์เมอร์” มงใหญ่นางสาวไทย 2022, “เรเน่ เวโรนิก้า ปากาโน่” รองอันดับ 3 มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2022, “กานต์ ชนนิกานต์ สุพิทยาพร” นางสาวไทย ปี 2023, “ป๊อปปี้ บุญยิสา จันทราราชัย” รองอันดับ 1 มิสซูปราเนชันแนลไทยแลนด์ 2023, “เอลซ่า กชกร กอนตระกูล” รองอันดับ 5 มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2023 และ “ออยล์ จุฑามาศ เมฆเสรี” ผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2023
บริบทของชุดราตรีนางงามแต่ละเวที
โอ๊ต : เวลาเราทำงานเราต้องดูบริบทของนางงามแล้วก็ของเวทีเป็นหลัก อย่างเช่นไปมิสแกรนด์เราก็ต้องใช้วิธีนี้ ไปมิสยูนิเวิร์สต้องใช้วิธีนี้ ไปซูปราต้องใช้วิธีนี้ หรือจะมานางสาวไทยก็ต้องเป็นอย่างนี้ อันนี้พี่คิดเอาเองนะ เจ้าของเวทีอาจจะไม่ได้คิดแบบพี่เลย พี่ตีโจทย์เอาเองจากตอน “มิสแกรนด์ไทยแลนด์” ที่พี่ได้ Best Designer มา เป็นเวทีแรกที่เปิดตัวให้พี่ได้มีชื่อเสียง พี่จับจุดได้อีกอย่างหนึ่งว่า เวทีมิสแกรนด์ชอบงานละเอียด และก็ชอบชุดส่งคน ชุดกับคนใส่ไปในทางเดียวกัน มันอาจจะไม่ใช่ชุดที่สวยที่สุดบนเวที หรือไม่ใช่ชุดที่โอ้โหก้าวล้ำแฟชั่นมาเลย แต่มันเป็นชุดที่ส่งนางงาม คือมันลึกมากนะ เจ้าของเวทีอ่ะลึก มองลึก มองแบบชุดนี้ส่งเสริมอะไร ชุดนี้ใส่มาแล้วคนออกมาแล้วมันจะช่วยอะไร แล้วก็บวกไปกับว่ามันมีแฟชั่นอะไรที่จะไปต่อยอดให้กับดีไซเนอร์รุ่นอื่นๆ มีความยากในเรื่องของไม่ใช่ว่าจะเอาแฟชั่นไปใส่ได้อย่างเดียวแต่ต้องเป็นฟีลลิ่งที่มันเชื่อมต่อกัน ถ้าสังเกตดีๆ คนที่ได้ Best Designer ของมิสแกรนด์ไทยแลนด์จะมีอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่ชุดที่หวือหวาที่สุดในเวที แต่จะมีอะไรบางอย่างที่มองแล้ว เออใช่ ตอนพี่ได้ พี่ก็ไม่ใช่ชุดที่สวยที่สุด ไม่ใช่ชุดที่ว้าวที่สุด แต่พอใส่มาแล้วมันส่งเขา
อีกฟากหนึ่ง “มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์” มองหาชุดที่แปลกใหม่ มองหาชุดที่เป็นอะไรได้บ้างที่เป็นที่พูดถึง ดีไซเนอร์ต้องเก่ง ต้องคิดไปเลยว่าจะเอาวัตถุดิบอะไรมาทำ จะเอา silhouette ไหนมาทำที่ไม่เคยเห็นและไม่ก็อปปี้ สำคัญสุดต้องไม่ก็อปปี้ แล้วก็ต้องแปลกใหม่ เหมือนตอนชุดเรเน่ ล่าสุดที่พี่โอ๊ตทำ ชุดเรเน่เป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์มาก เพราะว่าโอ้โหมีหลายๆ อย่าง ฉากคือต้องยกความดีความชอบให้อาร์ตไดเรกเตอร์หรือว่าโครโรกราฟ ที่สื่อออกมาให้ชุดพี่โอ๊ตเด่นมาก แล้วชุดพี่โอ๊ตก็ถูกพูดถึงเป็นไวรัล น้องได้ที่ 5 ไม่ได้มงแต่คนพูดถึงชุดเยอะมาก อันนี้ต้องขอบคุณเรเน่และทีมภูเก็ตด้วย ที่ให้โอกาสอันนี้มา ก็เลยจับจุดได้ว่าถ้าจะทำชุดให้มิสยูนิเวิร์ส จะไปทำแบบไม่มีอะไรแปลกใหม่ ไม่ให้เขาว้าวไม่ได้
มาที่ “นางสาวไทย” มองดูปุ๊ปต้องรู้ว่าเป็นนางสาวไทย แต่ไม่ได้เชย ต้องดูแล้วรู้สึกยิ้มตาม รู้สึกว่าเออ นางสาวไทยเปลี่ยนไปนะ เปลี่ยนไปในทางที่ดี ตามยุคตามสมัยอย่างนั้นครับ เพราะว่าถ้าเกิดเราไปทำเหมือนเดิมๆ ที่เขาทำไว้ดีอยู่แล้ว เขาสวยในยุคของเขา เราจะไปใส่ในยุคเขาก็ไม่ได้ เขาจะมาใส่ในยุคเราก็ไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีที่มาที่ไปครับ
สังเกตนางสาวไทยที่พี่โอ๊ตทำมาตั้งแต่ปีมานิต้าที่ชุดสีเขียว บวกกับปีนี้ด้วย มันจะมีความเซ็กซี่ แต่ไม่โป๊ จะต้องมีความราชนิกูลนิดๆ มีความลูกคุณนิดนึง พวกนี้มันเป็นเมสเซจที่สื่อออกมาว่า พอใส่ชุดมาปุ๊บแล้วรู้เลยว่า อ่อผู้หญิงคนนี้กำลังประกวดเวทีไหนอยู่ อันนี้พี่โอ๊ตคิดอย่างนี้นะ เราอยากให้คนมองเข้ามาปุ๊บเห็นผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่บนเวที ไม่ต้องเห็นโลโก้เวทีเลย ก็รู้เลยว่าอันนี้กำลังประกวดนางสาวไทยอยู่นะ ประมาณนี้ครับ
ความยืนยาวและการแข่งขันของธุรกิจชุดราตรีกับเวทีนางงาม
โอ๊ต : จากมุมมองของพี่โอ๊ตนะครับ ด้วยความที่เราทำชุดแต่งงานเป็นอาชีพหลัก แต่ว่าชุดนางงามเราจะบอกอยู่เสมอว่าเราไม่ได้รับตัดทุกคน ขณะที่เราบอกว่าเราไม่ได้รับ ก็จะมีคนมาให้เราทำแบบยินดีจะจ่ายเงินเยอะมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเกือบๆ 50% เลยนะ ไทย 50 ต่างประเทศ 50 เพราะว่าเขาอาจจะเชื่อในคนไทย ในงานฝีมือคนไทยด้วย ถ้าถามพี่โอ๊ตว่ามองว่าธุรกิจนี้จะไปได้ไกลไหม ส่วนตัวคิดว่าน่าจะไปได้ดีมาก เพราะว่าอย่างเช่นห้องเสื้อที่รู้จักกันที่ทำเป็นแบบชุดราตรีอย่างเดียว เขาก็มีลูกค้าเยอะมากทั้งในประเทศและต่างประเทศครับ คือคนไทยเก่งมากในเรื่องงานฝีมือ
ส่วนการแข่งขันในมุมมองของโอ๊ต มันน่าจะเป็นเกี่ยวกับเรื่อง การหาคาแรคเตอร์ การหาสไตล์ยังไงให้มันตอบโจทย์ของเจ้าของเวทีนั้นๆ ถ้าใครหาได้เร็วแล้วก็ปรับปรุงตัวเองให้เร็ว ให้เข้ากับบริบทของเวทีนั้นๆ ก็จะเขาเรียกว่าไรอ่ะ ก็จะถึงเส้นชัยก่อนครับ (ยิ้ม)